มากกว่าที่นอน หมอน มุ้ง...เรื่องของนุ่นกับนักนอน

24 ตุลาคม 2023
|
2330 อ่านข่าวนี้
|
11


มากกว่าที่นอน หมอน มุ้ง  
เรื่องของนุ่นกับนักนอน


รับสมัคร ‘นักนอน’ รายได้ดี 35,000 บาท ต่อเดือน

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 แผนการตลาดนี้เป็นไวรัลชั่วข้ามคืน สร้างกระแสฮือฮาให้กับคนกรุง เมื่อเฟซบุ๊ก Mattress City – Thailand ศูนย์รวมที่นอนและเครื่องนอนครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย ประกาศรับสมัครคนที่มีใจรักในการนอน โดยขึ้นป้ายบิลบอร์ดใหญ่ยักษ์ทั่วกรุงว่ารับสมัคร ‘นักนอน’

ประกาศดังกล่าวเป็นที่สนใจของคนเป็นจำนวนมาก เพราะถือเป็นงานง่าย ใครๆ ก็ต้องการการนอนหลับ แถมนี่เป็นการจ้างนอนหลับที่ได้ผลตอบแทนสูง ปิดประกาศเพียงวันเดียว ปรากฏว่ามีผู้สมัครเข้าทำงานนี้กว่า 10,000 คน

คุณสมบัติของ ‘นักนอน’ ที่ตามหา

คือ ผู้ชื่นชอบการนอนหลับ อายุ 18-55 ปี ไม่จำกัดเพศ รูปร่าง หน้าตา และวุฒิการศึกษา สามารถเดินทางไปโรงแรม/สถานที่ที่กำหนดให้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีสุขภาพแข็งแรง ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว 2 เข็ม ขึ้นไป

‘นักนอน’ จะได้ค่าตอบแทน 35,000 บาทต่อเดือน ทำงาน 5-6 วันต่อสัปดาห์ และทำงานโดยการนอนหลับ ตั้งแต่เวลา 21.00-07.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาการนอนที่ดีที่สุด เพื่อเก็บข้อมูลและความรู้สึกหลังการนอน ของที่นอนหรือชุดเครื่องนอนรุ่นต่างๆ โดยต้องทำคอนเทนต์หรือรีวิว ให้น่าสนใจ

เคยมีคนบอกว่าเรื่องนอนนั้นสำคัญ กับถ้าจะลงทุนอะไรเพื่อตัวเองโดยเฉพาะสุขภาพก็คือการหาที่นอนดีๆ สักหลัง หรือหมอนดีๆ สักใบหนึ่งสำหรับชั่วโมงการพักผ่อน ราตรีนี้อีกยาวไกล...

เราใช้เวลา 1 ใน 3 ของแต่ละวันสำหรับนอน ดังนั้น จึงต้องนอนบนที่นอนและหมอนคุณภาพ ซึ่งสมัยนี้ราคาที่นอนไม่ใช่ถูก โดยเฉพาะที่นอนยางพารา ที่นอนน้ำ ที่นอนใยสังเคราะห์ หรือพิเศษเสริมสปริง

ขนาดที่นอน

ขนาดที่นอนที่มีวางขายอยู่ในท้องตลาด ถ้าเป็นยุโรปเปี้ยนสแตนดาร์ต (European Standard) จะมีอยู่ 4 ไซส์ ด้วยกันคือ Single/Twin ขนาด  2.9 ฟุต x 6.5ฟุต, Euro Double ขนาด  4.4 ฟุต x 6.5 ฟุต, King ขนาด 5.2 ฟุต x 6.5 ฟุต และ Super King ขนาด 5.9 ฟุต x 6.5 ฟุต

หรือถ้าเป็นที่นอนไซส์เอเชีย จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ขนาดมาตรฐาน King Size ขนาด 6 ฟุต X 6.5 ฟุต, Queen Size ขนาด 5 ฟุต X 6.5 ฟุต และ Twin Size ขนาด 3.5 ฟุต X 6.5 ฟุต เลือกขนาดและวัสดุได้ตามอัธยาศัย

ว่าแต่มีใครเคยเจอปัญหาเหมือนกันบ้าง สืบเนื่องจากขนาดของเตียงโบราณที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะเตียงเหล็ก หรือเตียงไม้สัก ที่เราได้รับมรดกตกทอดสืบต่อกันมา มีขนาดไม่เป็นมิตรกับไซส์ที่นอนที่มีวางจำหน่าย 

คงเพราะสมัยก่อนไม่มีการกำหนดความกว้าง-ยาวของเตียงและที่นอนเป็นมาตรฐานเดียวกัน กับคนโบราณนิยมเย็บที่นอนด้วยตนเอง ส่วนใหญ่จะใช้นุ่น โดยวัดขนาดและตัดเย็บที่นอนตามเตียงที่ประกอบขึ้น การสั่งสมความรู้เรื่องการเย็บที่นอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น และสืบทอดต่อกันมายาวนาน จากรุ่นสู่รุ่น  

ต้นนุ่น

ต้นนุ่น เป็นไม้ยืนต้นที่มีฝัก ซึ่งในฝักจะมีนุ่นสำหรับนำมาทำหมอนและเครื่องนอนให้อ่อนนุ่ม ลักษณะของต้นนุ่นจะเหยียดตรง ทั้งลำต้นและกิ่งก้านมีสีเขียว เริ่มออกดอกและติดลูกในหน้าหนาว 

ดอกของต้นนุ่นนำมาทำเป็นผักจิ้มน้ำพริก กินเป็นอาหารได้ เมื่อถึงคราออกดอกและฝัก ก็จะทิ้งใบจนเกือบหมดทั้งต้น เหลือเพียงฝักซึ่งจะมีน้ำหนักและโน้มให้กิ่งลู่ 

ฝักต้นนุ่นเมื่ออ่อนจะมีสีเขียวเช่นเดียวกับเปลือกลำต้น เมื่อเข้าสู่หน้าแล้งฝักนุ่นจะแก่ ฝักแก่ของต้นนุ่นมีสีน้ำตาลด้าน หากไม่สอยมาตากให้แห้งและเก็บไว้ใช้ประโยชน์ ฝักนุ่นที่แก่คาต้นก็จะแตกออกและเมล็ดสีดำของต้นนุ่นซึ่งจะมีปุยนุ่นติดอยู่ตามขั้วเมล็ดก็จะปลิวลอยล่องไปตามลม ตกลงไปที่ใด เมื่อถึงหน้าฝนก็จะงอกและเติบโตอย่างง่ายดาย ต้นนุ่นจึงแพร่กระจายได้ง่ายมาก

เมื่อเข้าสู่หน้าแล้งหลังเกี่ยวและนวดข้าว ฝักนุ่นจะแก่พอดี เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านวางมือจากการทำนาหันไปทำงานสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ทั้งของชุมชน วัด สิ่งสาธารณะ และของตนเอง 

การทำนุ่น ทอผ้า และทำเครื่องนอนหมอนมุ้งนั้นเป็นงานหัตถกรรมสำหรับเด็ก สตรี และกลุ่มแม่บ้านแม่เรือน โดยจะเริ่มจากการช่วยกันไปใช้ไม้ส้าวสอยฝักนุ่นและเขย่าที่กิ่งให้ฝักแก่หลุดจากขั้ว

จากนั้นนำไปตากกลางลานจนแห้งสนิท เมื่อต้องการทำนุ่นก็เพียงเคาะฝักนุ่นกับท่อนไม้ ฝักนุ่นจะแตกออก จากนั้นแกะปุยนุ่นใส่ในเครื่องสาน ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ให้มีตาห่างๆ เนื่องจากในรอบแรกนี้ ปุยนุ่นจะมีเมล็ดนุ่นติดอยู่ด้วย จึงต้องใส่ในตะกร้าขนาดใหญ่เพื่อปั่นให้ปุยนุ่นฟูและเมล็ดหลุดออกไปจนหมด

เมื่อแกะปุยนุ่นติดเมล็ด ใส่ในตะกร้าสานขนาดใหญ่เต็มแล้ว ชาวบ้านจะปั่นนุ่นให้ฟูพร้อมกับแยกเมล็ดออกจากปุยนุ่น ไม้ที่ใช้ปั่นนั้น เป็นเทคโนโลยีและงานหัตถกรรมอย่างง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพมาก 

โดยจะเหลาไม้ไผ่เป็นท่อนยาวขนาดพอเหมาะ ที่ปลายข้างหนึ่งทำไม้ไขว้กันเป็นกากบาทขนาดประมาณ 1 คืบ เพื่อปั่นและตีปุยนุ่น และบางครั้งก็อาจทำเป็นสองจังหวะ โดยทำตรงกลางท่อนไม้อีกที่หนึ่ง

ชาวบ้านจะใช้ไม้ปั่นและตีปุ่ยนุ่นด้านที่มีกากบาทดังกล่าว แหย่เข้าไปในปุยนุ่นในตะกร้านั้น พร้อมกับใช้มือทั้งสองข้างประกบที่ด้ามแล้วปั่นให้กากบาทหมุนกลับไป-มาอย่างต่อเนื่อง 

ก้อนปุยนุ่นเมื่อถูกไม้กากบาทตีก็จะแตกออก เมล็ดนุ่นสีดำสนิท ขนาดประมาณ 2 เท่าของเมล็ดพริกไทยก็จะหลุดลอดออกจากตาห่างๆ ของตะกร้า นำมาแยกใส่กระสอบเพื่อนำไปทำน้ำมันดิบ หรือเพาะปลูกเป็นต้นนุ่นได้ใหม่ และแกนนุ่นที่ได้จากการแยกเรียบร้อยแล้ว นำมาใส่กระสอบเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร เช่น ทำปุ๋ย แปรรูปอาหารสัตว์ เป็นต้น 

สำหรับปุยนุ่นชาวบ้านจะค่อยๆ ปั่นและตีจนฟู อ่อนนุ่ม เสร็จแล้วจะเก็บไว้ในกระสอบและนำนุ่นที่ยังไม่ได้ปั่นมาใส่ตะกร้าชุดใหม่แล้วก็ปั่นต่อไปอีกเรื่อยๆ จนได้ปริมาณที่ต้องการ เมื่อแยกใยนุ่นเรียบร้อยแล้ว จะนำใยนุ่นมาตากแดดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้นุ่นที่มีคุณภาพมากที่สุดในการผลิตหมอน และที่นอนนุ่น

การเย็บที่นอนนุ่น

การเย็บที่นอนนุ่นใช้วัตถุดิบคือผ้าไหมญี่ปุ่น มีคุณสมบัติหนา เงา (ผ้าแจ๊คการ์ด) มีลวดลายบนเนื้อผ้า ระบายอากาศได้ดี ใช้งานทนทาน ความหนาของเนื้อผ้าจะช่วยในการป้องกันฝุ่นคลุ้งได้ ช่วยให้ฝุ่นไม่เกาะติดกับที่นอนง่าย ระบายอากาศได้ดี 

เพราะคุณสมบัติของผ้าเป็นผ้าเงา ช่วยให้เย็น นอนสบาย และใช้งานทนทาน เส้นด้ายที่ใช้ในการทอมาเป็นผืนมีความคงทน แข็งแรง และหนาแน่น ใช้งานได้นานกว่า 5 ปีขึ้นไป 

ที่สำคัญคือที่นอนนุ่นสามารถเลือกหรือกำหนดขนาดได้ สีผ้ามีให้เลือกหลากหลาย ส่วนใหญ่นิยมโทนสีเข้ม เพราะทำความสะอาดง่าย ไม่เปื้อนง่าย โดยเฉพาะสีแดง (ขายดีมาก) สีน้ำเงิน (ขายดีรองลงมา) 

หากเผลอทำที่นอนนุ่นเปรอะเปื้อน สามารถนำออกมาตากแดด กลับหน้า-กลับหลัง และใช้ไม้ตีที่นอนตี อาจมีฝุ่นคลุ้งออกมามากสักหน่อย แต่เมื่อล้มตัวลงนอน เราจะได้สัมผัสถึงกลิ่นหอมนุ่น เหมือนที่นอนเพิ่งทำเสร็จใหม่อย่างไรอย่างนั้น 

การเย็บที่นอนจะต้องมีความประณีต พิถีพิถันด้วยฝีมือการเย็บช ที่นอนแบบชิ้นเดียวส่วนมากนิยมการเย็บเป็นลายข้ามหลามตัด ส่วนที่นอนแบบสามพับแยกชิ้นกัน จะเป็นลายลูกระนาด ที่นอนทุกหลังจะมีลิ้นผ้าด้านในสำหรับเป็นช่องในการเย็บ และยัดให้เกิดลวดลายที่สวยงาม ไม่ยุบตัวและไม่ปวดหลัง

การเย็บที่นอน ชาวบ้านจะนำผ้าที่ต้องการมาเย็บขึ้นรูป แต่ละส่วน ตัดความกว้าง ความยาวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดที่ต้องการใช้ และเผื่อสำหรับเย็บ หรือตัดริมขอบด้วย 

เช่น ถ้าต้องการขนาดกว้าง 90 เซนติเมตร ก็ต้องตัดไปเผื่อประมาณ 105 เซนติเมตร เมื่อทำเสร็จขนาดก็จะเป็น 90 เซนติเมตรพอดี จากนั้นจึงนำผ้าที่เย็บติดกันแล้วมายัดนุ่น

การยัดที่นอนเป็นขั้นตอนที่ยาก และต้องใช้ข้อมือที่แข็งแรง เป็นงานฝีมือของผู้ชำนาญงาน ต้องใช้แรงในการยัดนุ่นใส่ช่องลิ้นผ้าให้แน่น และเสมอกันทั้งพับของที่นอน 

วิธีการคือนำใยนุ่นที่ได้จากการผ่านขั้นตอนปั่นแยก นำมายัดใส่ในที่นอนที่ทำการเย็บเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีลิ้นผ้าคอยกั้นให้เกิดลวดลาย ในการยัดนุ่นจะต้องยัดให้แน่นๆ ด้วยฝีมือของผู้มีความชำนาญงาน เพื่อให้เกิดลวดลายนูนบนที่นอน และที่นอนจะไม่ยุบตัวง่าย เหมาะสำหรับคนที่ปวดหลัง

ต้องทำทีละชิ้นและอย่างเป็นงานศิลปหัตถกรรม อดทน มีสมาธิ หากรีบเร่งและใจร้อนหรือขาดการเรียนรู้ นุ่นที่ยัดใส่หมอนและที่นอนก็จะแข็งและเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ หากใส่น้อยไปและคำนวณไม่ได้ที่ ก็จะเหลวและอ่อนยวบ

กว่าที่จะออกมาเป็นหมอนและเครื่องนอนที่สวยงามและอ่อนนุ่มน่านอนนั้น  มีกิจกรรมที่ออกมาจากชีวิตจิตใจของผู้คนและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังอีกมากมาย การทำนุ่นและเครื่องนอนจึงบ่งบอกความเป็นผู้สังเกต เรียนรู้ มีภูมิปัญญาปฏิบัติ ความเป็นคนเอาธุระ และความเป็นคนทำการทำงาน เป็นแม่บ้านแม่เรือน  

การทำที่นอนนุ่น หมอนนุ่น

นอกจากเป็นกระบวนการเรียนรู้และสั่งสมภูมิปัญญาชาวบ้านไว้ในชุมชนและครัวเรือนแล้ว เราสามารถพัฒนาเป็นองค์ความรู้ชุมชนและพัฒนาเป็นทรัพยากรการจัดการศึกษาเรียนรู้อย่างบูรณาการ เพื่อบรรลุจุดหมายการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม

ส่วน ‘นักนอน’ ถึงเป็นงานง่ายแต่จำเป็นต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ครือกัน นอนอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ นอนอย่างไรให้หลับสนิท นาฬิกาชีวภาพในร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ที่บอกไว้ตอนต้นว่าคนเราใช้เวลานอนประมาณ 1 ใน 3 ของแต่ละวัน ซึ่งเอาเข้าจริงยากมากที่ใครจะทำได้ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เวลาไปกับการนอนมากขนาดนั้น เนื่องจากเรามักใช้เวลาหมดไปกับการกังวลเกี่ยวกับการนอนเสียมากกว่า

ที่นอนนุ่นจึงเป็นอีกทางเลือกที่ภาคภูมิในวิถีหลับใหลของนักนอน


อ้างอิง

  • วิรัตน์ คำศรีจันทร์, เว็บไซต์ GotoKnow 
  • พิจิตรา ชัยชนะ, เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเชียงราย-กรมการพัฒนาชุมชน
0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI