แนวคิดความยั่งยืนที่ซ่อนอยู่ ใน Gardens by the Bay สิงคโปร์
มากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวและแลนด์มากแห่งชาติของประเทศสิงคโปร์
Gardens by the Bay คือแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ พืชพันธุ์ และความหลากหลายทางชีวภาพที่ต้องไปเยือนในภูมิภาคนี้
ทั้งยังเป็นชั้นเรียนด้านความยั่งยืน หรือ sustainability ที่ช่วยสร้างความตระหนักด้านปัญหาอุณหภูมิโลกสูงที่ขึ้น
ผ่านแนวทางบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ภายใต้การดูแลของ
National Parks Board (NParks) คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ
สังกัดกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
ที่มีหน้าที่ดูแลอุทยานแห่งชาติและพื้นที่สีเขียวหลากหลายในสิงคโปร์
เช็กอิน 6 จุดท่องเที่ยวแนวคิดสีเขียวภายในสวน
อยากรู้ว่าแนวคิดสีเขียวหรือแนวคิดความยั่งยืนของ
Gardens by the Bay ซ่อนอยู่ที่ไหน อาจเริ่มจาก 6 จุดท่องเที่ยวหลัก และจุดแวะพักชวนหย่อนใจภายในสวน ที่เป็นตัวอย่างของความพยายามอย่างมากในการวางแผนและออกแบบอย่างวงจร
ในการใช้พลังงานและน้ำอย่างยั่งยืน
1-2 เรือนกระจก Flower Dome และ Cloud Forest
Gardens by the Bay ประกอบด้วยเรือนกระจก
2 แห่ง ได้แก่ Flower Dome จําลองสภาพอากาศที่เย็นและแห้งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
รวมทั้งเขตกึ่งร้อนกึ่งแห้งแล้ง และ Cloud Forest จําลองภูมิอากาศที่เย็นและชื้นของเขตภูเขาเขตร้อนเป็นที่ตั้งของพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด
ที่ไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปโซนนี้ในโลก
เรือนกระจกทั้ง 2 แห่งใช้เทคโนโลยีทันสมัย ช่วยประหยัดพลังงานในการทำให้อุณหภูมิเย็นลง
ช่วยลดการใช้พลังงานในสวนลงได้ประมาณ 30 % โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอาคารที่ใช้เทคโนโลยีทำความเย็นทั่วไป
โดยมีรายละเอียด เช่น
• ลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ให้เหลือน้อยที่สุด
ติดตั้งกระจกที่มีการเคลือบพิเศษ
ช่วยให้แสงส่องเข้ามาเหมาะสมสำหรับพืช แต่ช่วยลดความร้อนภายในได้ดี
หลังคาติดตั้งใบเรือแบบยืดหดได้
ทำงานด้วยระบบเซ็นเซอร์เพื่อให้ร่มเงาแก่ต้นไม้เมื่ออากาศร้อนเกินพอดี
• ระบายความร้อนจากพื้นด้วยท่อน้ำเย็นด้านล่าง
เรือนกระจกใช้การทำความเย็นเฉพาะระดับล่าง ซึ่งจะเป็นการลดปริมาณอากาศที่จะระบายความร้อนแบบแทนที่ (displacement cooling) เป็นการระบาย ความร้อนจากพื้นดินโดยเดินท่อน้ำเย็นด้านล่างพื้น ทำให้อากาศเย็นไหลลงสู่พื้นที่ด้านล่าง ในขณะที่อากาศอุ่นลอยขึ้น และระบายออกในระดับสูง
• ลดความชื้นในอากาศก่อนทําความเย็น
เพื่อลดปริมาณพลังงานที่ใช้ในการทำความเย็น ก่อนถูกทำให้เย็นลง อากาศใน Flower Dome จะถูกลดความชื้นด้วยสารดูดความชื้นชนิดของเหลว สารดูดความชื้นนี้ ยังเป็นสารที่ผ่านการรีไซเคิลด้วยความร้อนเหลือทิ้ง จากการเผาไหม้ชีวมวล
• สร้างพลังงานและควบคุมความร้อนเหลือทิ้ง
มีการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นกลางทางคาร์บอน ขณะเดียวกันความร้อนเหลือทิ้ง จะถูกดักจับเพื่อสร้างสารดูดความชื้นที่เป็นของเหลวขึ้นใหม่
การสร้างพลังงานร่วมนี้เกิดขึ้นจาก Combined Heat Power (CHP) steam turbine
หรือการใช้เชื้อเพลิงจากไม้ และเศษพืชสวนจากทั่วประเทศสิงคโปร์ เพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากกริดที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
3-4 ทะเลสาบ Dragonfly Lake และ Kingfisher Lake
ออกแบบให้เป็นส่วนขยายของอ่างเก็บน้ำ
Marina ซึ่งน้ำที่ไหลออกจากสวนจะถูกกักไว้โดยระบบทะเลสาบและชำระล้างโดยพืชน้ำ
ก่อนที่จะปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำของสวน น้ำที่ผ่านการบำบัดตามธรรมชาตินี้ยังใช้ในระบบชลประทานสำหรับสวน
และเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ และสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย
เช่น ปลาในแหล่งน้ำ แมลงปอบริเวณแหล่งน้ำ เป็นต้น โดยระบบได้ผ่านออกแบบให้มีหน้าที่ดังนี้
• มีระบบกรองน้ำทิ้ง ระบบกรองน้ำของสวนเกิดขึ้นเป็นลำดับชั้นโดยธรรมชาติ
(filter bed) ประกอบด้วยต้นอ้อและพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นจุดที่ไหลเข้าและออกของน้ำจากระบบทะเลสาบ
ที่เมื่อน้ำไหลช้าลง ตะกอนก็จะถูกกรอง
• ลดปริมาณสารอาหารพืชนำ้ เกาะของพืชน้ำและต้นกก ช่วยดูดซับสารอาหารในน้ำ
เช่น ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ซึ่งการลดระดับไนโตรเจนเป็นสิ่งสำคัญในการลดการเจริญเติบโตของสาหร่าย
ทำให้น้ำคุณภาพดีขึ้น
• รักษาระบบนิเวศทางน้ำ ที่อยู่อาศัยของปลาและแมลงปอถูกสร้างขึ้นภายในระบบทะเลสาบ จากการรักษาความหลากหลายของพืชน้ำ การไหลเวียนของน้ำที่ดี และการเติมอากาศ
5 พื้นที่ชุ่มน้ำ Kingfisher Wetlands
ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้เขียวขจีและแหล่งน้ำ
2 แห่งภายใน Gardens by the Bay พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ได้รับการออกแบบเพื่อเพิ่มส่วนเชื่อมต่อระหว่างสระบัวและทะเลสาบคิงฟิชเชอร์
มาจากชื่อนกคิงฟิชเชอร์ (Kingfisher birds)วงศ์นกกระเต็นน้อยที่กินปลาเป็นอาหาร
จับปลาโดยการพุ่งตัวโฉบลงบินผิวน้ำ บอกถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลายทางชีวภาพของพื้นที่
• เป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นเมือง ปลูกต้นโกงกาง และพืชเกี่ยวข้องที่สามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่กว่า
200 ต้น รวมถึงพันธุ์ไม้ป่าชายเลนพื้นเมืองที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
เช่น ต้นลำพูและต้นลังกา
• เป็นพื้นที่ปลูกอ่างคาร์บอน การปลูกป่าชายเลนเป็นการสร้างระบบนิเวศบลูคาร์บอน (Blue Carbon
Ecosystem) สามารถช่วยกำจัดก๊าซเรือนกระจกจากสิ่งแวดล้อมได้
• เป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ ต้นไม้โกงกางที่จมอยู่ในน้ำยังเป็นที่อนุบาลและที่พักอาศัยที่สำคัญต่อการอยู่รอดของพันธุ์ปลาและสัตว์ต่างๆ คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่
6 ต้นไม้ยักษ์ Supertrees
นอกจากเป็นจุดชมวิว และสร้างความสวยงามที่แตกต่างกันทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืนแล้ว
Supertrees 11 ต้น ยังมีบทบาทความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การติดตั้งเซลส์แสงอาทิตย์
(solar cell) บนยอดเพื่อเก็บเกี่ยวและแปลงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ให้แสงสว่างและใช้ในพื้นที่
นอกจากนี้ยามค่ำคืนยังมีการปิดไฟประดับ ไฟที่ไม่จำเป็น รวมถึงแสงสว่างที่ทางเดินและที่จอดรถในช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวน้อย
ทั้งยังช่วยระบายอากาศร้อนชื้นตกค้างจะระบบใต้ดิน
Gardens by the Bay กับความพยายามปลูกฝังแนวคิด
ความยั่งยืนในชาติ
นอกจากเดินเที่ยวชมด้วยตัวเองแล้ว
สำหรับนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์และผู้ที่พำนักในประเทศ ยังมีบริการนำท่องเที่ยวโดยผู้มีความชำนาญเฉพาะด้านภายใต้แนวคิดความยั่งยืนฟรี
ไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2566 ไปจนถึง พ.ศ. 2568 ทุกวันเสาร์และอาทิตย์
ในธีมต่างๆ เช่น ทัวร์ Carbon and Climate ทัวร์
Urban Wetlands ทัวร์ Seeds and Senses (Smell) และทัวร์พลังงานและน้ำ เพื่อสร้างความตระหนัก พร้อมชี้แนะแนวทางจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานเพื่อความยั่งยืน
การสร้างความตระหนักนี้ยังเกิดขึ้นเช่นเดียวกันและยิ่งเข้มข้นขึ้นภายในหน่วยงาน
Gardens by the Bay ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ภายใต้หน่วยงาน National
Parks Board ที่ไม่หยุดให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงดีเอ็นเอด้านความยั่งยืนให้กับบุคลากรภายในทั้งบุคลากรเดิมและบุคลากรใหม่
ที่นับเป็นความท้าทายในการสนับสนุนพันธกิจและวิสัยทัศน์เดียวกัน
• Gardens by the Bay เป็นส่วนหนึ่งของแผนในการ เปลี่ยน "Garden City" ให้เป็น "City in a Garden" มีจุดประสงค์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการเพิ่มความเขียวขจีและพืชพันธุ์ในเมืองประกาศครั้งแรกโดยนายกรัฐมนตรี
ลี เซียนลุง ที่งานชุมนุมวันชาติของสิงคโปร์ใน พ.ศ.
2548
ที่มา: gardensbythebay.com.sg, sdgmove.com, channelnewsasia.com, baanlaesuan.com และ hbsp.harvard.edu
ภาพ: freepik.com
และ gardensbythebay.com.sg

