สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร? มองผ่านงานวิจัย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม และไทย
“สังคมสูงวัย” กำลังคืบคลานมาเรื่อยๆ
คาดการณ์ว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งหมดจะเข้าสู่ความเป็น
“สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ภายในปี 2030
ทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนและอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three - ได้แก่ จีน เกาหลี
และญี่ปุ่น) เตรียมการทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติเพื่อรับมือกับสภาวะของการเปลี่ยนแปลงนี้
จากรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์
‘การสำรวจสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยเพื่อส่งเสริมพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย
กรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม และไทย’ โดย ‘ศริยามน ติรพัฒน์
และคณะ’ สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
(สกสว.), 2563
ที่ศึกษาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยและเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทร
“พฤฒิพลัง” (Active Aging
หมายถึงผู้สูงอายุที่ยังมีพลังอยู่-การสูงวัยอย่างมีคุณภาพ)
และคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ในเขตเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย เมียนมา
เวียดนาม และไทย โดยเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุประเทศไทย 510 คน, มาเลเซีย 552 คน,
เวียดนาม 502 คน, เมียนมา 514 คน และญี่ปุ่น 140 คน (รวม 2,218 คน)
เหตุผลที่เลือกประเทศ 'ญี่ปุ่น' ในการศึกษา
เพราะถือเป็นต้นแบบประเทศสำหรับผู้สูงอายุ
ระบบรองรับสังคมสูงวัยที่ทันสมัยระดับเอเชีย, 'มาเลเซีย'
เพราะเป็นประเทศที่ตื่นตัวด้านผู้สูงอายุระดับอาเซียน
และมีประเด็นหลักในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยในภูมิภาค,
'เวียดนาม'
เพราะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอย่างรวดเร็ว,
'เมียนมา'
เพราะเป็นประเทศเริ่มเปิดเสรีและพร้อมรองรับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร,
ส่วน 'ไทย' เป็นประเทศเจ้าภาพในการทำวิจัยนี้ เพื่อได้ข้อมูลเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
ผู้สูงอายุในแต่ละประเทศมองว่าอะไรคือปัญหาในการใช้ชีวิตและจุดเด่นของสังคมของตนไว้ดังนี้
จากผลการศึกษาพบว่ามีเพียงผู้สูงอายุประเทศเมียนมาเท่านั้นที่ประเมินว่าชุมชนในละแวกบ้านเหมาะสำหรับการเดิน
อย่างที่ทราบกันว่าประเทศในอาเซียนดั้งเดิมมีวิถีชีวิตที่ใช้การสัญจรจากการเดิน
หรือปั่นจักรยานเป็นหลัก ในปัจจุบันวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปโดยพึ่งพาเครื่องยนต์
เช่น มอเตอร์ไซค์และรถยนต์แทน
การให้บริการดูแลสุขภาพและแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพและการบริการที่จำเป็น
ผู้สูงอายุในญี่ปุ่น เวียดนาม และเมียนมา
ประเมินว่าสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่เป็นมิตรในชุมชน
คือการขาดการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะฉุกเฉินที่พบในผู้สูงอายุ, นอกจากนี้
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุในมาเลเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และไทย
มีคะแนนประเมินการเข้าร่วมในกิจกรรมอาสาสมัครและกิจกรรมทางสังคมต่ำ
ซึ่งผลของการวิจัยในญี่ปุ่นชี้ชัดว่า
ผู้สูงอายุญี่ปุ่นที่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมอย่างสม่ำเสมอ
จะประเมินตนเองว่ามีสุขภาพดีและแข็งแรงกว่าผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมทางสังคมที่น้อยกว่า
ผู้สูงอายุในเมียนมาและญี่ปุ่นตระหนักถึงการได้รับโอกาสในการจ้างงาน คนสูงวัยในประเทศเมียนมาส่วนใหญ่ (94 เปอร์เซ็นต์) ยังคงต้องทำงานโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมเนื่องจากรายได้จากการทำงานลดลง ส่วนในญี่ปุ่นที่กำลังกลายเป็นสังคมสูงวัยขั้นสุดยอด ในอดีตอายุเกษียณโดยทั่วไปของชาวญี่ปุ่นคือ 55 ปี แต่ในปัจจุบันอายุเกษียณถูกปรับให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เท่าที่ผู้สูงอายุต้องการทำงานต่อ
การได้รับการอบรมต่างๆ
และการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร เช่น อินเทอร์เน็ต
ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นและไทยตระหนักที่จะได้รับการศึกษาหรือฝึกอบรมทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ,
ในด้านการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร เช่น อินเทอร์เน็ต
พบว่าผู้สูงอายุในมาเลเซียส่วนใหญ่ประเมินว่าสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตที่บ้านได้อย่างดี
ในขณะที่ผู้สูงอายุในไทยประเมินว่ายังขาดการใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้านอย่างเพียงพอ
ผลการวิจัยพบว่าผู้สูงอายุบางชุมชน
เช่น ผู้สูงอายุในเมียนมาประเมินว่าบ้านหรือที่อยู่อาศัย ในชุมชนมีราคาแพง
ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการสำรวจประเมินในครั้งนี้เป็นการสำรวจในเขตเมืองซึ่งมีพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในปริมาณน้อยแต่ราคาสูง
เช่นเดียวกับไทยที่ปัจจุบันแนวโน้มประชากรสูงอายุไทยจะอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลหรือเขตเมืองเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามประชากรส่วนใหญ่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเกินกว่าครึ่ง,
ด้านกิจกรรมกับการ อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นประเภทที่อยู่อาศัยบ้านเดี่ยว บ้านแฝด
หรือบ้านแถว พบว่าส่วนใหญ่ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนอเนกประสงค์ พื้นที่ห้องน้ำ
และพื้นที่ครัว โดยพื้นที่อเนกประสงค์ ได้แก่
พื้นที่ซึ่งประกอบด้วยการทำกิจกรรมใดๆ
มากกว่าหนึ่งกิจกรรมขึ้นไปเพื่อประโยชน์ในการใช้สอย แต่อาจไม่เหมาะสม เช่น
การปูที่นอน กับพื้น พื้นที่ห้องน้ำที่ยังมีส่วนประกอบที่ไม่ปลอดภัย
พื้นที่ครัวที่มีการจัดวางข้าวของไม่เป็นระเบียบ
วัฒนธรรมของเอเชียโดยเฉพาะคนในเอเชียตะวันออกจะมีวัฒนธรรมที่ปลูกฝังกันมายาวนานให้มีความเคารพผู้สูงอายุ
ในปัจจุบันขนาดครอบครัว ระยะทาง
และรูปแบบการดำเนินชีวิตทำให้เด็กรุ่นใหม่มีรูปแบบพฤติกรรมการแสดงออกในการให้ความเคารพนับถือผู้สูงอายุเปลี่ยนไป
การศึกษาในครั้งนี้พบว่าผู้สูงอายุในเมียนมา เวียดนาม และไทย
ยังคงมีความรู้สึกว่าการได้รับความนับถือและยอมรับจากคนในสังคมคือจุดเด่นที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัย
ในขณะที่ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นและมาเลเซียไม่ได้มีความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมเรื่องการได้รับความนับถือและยอมรับจากคนในสังคมเด่นกว่าสิ่งแวดล้อมด้านอื่น
การสำรวจผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งนี้ พบว่า
การเข้าถึงศาสนาและการปฏิบัติทางศาสนาเป็นส่วนสำคัญของผู้สูงอายุ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุในเมียนมา ทั้งนี้
ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุชาวเมียนมาจำนวนมากมีการสวดมนต์หรือทำสมาธิทุกวัน
เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนที่เน้นพิธีกรรมทางศาสนา
โดยการมีเครือข่ายทางสังคมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมและศาสนาสามารถทำให้ผู้สูงอายุเมียนมารู้สึกมั่นใจ
พึงพอใจ และมีคุณภาพชีวิตที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในเวียดนามมีการรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติคือ
“ลูกกตัญญู” ต่อญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่ มีความรักต่อพี่น้อง มีความซื่อสัตย์
และความสามัคคี ซึ่งเป็นพื้นฐานครอบครัวและถ่ายทอดให้เด็กๆ
จนกลายเป็นวัฒนธรรมบรรทัดฐานในเวียดนาม ในการพัฒนาและรักษาคุณค่าดั้งเดิมของครอบครัว
ผู้สูงอายุถือเป็นกระดูกสันหลังของครอบครัวด้วยบทบาทที่สำคัญอย่างมาก
แต่ในญี่ปุ่นจำนวนผู้สูงอายุที่ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นทุกปี
สาเหตุก็คือผู้สูงอายุกำลังทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้า
ทั้งนี้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นมีความเป็นอิสระและไม่ชอบรับความช่วยเหลือจากผู้อื่นซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม
การได้รับการสนับสนุนจากชุมชนถือเป็นเรื่องน่าอายหรือเกิดการตีตราทางสังคม
งานวิจัยชิ้นนี้เสนอให้ประเทศไทยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี
และคอมพิวเตอร์ในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ
ทุกช่วงอายุส่วนใหญ่ตระหนักตรงกันในเรื่องประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์
โดยมีความเห็นว่า ยังไม่มีความพร้อมที่จะสามารถใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้านได้
ดังนั้นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และคอมพิวเตอร์ในกลุ่มผู้สูงวัย
จึงเป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยควรส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง
"เพิ่มพื้นที่จอดรถที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุอย่างเพียงพอพร้อมใช้งาน"
ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุตั้งแต่ 60
ปีขึ้นไปส่วนใหญ่ประเมินว่าในชุมชนมีบริการพื้นที่จอดรถที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุในปริมาณที่ไม่เพียงพอ
ปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุไทยยังดำเนินชีวิตได้อย่างทันสมัยและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นการปรับสภาพแวดล้อมของการทำงานในเมืองหลวง
ที่เกื้อกูลและสามารถสนับสนุนตามสรีระความถดถอยทางร่างกายของผู้สูงอายุไปพร้อมกันถือเป็นสิ่งจำเป็น
การเพิ่มพื้นที่จอดรถสำหรับผู้สูงอายุ เป็นสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ควรปรับให้เหมาะสม
จะช่วยยืดอายุการทำงานและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย และ
"เพิ่มการจัดอบรมที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต"
ผลการสำรวจงานวิจัยในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในช่วงระหว่าง 55-69 ปี มีความรู้สึกว่า
ได้รับการศึกษาหรือฝึกอบรมทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการยังไม่เพียงพอ
ซึ่งการศึกษาเพิ่มเติมหรือการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตนับเป็นสิ่งจำเป็น
เนื่องจากผู้สูงอายุยังต้องดำเนินชีวิตในปัจจุบันให้ทันกับกระแสสังคม เศรษฐกิจ
วัฒนธรรม และการเมืองใน ศตวรรษที่ 21 ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้นการเข้ารับการอบรมและเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันจึงมีความจำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย
อย่างชัดเจน
ส่วนในด้านงานวิจัยต่อยอดควรจะเป็นการสร้างเมืองต้นแบบที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงวัยอย่างครบวงจร (One-stop age–friendly city) โดยเมืองที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยควรเป็นแบบบูรณาการ โดยอาศัยหลักการออกแบบด้วยหลักอารยสถาปัตย์เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ด้วยการคำนึงถึง สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสดชื่น มีพลังใจ และมีความสุข ด้วยการคำนึงถึงการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่ได้โดยอิสระและมีศักดิ์ศรี และด้วยการคำนึงถึงการสนับสนุนด้านจิตวิญญาณ เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าใจชีวิตอย่างถ่องแท้ พร้อมเผชิญกับความเจ็บป่วยทางร่างกายอันเนื่องมาจากความชรา และกล้าทำใจยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงของวาระสุดท้ายเพื่อ เตรียมตัวจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี.
……
ดาวน์โหลดรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ที่: การสำรวจสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อผู้สูงวัยเพื่อส่งเสริมพฤฒิพลังและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย กรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม และไทย (ศริยามน ติรพัฒน์ และคณะ, สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), 2563)

