อุทยานธรณีสตูล จังหวัดสตูล อุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย บันทึกหลักฐานโลกใต้ทะเลกว่า 500 ล้านปี ท่องเที่ยวเรียนรู้ที่อำเภอเมืองสตูล

19 ตุลาคม 2023
|
334 อ่านข่าวนี้
|
9


    อำเภอเมืองสตูลเป็นอำเภอสุดเขตแดนใต้ของประเทศไทย มีเขตแดนติดต่อกับมาเลเซียทั้งทางภาคพื้นดินและทางทะเล มีชายฝั่งทะเลติดต่อกับทะเลอันดามัน และพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นเกาะ อุทยานธรณีสตูล ในพื้นที่อำเภอเมืองสตูล ส่วนใหญ่จึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้ทางทะเลและหมู่เกาะ มีแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์สัตว์ทะเลต่างๆ ที่สำคัญ รวมทั้งเส้นทางศึกษาธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงามในหลายๆ เกาะ บางเกาะยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เช่น เกาะตะรุเตา หรือมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน เช่น ประเพณีลอยเรือ เกาะหลีเป๊ะ

ท่องเที่ยวเรียนรู้ที่อำเภอเมืองสตูล

สันหลังมังกร ตันหยงโป หรือ “ทะเลแหวก” ของชาวชุมชนตันหยงโป อำเภอเมืองสตูล สิ่งมหัศจรรย์กลางทะเลอันดามัน รูปร่างเหมือนมังกรพลิ้วไหวอยู่ในทะเล สันทรายที่มีซากเปลือกหอยนับล้านตัวทับถมกันก็จะโผล่ขึ้นมาเมื่อน้ำทะเลลด มีระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร สามารถเชื่อมไปยังอีกเกาะได้ บริเวณป่าชายเลนถัดจากบริเวณนี้ไปไม่ไกลจะมีฝูงนกอินทรีย์จำนวนมากซึ่งสามารถชมวิถีชีวิตนกอินทรีย์ได้ด้วย

เกาะตะรุเตา ตะรุเตา” หรือ “ตะโละเตรา” ในภาษามลายู แปลว่า มีอ่าวมาก

อ่าวพันเตมะละกา เกาะตะรุเตา เป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา มีหาดทรายละเอียดขาวสะอาด ทอดยาวประมาณ 1.5 กม เหมาะสำหรับการพักผ่อน เล่นน้ำ ชมธรรมชาติ และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม จากจุดนี้สามารถเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวผาโต๊ะบูได้ด้วย

จุดชมทิวทัศน์ผาโต๊ะบู อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 60 เมตร ทิวทัศน์สวยงาม สามารถมองเห็นเกาะต่างๆ มากมาย เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามแห่งหนึ่ง

ซากดึกดำบรรพ์อ่าวเมาะและ เกาะตะรุเตา  อ่าวเมาะและเป็นอ่าวที่มีความกว้างประมาณ 800 เมตร มีหาดทรายสวยสงบโค้งเว้าเข้าหาแผ่นดิน เป็นแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญและทรงคุณค่าทางวิชาการพบซากดึกดำบรรพ์ไทรไลโบต์ (สัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังรูปร่างคล้ายแมงดา) ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยเป็นจำนวนมากมายหลายชนิด บางชนิดเป็นชนิดใหม่ของโลก เช่น Saukiella tarutaoensis และ Thailandium solum ยุคแคมเบรียนตอนปลาย มีอายุประมาณ 490 ล้านปี

อ่าวตะโละวาว เกาะตะรุเตา เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เคยเป็นทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพสำหรับนักโทษของกรมราชทัณฑ์ เนื่องด้วยเป็นเกาะกลางทะเลลึก ล้อมไปด้วยคลื่นลมมรสุมและฉลาม สามารถป้องกันการหลบหนีของนักโทษได้เป็นอย่างดี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดอดอยาก ขาดแคลนอาหาร ยา เครื่องใช้ต่างๆ และเกิดไข้ป่า ทำให้นักโทษเสียชีวิตไปกว่า 700 คน ผู้คุมและนักโทษกลายเป็นโจรสลัด ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่หวาดกลัวของนักเดินเรือ ซึ่งต่อมากองกำลังทหารอังกฤษได้อาสารัฐบาลไทยเข้าไปปราบปราม
จนสำเร็จในปี พ.ศ. 2489

อ่าวตะโละอุดัง เกาะตะรุเตา อยู่ทางทิศใต้ของเกาะ ห่างจากเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย เป็นระยะทางเพียง 8 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งเดิมเป็นสถานที่กักขังนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ

อ่าวสน เกาะตะรุเตา เป็นอ่าวรูปโค้งที่มีหาดทรายสีขาวและหาดหิน ยาวประมาณ 4 กิโลเมตร มีชั้นหินตะกอนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล มีธารน้ำจืดไหลลงสู่ทะเล และมีน้ำตกขนาดเล็ก (น้ำตกลูดูและน้ำตกโละโป๊ะ)

น้ำตกลูดู เกาะตะรุเตา น้ำตกขนาดเล็ก 1 ชั้น สวยงาม อยู่ในบริเวณอ่าวสน เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร

ถ้ำจระเข้ อยู่ปลายคลองพันเตมะละกา มีความลึกประมาณ 300 เมตร ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงาม ต้องเดินทางด้วยเรือหางยาวประมาณ 15 นาที ไปตามคลองพันเตมะละกา ตลอดเส้นทางจะผ่านป่าชายเลน หลังจากนั้นจึงเดินต่อไปตามสะพานไม้ผ่านป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์จนถึงถ้ำ

ซุ้มหินชายฝั่ง เกาะไข่ (หรือเกาะตะรัง) เกาะเล็กๆ อยู่ระหว่างเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง มีหาดทรายขาวละเอียด เป็นพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเล มีซุ้มหินธรรมชาติ ซึ่งเป็นความสวยงามที่ธรรมชาติสร้างขึ้น หลายคนน่าจะเคยเห็นในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล ซุ้มหินชายฝั่งเกิดจากการกัดเซาะของคลื่นและลม โดยเฉพาะการขัดสีของทรายที่พัดพามาด้วย ส่วนมากเกิดขึ้นบริเวณหัวแหลมของชายฝั่งที่เป็นหน้าผาที่ยื่นออกไปในทะเล

เกาะหลีเป๊ะ (หาดพัทยา หาดซันไรส์ หาดซันเซ็ต) เดิมชื่อ “เกาะนีปิส” (แปลว่า บาง ภาษาชาวอูรักลาโว้ย ชนเผ่าพื้นเมืองที่ดำรงชีพด้วยการทำประมงพื้นบ้าน) รอบเกาะมีปะการังสวยงาม หาดทรายสีขาว นิ่มและละเอียด เนื่องจากเม็ดทรายเกิดจากการทับถมของปะการัง หินทั้งหมดบนเกาะเป็นหินแกรนิตยุคไทรแอสซิก มีอายุประมาณ 208-245 ล้านปี และพบว่ามีสายแร่ควอตซ์ขนาดเล็กและแร่ทัวร์มาลีนสีดำปะปนกันอยู่จำนวนมาก

เกาะหินงาม เกาะเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากเกาะอาดัง ประมาณ 2.5 กิโลเมตร เป็นเกาะที่ไม่มีหาดทราย แต่เป็นหาดหิน เป็นหินรูปร่างกลมมน สีดำ ลวดลายสวยงาม บริเวณท้ายเกาะเป็นจุดดำน้ำตื้นชมปะการัง เช่น ปะการังโขด ปะการังโต๊ะ ปะการังเขากวาง ปะการังลายดอกไม้ ปะการังสมองร่องเล็ก อุทยานธรณีสตูลกำลังผลักดันให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาวิจัยทางด้านธรณีวิทยา

เกาะอาดัง “อาดัง” มาจากคำเดิมในภาษามลายู “อุดัง” แปลว่า “กุ้ง” เนื่องจากบริเวณนี้เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้งทะเล มีพื้นที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ไม่อนุญาตให้สร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร มีหาดทรายละเอียดสวยงาม และน้ำตกโจรสลัดที่มีน้ำตลอดทั้งปี

ผาชะโด เกาะอาดัง จุดชมทิวทัศน์ท้องทะเลที่สวยงาม สามารถมองเห็นเกาะหลีเป๊ะ ในอดีตบริเวณนี้ใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ของกลุ่มโจรสลัดเพื่อเข้าโจมตีเรือสินค้า

เกาะราวี ห่างจากเกาะอาดังเพียง 1 กิโลเมตร มีหาดทรายขาว สวยงาม เงียบสงบ เหมาะสำหรับพักผ่อน ดำน้ำชมปะการัง

ร่องน้ำจาบัง เป็นแหล่งปะการังเจ็ดสี ปะการังอ่อน ดอกไม้ทะเล และฝูงปลา เหมาะสำหรับดำน้ำตื้นและดำน้ำลึก

เกาะยาง เกาะขนาดเล็กใกล้เกาะอาดัง มีชายหาดทอดยาวและสวยงาม เหมาะสำหรับดำน้ำตื้นชมปะการังสวยงาม เช่น ปะการังผักกาด ปะการังเขากวาง ปะการังสมอง และตลอดแนวชายหาดของเกาะยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์เพื่อเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล และป้องกันคลื่นและใบพัดของเรือหางยาวที่อาจจะทำลายแนวปะการังในบริเวณใกล้ๆ

หมู่เกาะดง หรือ “อ่าวลิง” มีลิงแสมอาศัยอยู่บริเวณริมหาดจำนวนมาก เป็นเกาะน้อยใหญ่ที่งดงามแปลกตา มีแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ น้ำทะเลสีเขียวอมฟ้าใส มีจุดดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกอยู่หลายแห่ง มีหินแปลกตาให้ศึกษาเรียนรู้ทางธรณีวิทยา

เกาะหินซ้อน หรือเกาะหินตั้ง เกาะเล็กๆ ที่มีก้อนหินแกรนิตทรงเหลี่ยมขนาดใหญ่วางซ้อนกัน สวยงามแปลกตา

เกาะรอ-กลอย อยู่ในบริเวณเดียวกันกับเกาะดงและเกาะหินซ้อน เป็นเกาะขนาดเล็ก เงียบสงบ มีหาดทรายขาวสะอาดลักษณะเป็นสามเหลี่ยมยื่นออกไปในทะเล ตัดกับน้ำทะเลสีเขียวสวยงามจนได้ชื่อว่า “ทะเลหยก”

เกาะผึ้ง เป็นเกาะหินขนาดเล็ก ใกล้กับเกาะรอ-กลอย ไม่มีหาดทราย เป็นเกาะที่อยู่กลางร่องน้ำ และมีกระแสน้ำที่ไหลแรงมาก มีกลุ่มปะการังอ่อนสีแดง สีม่วงและสีชมพู ดาวขนนก กัลปังหาสีส้ม สีทองและสีชมพู ดอกไม้ทะเล และปลาหลายชนิด ไม่ไกลจากเกาะผึ้งจะมีเกาะชื่อ เกาะผึ้งน้อย แต่ที่นี่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นน้ำตื้นและมีหอยเม่นอยู่จำนวนมาก

หมวดหินมะละกา พบที่คลองมะละกา ด้านหลังของที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา พื้นที่ประมาณ 50x10 ตารางเมตร เป็นหินปูนชั้นบางเนื้อโคลน สลับหินปูนเนื้อปนโดโลไมต์ แทรกด้วยชั้นของซากสาหร่าย ซ้อนกันลักษณะแบบริ้วคลื่น และพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์ทะเลต่างๆ

ประเพณีลอยเรือ ประเพณีลอยเรือของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 เพื่อแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ และเป็นการสะเดาะเคราะห์ไปกับการลอยเรือ จะมีการนำอาหารและขนมไปไหว้และขอขมาบรรพบุรุษที่ศาลทวดโต๊ะฆีรี และช่วงกลางคืนจะมีการแสดงรำมะนาและเต้นรำ ในวันต่อมาจะเป็นการตัดไม้ระกำเพื่อนำมาสร้างเรือและตกแต่งให้สวยงาม หลังจากนั้นจะทำพิธีเชิญบรรพบุรุษให้นำสิ่งชั่วร้ายลงเรือ แล้วจึงนำเรือไปลอยให้พ้นจากเกาะหลีเป๊ะ

แหล่งข้อมูล:

1.       อุทยานธรณีสตูล www.satun-geopark.com

2.       จังหวัดสตูล www.satun.go.th

3.       กรมทรัพยากรธรณี www.dmr.go.th

4.       กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช www.dnp.go.th

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI