ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวนชี้ไรเดอร์ยังอยากอิสระ แต่ก็ต้องการสวัสดิการ-ความคุ้มครองทางสังคม

12 กันยายน 2023
|
2032 อ่านข่าวนี้
|
10


แม้ธุรกิจ 'บริการส่งอาหาร' ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่การมาถึงของ 'ธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหาร' ทำให้บริการส่งอาหารมีความสะดวกสบายมากขึ้น ผู้บริโภคสามารถสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันที่มีร้านขายอาหารทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่เป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคมากมาย ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับแรงงานในธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหาร หรือที่เรียกว่า ‘ไรเดอร์’ เป็นกลุ่มแรงงานที่เราเห็นชินตาบนท้องถนนในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่จากงานศึกษาวิจัยกลับพบว่า พวกเขาก็กำลังประสบกับปัญหาจากการทำงาน สวนทางกับความเฟื่องฟูของธุรกิจนี้

ในงานวิจัย 'ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19' โดย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สิงหาคม 2564) ที่ศึกษาไรเดอร์จำนวน 435 คน (ใน กทม. 320 คน และต่างจังหวัด 115 คน) ในช่วงปี 2564 พบข้อค้นพบที่น่าสนดังต่อไปนี้

โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เห็น 'โอกาสทางธุรกิจ’



การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เห็นโอกาสทางธุรกิจของแพลตฟอร์มส่งอาหาร เมื่อรัฐบาลมีมาตรการให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางกายภาพและประกาศห้ามรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร อนุญาตให้ซื้อกลับไปรับประทานที่ที่พักเท่านั้น สถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นโอกาสทองของธุรกิจ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารจะเติบโตสวนทางกับอุตสาหกรรมธุรกิจร้านอาหารด้วยปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์โควิด-19 และจากมาตรการของรัฐ โดยจะเติบโตในอัตรา 18.4-24.4 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าตลาด 5.31-5.58 หมื่นล้านบาท จำนวนการส่งอาหารจะมีไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง ซึ่งสูงเป็น 3 เท่าของสถานการณ์ปกติก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในปี 2562 มีจำนวนการสั่งซื้ออยู่ที่ 35-45 ล้านครั้งเท่านั้น

นอกจากผู้เล่นสำคัญในธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารอย่าง Foodpanda, GrabFood และ LINE MAN แล้ว ก็พบว่าทุนใหญ่จากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น รวมทั้งทุนจากต่างชาติก็ได้เริ่มเข้ามาสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารในไทยมากขึ้น เช่น แอปพลิเคชัน Robinhood ของธุรกิจในเครือธนาคารไทยพาณิชย์, Airasia Super App ของกลุ่มแอร์เอเชียที่ซื้อกิจการแพลตฟอร์ม Gojek ในประเทศไทย, กลุ่ม Sea จากประเทศสิงคโปร์ ที่มีธุรกิจหลักเป็นเจ้าตลาดแพลตฟอร์มอย่าง Shopee และแอปพลิเคชัน True Ryde ของกลุ่มทรู ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น


แต่ไรเดอร์กลับเผชิญปัญหาสารพัด

งานวิจัยชิ้นนี้พบปัญหาหลายอย่างระหว่างการทำงานของไรเดอร์ เช่น ปัญหาจากการทำงานของแอปพลิเคชัน พบว่าจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึง 51.1 เปอร์เซ็นต์ เคยพบปัญหาการทำงานที่ผิดพลาดของแอปพลิเคชัน เช่น ค้าง กระตุก ล่ม ทำให้ไม่สามารถทำงานต่อได้, ปัญหาที่พบรองลงมาได้แก่ แผนที่และระบบ GPS การปักหมุดสถานที่รับ-ส่ง ไม่ตรงจุดทำให้ต้องเสียเวลาและเสียค่าเชื้อเพลิงเกินกว่าค่าตอบแทนที่ได้รับอีกทั้งยังอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งกับผู้บริโภค, การคำนวณระยะทางในแอปพลิเคชันที่สั้นกว่าระยะทางจริงทำให้ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ และปัญหาการแข่งขันสูงเนื่องจากปัจจุบันจำนวนไรเดอร์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากทำให้มีการแข่งขันกันเองระหว่างไรเดอร์ เป็นต้น

ปัญหาระหว่างไรเดอร์และผู้บริโภค 

ส่วนใหญ่ 23.5 เปอร์เซ็นต์ เคยพบปัญหาลูกค้าไม่รับสาย ไม่ตอบข้อความ ติดต่อยาก ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการทำงาน ส่วนปัญหารองลงมา ได้แก่ ปัญหาลูกค้าปักหมุดผิด, ปัญหาลูกค้ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและถูกข่มขู่ในการประเมิน, รอลูกค้ามารับสินค้านาน หรือถูกสั่งให้ไปส่งสินค้านอกเหนือจากจุดหมายที่ตกลงไว้, ปัญหาลูกค้ายกเลิกออเดอร์ กลั่นแกล้ง ไม่ยอมรับสินค้า เปลี่ยนคำสั่งซื้อ, ลูกค้าไม่สวมหน้ากากอนามัยในช่วงสถานการณ์โควิด-19, ถูกลูกค้าลวนลาม และปัญหาลูกค้าใช้งานนอกเหนือขอบเขตการว่าจ้าง เป็นต้น


ปัญหากลไกแก้ไขความขัดแย้งของแพลตฟอร์ม 

แม้แพลตฟอร์มควรมีกลไกอำนวยความสะดวกให้การดำเนินงานของไรเดอร์ราบรื่นและต้องเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ แต่พบว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ไรเดอร์กลับพบปัญหาแทน 45.5 เปอร์เซ็นต์ มักพบปัญหาและความยากลำบากในการติดต่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยาก ส่วนปัญหาอื่นๆ ในลำดับถัดมาได้แก่ การให้ความช่วยเหลือล่าช้า ทำให้ไรเดอร์เสียเวลาและเสียโอกาสในการทำงานอื่น, ปัญหาเคลมสินค้าใช้เวลานาน, แพลตฟอร์มไม่ช่วยแก้ปัญหา แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำให้ไรเดอร์ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอง เป็นต้น


ไรเดอร์ขาดหลักประกันทางสังคม-ต้องการสวัสดิการสุขภาพจากแพลตฟอร์ม

ในงานวิจัยยังระบุว่าหลักประกันทางสังคมในบริบทประเทศไทยยึดโยงกับสถานะทางกฎหมายของแรงงาน ขณะที่การให้คำนิยามนิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มและไรเดอร์ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ทั้งนี้พบว่าไรเดอร์ 68.8 เปอร์เซ็นต์ เข้าถึงหลักประกันสุขภาพของรัฐโดยการใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) มีเพียง 11.4 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เข้าถึงหลักประสุขภาพของรัฐผ่านประกันสังคมมาตรา 33 และอีกกว่า 33.8 เปอร์เซ็นต์ ต้องซื้อประกันสุขภาพจากเอกชน

ส่วนหลักประกันทางสังคมประเภทต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ทั้งหลักประกันทางสุขภาพ สิทธิประโยชน์ด้านอื่น ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ไรเดอร์กว่า 39.9 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ จากหลักประกันทางสังคมของรัฐเลย, มีเพียง 7.6 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าได้รับเงินเยียวยาช่วงสถานการณ์โควิด-19 (เนื่องจากในช่วงที่ทำการสำรวจรัฐจัดการเยียวยาให้เฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานข้อมูลของระบบประกันสังคมก่อน ซึ่งต่อมาได้ขยายความครอบคลุมไปยังแรงงานนอกระบบ)

ไรเดอร์ส่วนใหญ่ต้องการให้แพลตฟอร์มจัดประกันอุบัติเหตุแบบไม่มีเงื่อนไขและจัดประกันสุขภาพที่เหมาะสม โดยไรเดอร์มองว่าการทำงานมีความเสี่ยง มีค่าตอบแทนไม่มาก การเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุเป็นเรื่องไม่พึงปรารถนาสำหรับไรเดอร์ทุกคนเพราะจะส่งผลให้ต้องหยุดงานและขาดหารายได้ จึงอยากให้แพลตฟอร์มจัดสวัสดิการประกันอุบัติเหตุให้ไรเดอร์โดยไม่นำมาเป็นเงื่อนไขตอบแทนแบบจูงใจที่ทำให้ไรเดอร์ต้องทำงานมากขึ้น

นอกจากนี้ไรเดอร์ส่วนใหญ่รู้สึกไม่พอใจต่อสภาพการทำงานและเงื่อนไขการทำงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการ ที่แพลตฟอร์มเป็นผู้กำหนด โดยเฉพาะไรเดอร์ในต่างจังหวัดที่มีค่าตอบแทนต่อรอบต่ำกว่าไรเดอร์ในกรุงเทพฯ ไรเดอร์ส่วนใหญ่กว่า 34.9 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้บริษัทแพลตฟอร์มเพิ่มค่าตอบแทนให้มากขึ้น อีก 22.6 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้มีการประกันรายได้ขั้นต่ำต่อวันหรือประกันจำนวนการวิ่งต่อวัน, นอกจากนี้ ไรเดอร์ยังต้องการให้บริษัทแพลตฟอร์มปรับปรุงระบบการกระจายงานให้มีความเสถียรมากขึ้น โดยไรเดอร์มองว่าความเสถียรของแอปพลิเคชันส่งผลต่อความมั่นคงด้านรายได้ด้วย


ยังคงอยากเป็น 'แรงงานอิสระ' แต่ก็ต้องการ 'ความคุ้มครองที่ชัดเจน'

งานวิจัยได้ศึกษารูปแบบความสัมพันธ์การจ้างงานที่ไรเดอร์ต้องการ ทั้งนี้ความสัมพันธ์การจ้างงานของงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นรูปแบบใหม่ที่คลุมเครือและไม่สามารถใช้คำนิยามความสัมพันธ์การจ้างแบบเดิมมาเป็นเกณฑ์ได้ ซึ่งปัจจุบัน แต่ละฝ่ายก็มีมุมมองต่อเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป

เจ้าหน้าที่รัฐมีแนวโน้มจะพยายามตีความทุกอย่างตามตัวบทที่มีอยู่ ส่วนโมเดลธุรกิจของบริษัทแพลตฟอร์มก็ปฏิเสธสถานะความเป็นลูกจ้างและมองไรเดอร์เป็นคู่ค้าหรือลูกค้า ด้านนักวิชาการด้านบริหารจัดการและนักวิชาการแรงงานมีความเห็นที่หลากหลาย 

จากการสำรวจความคิดเห็นพบว่าไรเดอร์ส่วนใหญ่ 51.7 เปอร์เซ็นต์ ต้องการเป็นแรงงานอิสระ คือไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม เพราะมองว่ามีความเป็นอิสระ ไม่ถูกผูกมัดด้วยเงื่อนไขเวลาทำงาน รองลงมา 21.4 เปอร์เซ็นต์ ต้องการมีสถานะเป็นแรงงานอิสระ แต่ก็ต้องการการคุ้มครองที่ชัดเจน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ไรเดอร์ส่วนใหญ่ไม่ต้องการมีสถานะเป็นลูกจ้าง แต่ขณะเดียวกัน 14.5 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้ความสัมพันธ์การจ้างงานเป็นแบบลูกจ้าง-นายจ้าง


เสนอ ‘กำหนดสถานะจ้างงานให้ชัดเจน-ให้การคุ้มครองทางสังคม-สนับสนุนตั้งสหภาพแรงงาน’

ในงานวิจัยชิ้นนี้สรุปประเด็นพิจารณาเพื่อนำไปสู่การหาทางออกผ่านกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการทางสังคม โดยเสนอให้กำหนดสถานะความสัมพันธ์การจ้างงานของไรเดอร์ให้ชัดเจน เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองแรงงานและการคุ้มครองทางสังคมซึ่งเป็นประเด็นที่ผูกติดกับความสัมพันธ์การจ้างงานตามกฎหมาย เมื่อสถานะความสัมพันธ์การจ้างงานมีความคลุมเครือดังเช่นที่เป็นอยู่ เกิดสภาวะสุญญากาศของการกำกับดูแลและคุ้มครอง ทำให้ไรเดอร์ไม่ได้รับการคุ้มครองเพียงพอ ส่งผลต่อปัญหาอื่นที่ตามมาอีกหลายประการ

นอกจากนี้ ควรปรับปรุงการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอและเท่าเทียมกันให้กับผู้ทำอาชีพไรเดอร์ และสนับสนุนให้ไรเดอร์สามารถรวมตัวและตั้งสหภาพแรงงานไรเดอร์ โดยการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้อาชีพอิสระสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ซึ่งมีตัวอย่างในต่างประเทศให้เห็นแล้วว่า การเรียกร้องสิทธิให้แก่ไรเดอร์ผ่านการจัดตั้งสหภาพแรงงานไรเดอร์ตามกฎหมายนั้นสามารถต่อรองกับบริษัทแพลตฟอร์มได้ เช่น ญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ และอังกฤษ เป็นต้น

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ หนึ่งในนักวิจัยของโครงการนี้ระบุว่า ปัญหาการขาดการคุ้มครองทางสังคมของไรเดอร์เป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็ง ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบการทำงานและความสัมพันธ์การจ้างงานเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แนวโน้มการจ้างงานแบบยืดหยุ่นที่ไม่มีสัญญาจ้างที่เป็นมาตรฐาน มีชั่วโมงการทำงานและค่าตอบแทนที่ต่ำและไม่มีความแน่นอน ไม่มั่นคง ไม่มีหลักประกัน กำลังเกิดขึ้นกับอาชีพต่างๆ จำนวนมาก 

หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อาจจะไม่ใช้การตีความว่า แรงงานเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบเพื่อที่จะคุ้มครองแรงงานและกำหนดสิทธิประโยชน์ในหลักประกันทางสังคมที่เป็นกรอบแนวทางเดิม แต่เป็นการคิดเรื่องระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ทัดเทียมกันไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์การจ้างงานแบบใด รัฐต้องพัฒนาการคุ้มครองทางสังคมโดยรัฐที่เพียงพอเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ทั้งสร้างรูปแบบการคุ้มครองทางสังคมที่มีความหลากหลายตามบริบทการทำงานในปัจจุบันและอนาคตที่มีพลวัตสูง




ดาวน์โหลดงานวิจัยนี้ฉบับเต็มได้ที่:

'ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19' โดย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สิงหาคม 2564)

URL อ้างอิง: https://d2fbbfd4-1c4d-4a3d-8c0f-12c681c9a53d.usrfiles.com/ugd/d2fbbf_5d5061738a3641be8cc6e404ae30d097.pdf
0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI