อนาคตเพศทางเลือกในโลกกีฬา
ปัจจุบันความเคลื่อนไหวในเรื่องเพศทางเลือกมีมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตเชื่อเหลือเกินว่าประชากรกลุ่มนี้จะเข้ามามีบทบาทในหลากหลายสาขาวิชาอาชีพ หนึ่งในนั้นก็คืออาชีพนักกีฬา
การปรับเปลี่ยนรูปร่าง สภาพทางเพศของตัวเองรวมถึงการรับฮอร์โมนเพื่อปรับเปลี่ยนร่างกาย การทำศัลยกรรม อาจทำให้วงการกีฬาที่เคยแบ่งแยกการแข่งขันด้วยความเป็นชายหญิงนั้นพร่าเลือนไปทุกที ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจต้องคิดหนึ่งขึ้นว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด
ปัจจุบันบรรดาองค์กรกีฬาต่างๆ เริ่มพูดกันเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะองค์กรกีฬาระหว่างประเทศหลายหน่วยงานเริ่มกระบวนการ การพิจารณากฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการแข่งขันของนักกีฬาข้ามเพศ หน่วยงานที่อาจก้าวหน้ากว่าใครเพื่อนคือ สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ(FINA Fédération internationale de natation) ซึ่งประกาศนโยบายห้ามไม่ให้ผู้หญิงข้ามเพศ “ส่วนมาก” เข้าร่วมการแข่งขัน โดยอนุญาตเพียงแค่กลุ่มคนข้ามเพศที่เริ่มเข้ารับการรักษาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเพศก่อนอายุ 12 ปี ที่มีสิทธิในการแข่งขัน ส่วนคนข้ามเพศบางคนที่ใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมนเพศชายหรือเพศหญิงยังไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาร่างกายและอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพที่แตกต่างกันเมื่อวัดจากมาตรฐานความเป็นชายหรือหญิงโดยทั่วไป
หลังจากที่ FINA ประกาศการตัดสินใจองค์กรอื่นๆ เช่น องค์กรที่จัดการแข่งขันกีฬาฮอกกี้ รักบี้ ไตรกีฬา และปั่นจักรยาน ก็เริ่มพิจารณาตั้งกฎเกณฑ์ใหม่หรือดัดแปลงแก้แก้ไขกฎเช่นกัน สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA หรือ ก็กำลังเริ่มต้นในการกำหนดทิศทาง ทบทวนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเพศใหม่อีกครั้งด้วย รวมไปคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC ก็มีท่าทีเช่นกันว่าองค์กรยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ เพราะยังไม่เห็นหนทางที่จะใช้กฎเกณฑ์เดียวกันกับนักกีฬาทุกคนและทุกประเภทได้ และให้ความเห็นว่าการตัดสินใจเรื่องการกำหนดกฏเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับคนข้ามเพศของแต่ละองค์กรกีฬา ถือเป็นความรับผิดชอบของแต่ละองค์กรหรือสหพันธ์กีฬานั้นๆ โดยที่ผ่านมา นโยบายของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล มีการอนุญาตให้สตรีข้ามเพศที่ได้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน สามารถลงแข่งขันกับนักกีฬาหญิงได้ แต่ทุกวันนี้ ท่าทีของกฎเกณฑ์ดังกล่าวกำลังมีการพิจารณาว่าจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป และจะกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไร ไม่ให้นักกีฬารู้สึกว่า ตนเองถูกเลืกปฎิบัติ รวมถึงไม่เกิดความขัดแย้งกันทางความคิดของชาติสมาชิกซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีความแตกต่างกันทางความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ
ด้านผู้จัดการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่และลาน หรือ World Athletics ดำเนินการโดยอดีตนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกเซบาสเตียน โคว (Sebastian Coe) แห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า World Athletics จะตรวจสอบนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับนักกีฬาข้ามเพศภายในสิ้นปี 2022 นี้ซึ่งหาก World Athletics ทำตามนโยบายของ FINA ก็อาจทำให้นักวิ่งอย่าง แคสเตอร์ ซาเมนยา(Caster Semenya) จากแอฟริกาใต้และ คริสทีน เอ็มโบมา(Christine Mboma) จากนามิเบีย ไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ ทั้งสองเป็นนักวิ่งอันดับต้น ๆ ที่ลงแข่งขันกับผู้หญิง แต่มีความแตกต่างในเรื่องการพัฒนาทางเพศซึ่งส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงกว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ ซึ่งหากมีนักกีฬาคนไหนที่ผ่านเข้าสู่ช่วงที่ฮอร์โมนเพศชายเข้าสู่วัยหนุ่มและมีข้อได้เปรียบที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน พวกเขาจะไม่สามารถลงแข่งขันในกีฬาในนามเพศหญิงได้
หากดูจากสถานการณ์ คาดว่าในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ ทุกหมวดกีฬา มีแนวโน้มที่องค์กรการกีฬาทั้งหมดในโลกนี้อาจต้องเผชิญกับความท้าทายทางด้านกฎหมาย เรื่องนโยบายใหม่มาตรฐานทางสังคมใหม่ๆ อีกมากมาย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเป็นคดีความหรือการโต้เถียงกันในประเด็นนี้ อาจทำให้องค์กรกีฬาที่มีขนาดเล็กไม่สามารถกำหนดนโยบายใหม่เช่นเดียวกับองค์กรกีฬาใหญ่ๆ ได้ เพราะการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ นี้เอาจริงๆ ก็ไม่ง่ายเลย ยกตัวอย่างเช่น FINA นั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายทางกฎหมายในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเพศและนักกีฬาข้ามเพศนี้สูงถึง 1 ล้านดอลลาร์(ราว 34 ล้านบาท) เลยทีเดียว
แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงแต่ก็คุ้มที่จะทำ เรายังได้เห็นความพยามในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในหลายส่วน เช่นมีการจัดการประชุมหมู่ผู้นำกีฬาโอลิมปิกที่โคโลราโด เมื่อกลางปี 2022 ในช่วงเดียวกันกับวันครบรอบ 50 ปีของกฎหมาย Title IX ของสหรัฐฯ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศในโครงการการศึกษาหรือกิจกรรมใดๆ ที่ได้รับเงินของรัฐบาลกลาง โดยในการประชมครั้งนี้ ซูซาน ลายออนส์ (Susanne Lyons) หัวหน้าคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกของสหรัฐฯ หรือ USOPC แสดงความเห็นว่านี่อาจไม่ใช่หน้าที่ขององค์กร แต่ควรมีการนำเสนอ "มุมมอง" ที่ชัดเจนต่อคนข้ามเพศและเมื่อถึงจุดหนึ่ง โลกอาจต้องมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่จะรับหน้าที่ในการจัดการเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้กับองค์กรกีฬาระดับโลก ซึ่งปัจจุบันคาดการณ์กันว่าน่าจะมีมากกว่า 40 องค์กรที่จำเป็นต้องตั้งกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ และเมื่อไม่นานมานี้ ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เสนอนโยบายใหม่ที่จะปกป้องนักเรียนเลสเบี้ยน เกย์ คนข้ามเพศ และเพศทางเลือกจากการถูกเลือกปฏิบัติภายใต้กฎหมาย Title IX โดยมิเกล คาร์โดนา (Miguel Cardona) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน
แต่เรื่องทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ง่ายนัก เพราะในโลกของกีฬาบางประเภทนั้น การเปิดเผยตัวตนทางเพศนั้นเป็นเรื่องอ่อนไหว ทั้งยังมีการดูถูก หมิ่นประมาทผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวาง บางประเทศการเป็นบุคคลข้ามเพศนั้นมีความผิดตามกฎหมายและบางประเทศอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต
แต่เมื่อมองว่าการเป็นตัวของตัวเอง คืออิสรภาพขั้นพื้นฐานที่เราและนักกีฬาทุกคนพึงมี
สิ่งเหล่านี้ก็ควรได้รับการสนับสนุนุและเชิดชูเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนไปแปลง ไม่แน่ว่าในอนาคตการแบ่งด้วยเพศในประเภทกีฬาต่างๆ อาจกลายเป็นเรื่องเชยไปแล้วก็ได้
อ้างอิง
https://www.teamusa.org/About-the-USOPC/Leadership/Board-of-Directors/Susanne-Lyons
https://apnews.com/article/winter-olympics-sports-swimming-track-and-field-school-athletics-df846898c2bebf39d724ef303170c774
https://www.nytimes.com/2022/06/19/sports/fina-transgender-women-elite-swimming.html

