วัตถุมงคลทางดนตรีไทย จากสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม
แวดวง "ดนตรีไทย"
มีความเชื่อมโยงกับวิธีคิดและเรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผสานความเชื่อของศาสนาพุทธ
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และความเชื่อดั้งเดิมมาตั้งแต่อดีต
แต่ไหนแต่ไรมา
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการดนตรีไทย ก็ได้สร้าง "วัตถุมงคล"
ที่สื่อถึงความเป็น "ครู" ตามความเชื่อในวัฒนธรรมศิลปะการแสดงของไทย
เน้นย้ำความเชื่อให้ผสานแนบแน่น จนเกิด “วัตถุมงคลทางดนตรีไทย” ในรูปลักษณ์ต่างๆ
ออกมามากมายในปัจจุบัน
จากงานศึกษา
'วัตถุมงคลทางดนตรีไทยในสังคมไทยร่วมสมัย: การสร้าง ความหมาย และบทบาท' โดย
‘ไอยเรศ บุญฤทธิ์’ วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559
ที่ศึกษาการจัดประเภทวัตถุมงคลทางดนตรีไทยที่มีการสร้างใหม่ในสังคมไทยร่วมสมัย
และวิเคราะห์กระบวนการสร้างความหมาย และบทบาทของวัตถุมงคลทางดนตรีไทย
มีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
การสร้าง “เหรียญพ่อแก่วัดพระพิเรนทร์” ปี 2513
จุดเริ่มต้นวัตถุมงคลดนตรีไทยในบริบทสังคมร่วมสมัย
แม้ในอดีตจะมีวัตถุสัญลักษณ์อันเป็นมงคลที่สร้างขึ้นในแวดวงดนตรีไทยมานานแสนนานแล้ว
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป บริบททางสังคมวัฒนธรรมก็ย่อมเปลี่ยนแปลง
ความเชื่อแบบดั้งเดิมเปลี่ยน และประสานขนานไปกับวิถีวัฒนธรรมความเชื่อรูปแบบใหม่
ทำให้การสร้างวัตถุมงคลทางดนตรีไทยเพิ่มขึ้นมาก
งานศึกษาชิ้นนี้ชี้ว่า การสร้างวัตถุมงคลในรูปแบบของเหรียญ "พระนารทฤๅษี" หรือ "พ่อแก่" ของวัดพระพิเรนทร์ ในปี 2513 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรูปเคารพในรูปแบบของ "วัตถุมงคล" ในบริบทวัฒนธรรมดนตรีไทย มีวิธีคิดคล้ายกับการสร้าง "พระพิมพ์" หรือ "พระเครื่อง"
สำหรับวัตถุประสงค์ในการสร้างเหรียญพระนารทฤๅษีฯ
ในครั้งนั้น จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการหารายได้ของสมาคมสงเคราะห์สหายศิลปิน (สสศ.)
ในวาระการจัดประชันดนตรีไทยและพิธีไหว้ครูดนตรีไทยที่วัดพระพิเรนทร์เมื่อปี 2513
สร้างด้วยเนื้อทองคำ จำนวน 9 เหรียญ เนื้อเงิน 99 เหรียญ และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง
จำนวน 5,000 เหรียญ, ถัดจากนั้นในปี 2515
มีการสร้างเหรียญพระนารทฤๅษีขึ้นเป็นรุ่นที่ 2 มีการออกแบบสัญลักษณ์ต่างๆ
เหมือนกับรุ่นปี 2513 เพียงแต่ข้อความที่ปรากฏใต้รูปนูนของพระนารทฤๅษีฯ
ได้เปลี่ยนไปเท่านั้น ส่วนการสร้างด้วยเนื้อสารใด หรือสร้างจำนวนเท่าไร
กลับไม่มีการบันทึกไว้
การสร้างเหรียญพระนารทฤๅษี (พ่อแก่) ในปี 2513 ครั้งนั้น ถือเป็นที่สนใจของคนในวงการดนตรีไทยที่เช่ามาบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล อีกนัยหนึ่งยังแสดงให้เห็นว่ามีความหมายถึง ความเป็นคนในวงการดนตรีไทยอีกด้วย นักดนตรีไทยผู้สะสมวัตถุมงคลทางดนตรีไทยท่านหนึ่งได้กล่าวว่า "หากเป็นพวกปี่พาทย์ลูกพ่อแก่จริง ก็ต้องมีเหรียญพ่อแก่ของวัดพระพิเรนทร์ไว้บูชา" ซึ่งหลังจากมีการสร้างเหรียญพ่อแก่ วัดพระพิเรนทร์ ปี 2513 และ 2515 ก็ปรากฏการจัดสร้างเหรียญรุ่นต่างๆ อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะตามวัดต่างๆ นอกจากนี้ พบว่าในการถ่ายทอดวิชาทางดุริยางคศาสตร์ไทย โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนดนตรีไทย ก็มักมีการจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ และมีความแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่
ตัวอย่างวัตถุมงคลทางดนตรีไทยในบริบทสังคมร่วมสมัย
งานศึกษาชิ้นนี้พบว่าวัตถุมงคลทางดนตรีไทยในสังคมไทยร่วมสมัย
เกิดขึ้นโดยผู้สร้างที่จัดทั้งที่เป็น คนในวงการดนตรีไทย ประกอบด้วย
บ้านหรือสำนักดนตรี วัด สถาบันทางดนตรี บุคคล และ
ผู้สร้างที่เป็นคนนอกวงการดนตรีไทย ประกอบด้วยสถาบันต่างๆ ในสังคม
และกลุ่มผู้มีจิตศรัทธา
ในการประกอบสร้างความหมายของวัตถุมงคลทางดนตรีไทย
พบว่ามีการใช้สัญลักษณ์ทางดนตรีไทยอย่างหลากหลายและมีพลวัต
ทั้งการใช้สัญลักษณ์จากความเชื่อดั้งเดิม การใช้สัญลักษณ์จากความเชื่อท้องถิ่น
การสร้างสัญลักษณ์ใหม่ และการนำสัญลักษณ์เดิมมาสร้างความหมายใหม่ นอกจากนี้ยังมีการสร้างความเป็นมงคลให้แก่วัตถุมงคลทางดนตรีไทยผ่านพิธีกรรม
ได้แก่ พิธีพุทธาภิเษก พิธีเทวาภิเษก พิธีสังคีตาภิเษก และผ่านการผูกเรื่องเล่า
เป็นต้น
สำหรับรูปแบบของวัตถุมงคลทางดนตรีไทยนั้นก็มี "วัตถุมงคลทางดนตรีไทยที่คงรูปแบบเดิม" ได้แก่ หัวโขน, เครื่องดนตรีไทย และรูปเคารพครูดนตรีไทยล่วงลับ ส่วน "วัตถุมงคลทางดนตรีไทยที่สร้างในรูปแบบใหม่" ได้แก่ พระเนื้อผง, พระเนื้อว่าน, พระเนื้อโลหะ, เหรียญ, ผ้ายันต์, ล็อกเกต, รูปจำลองเครื่องดนตรี, รูปจำลองเทพสังคีตาจารย์, รูปวัตถุมงคลแบบจตุคามรามเทพ และอื่นๆ
ตัวอย่างวัตถุมงคลทางดนตรีไทยในบริบทสังคมร่วมสมัย
●
เหรียญพระนารทมุนี (พ่อแก่)
เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง รุ่นปี 2513
●
เหรียญพระนารทมุนี (พ่อแก่) เนื้อเงิน
รุ่นปี 2515
●
ศีรษะพระนารทฤๅษี และศีรษะพระพรตฤๅษี
●
บทโองการไหว้ครู ลายมือหลวงประดิษฐไพเราะ
(ศร ศิลปบรรเลง)
●
ผ้าหน้าโขนลักษณะต่างๆ
●
ตระกรุดหนังตะโพนจารนะเมตตา
●
พระเนื้อผง
ที่ระลึกวันพระราชทานเพลิงศพครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต
●
พระเนื้อผงพิมพ์หัวโขนพ่อครูฤๅษีพระภรตมุนี
●
ล็อกเกตชุดบรมครูดนตรีไทย รูปพระปรคนธรรพ
●
เหรียญหล่อพ่อครูฤๅษี
หันข้างหลังตะโพนเนื้อนวโลหะพิเศษ
●
เหรียญปัญจสิงขรเทพบุตรเนื้อต่างๆ
ของสำนักดนตรี “วิเศษดนตรี” จ.สิงห์บุรี
●
ตะโพนหลวงพ่อพัก, เหรียญที่ระลึกอายุ 72 ปี
ครูบุญยงค์ เกตุคง
●
วัตถุมงคลทางดนตรีไทยชุด “ปัญจดุริยเทพ
(มหาเทพมงคล 2547)” จัดสร้างโดยสภาผู้แทนราษฎร
●
วัตถุมงคล “พระประดิษฐไพเราะ (มี
ดุริยางกูร) จัดสร้างโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
●
วัตถุมงคล “บูชาครู นเรศวรมหาราช”
ที่ระลึกงานไหว้ครูดนตรีไทย
●
พระพิฆเนศวร์รุ่น “สำเร็จทุกประการ”
วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี ปี 2558 อธิษฐานจิตโดย พระครูสุทธิธรรมารักษ์
(พระอาจารย์ต่อ) วัดสิงห์ทอง จ.ลพบุรี
●
“พระพิฆเนศวร์สังคโลก” จากวิทยาลัยนาฏศิลป
จ.สุโขทัย
●
“พุทธรัตนศิลปะประทานพร”
จากวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี
● ดวงตราไปรษณียากรรูปหลวงประดิษฐไพเราะ อัดกรอบเงิน
เมื่อ “วัตถุมงคลทางดนตรีไทย” ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม
งานศึกษาชิ้นนี้พบว่า
การสร้างวัตถุมงคลทางดนตรีไทยเกิดความหลากหลายตามความต้องการและการออกแบบของผู้สร้าง
โดยหยิบเอา "ลักษณะเด่น" สัญลักษณ์ หรือความเชื่อต่างๆ
ในวัฒนธรรมดนตรีไทยซึ่งนับเป็นทุนทางวัฒนธรรมมาผลิต
บางกรณีผนวกเอาองค์ความรู้หรือข้อมูลทางคติชนอื่นๆ มาผสมผสานจนเกิดกลายเป็น
"วัตถุมงคลรูปแบบใหม่" เช่น เครื่องดนตรีมงคลในรูปแบบของ
"ตะโพนหน้าทับพระประโคนธรรพเทวา" สร้างขึ้นจากการนำเอารูปลักษณ์ของ
"ตะโพนไทย" ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทหนึ่งมาย่อส่วนให้เหลือเพียงขนาดย่อม
ลักษณะเป็นการเลียนแบบรูปลักษณ์ และสร้างความหมายและความเป็นมงคลผ่านคำอธิบายใหม่ๆ
เช่น การกล่าวอ้างถึงเรื่องอำนาจ บารมี ชื่อเสียง เมตตามหานิยม เป็นต้น
นอกจากนี้ วิธีการตั้งชื่อวัตถุมงคล
มีแนวคิดเรื่องการสร้าง "นัยเชิงมูลค่า" ที่ผนวกเอาชื่อ คำ
ลักษณะเด่นจากวรรณคดีไทย ฯลฯ มาร้อยเรียงและประกอบสร้าง
โดยมีเรื่องราวหรือองค์ประกอบทางดนตรีเป็นแกนหลักด้วย เช่น
ตัวอย่างการสร้างวัตถุมงคลทางดนตรีชื่อ "เพชรฉลูกันฑ์ตุริยะฦๅชามหาละลวย"
และ "ปรคนธรรพรักขาดใจเภรีตุริยเวท" เป็นต้น
ข้อสังเกตจากตัวอย่างดังกล่าว พบว่า มีการนำ ชื่อ คำ ลักษณะเด่น ความเชื่อดนตรีไทย
เนื้อหาวรรณคดี มาประกอบสร้างให้เกิดขึ้นเป็นชื่อ และยังสร้างคำอธิบายสรรพคุณของวัตถุมงคลให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน
โดยให้ความหมายเชิงเปรียบเทียบระหว่าง "เสียง" กับ "อำนาจ"
ของดนตรีที่สามารถดลบันดาลให้สมหวังตามต้องการได้
นอกจากนี้ งานชิ้นนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า
สังคม "นอกวงการดนตรีไทย" หยิบเอาสิ่งที่เรียกว่า
"ลักษณะเด่นทางดนตรี"
ทั้งทางด้านรูปธรรมและพฤติกรรมมาใช้ในการสร้างความหมายใหม่ให้กับ
"วัตถุมงคลทางดนตรีไทย" ที่ยึดโยงเข้ากับสังคมทุนนิยมและวัฒนธรรมป๊อปด้วย
จึงเห็นได้ว่า
พื้นที่ทางความคิดและความเชื่อทางดนตรีไม่ได้จำกัดอยู่ในแวดวงของคนในวงการดนตรีไทยแต่เพียงเท่านั้น
แต่ขยายไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
…
ดาวน์โหลดวิทยานิพนธ์นี้ฉบับเต็มได้ที่: 'วัตถุมงคลทางดนตรีไทยในสังคมไทยร่วมสมัย: การสร้าง ความหมาย และบทบาท' (ไอยเรศ บุญฤทธิ์, วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559)

