โอต์กูตูร์ แฟชั่นชั้นสูง พลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์ฝรั่งเศส

31 ตุลาคม 2023
|
1126 อ่านข่าวนี้
|
8


โอต์กูตูร์ แฟชั่นชั้นสูง พลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์ฝรั่งเศส

เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่อำนาจ อิทธิพล และความนิยมของผู้คนต่อแฟชั่นโอต์กูตูร์ของฝรั่งเศสไม่เคยเสื่อมคลาย ประจักษ์พยานเด่นชัดก็คืองานปารีส แฟชั่น วีค ในกรุงปารีส ซึ่งจัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานของเหล่าดีไซเนอร์ชั้นนำ ในช่วง Spring/Summer และ Autumn/Winter ของทุกๆ ปี เป็นสุดยอดงานแฟชั่นโชว์ที่ชาวโลกต่างจับจ้องรอคอยชมแฟชั่นอันเลอค่านี้บนรันเวย์อย่างจดจ่อ จนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลัง ดังที่เจ้าพ่อดีไซเนอร์แห่งตำนานแฟชั่นอย่างคาร์ล ลาเกอร์เฟล (Karl Lagerfeld) ของชาแนล เคยกล่าวเอาไว้ว่า  “ประเทศอื่นเขามีรถ แต่ประเทศฝรั่งเศสเรามีแฟชั่นชั้นสูงและฝีมือการตัดเย็บที่ดีที่สุด”

  

คำนิยามของ โอต์กูตูร์

อย่างไรก็ตาม ก่อนแฟชั่นโอต์กูตูร์จะทรงพลังและกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศได้นั้น ดีไซเนอร์ของฝรั่งเศสต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตนเองอย่างยาวนาน โดยนิยามของ โอต์กูตูร์ (Haute แปลว่า ระดับสูง และ Couture แปลว่า การตัดเย็บ) หมายถึง การรังสรรค์เครื่องแต่งกายให้กับผู้สวมใส่ด้วยกรรมวิธีที่ซับซ้อน ใช้ช่างฝีมือที่มีความสามารถชั้นสูงในการเก็บรายละเอียดอย่างประณีตบรรจงที่สุด งานโอต์กูตูร์ทุกชิ้นต้องตัดเย็บด้วยมือตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย และใช้สัดส่วนของผู้สวมใส่เป็นมาตรวัดอย่างเฉพาะเจาะจง เพราะเป็นงานสั่งตัดเท่านั้น ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อมุ่งเน้นสวมใส่ในชีวิตประจำวัน แต่เป็นการโชว์ศักยภาพและฝีมือของการสร้างสรรค์ การตัดเย็บแต่ละชุดจึงต้องใช้ทีมงานจำนวนมากและกินเวลานานสำหรับการตัดเย็บเพียงหนึ่งชุด เมื่อมีการจัดแสดงบนเวทีแฟชั่นวีคแต่ละครั้งก็มักจะมีการฟิตติ้งกันไม่ต่ำกว่า 3 รอบ เพื่อให้ชิ้นงานมีความแม่นยำทุกสัดส่วน และอลังการตระการตาสมความยิ่งใหญ่ ความโดดเด่นเหล่านี้เอง ทำให้โอต์กูตูร์เป็นศิลปะแห่งแฟชั่นชั้นสูงที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลก และก่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่ามหาศาลให้กับฝรั่งเศส เนื่องจากชุดโอต์กูตูร์มีราคาสูงลิ่ว แต่ผู้หลงใหลในแฟชั่นนี้ก็ยินดีจ่าย เพื่อแลกกับชิ้นงานโดดเด่นอันเต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณที่ประเมินค่ามิได้

ต้นกำเนิดของ โอต์กูตูร์
ส่วนจุดกำเนิดของโอต์กูตูร์ ตามประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แต่เวลานั้นไม่มีการจัดระเบียบอย่างชัดเจน จนต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 หลังชาร์ลส์ เฟรเดอริก เวิร์ธ (Charles Frederick Worth) นักออกแบบชาวอังกฤษย้ายจากลอนดอนบ้านเกิดไปทำงานยังกรุงปารีส ในปี ค.ศ.1846 และมุ่งมั่นฝึกฝนตนเองเต็มที่ เขาก็ได้เปิดอาณาจักรโอต์กูตูร์ขึ้นอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ.1858 ภายใต้ชื่อ Worth and Bobergh (House of Worth) บนถนน 7 Rue de la Prix ใจกลางกรุงปารีส เพื่อตัดเย็บเสื้อผ้าโอต์กูตูร์สำหรับลูกค้าที่ต้องการความหรูหรา ประณีต และมีรูปแบบเฉพาะไม่ซ้ำใคร ด้วยฝีมือการออกแบบอันสร้างสรรค์จากจินตนาการและความคิดที่เสรี โดยมีจักรพรรดินี สมาชิกราชวงศ์ เซเลบบริตี้ และดาราในและต่างประเทศเป็นลูกค้ามากมาย เขาจึงถือเป็นกูตูริเยร์ (Couturier) คนแรกของโลก และเป็นบิดาแห่งโอต์กูตูร์ ที่ส่งให้อุตสาหกรรมแฟชั่นโอต์กูตูร์ของฝรั่งเศสโด่งดัง กระทั่งยกระดับเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลัง  

   

สมาชิกสมาคมโอต์กูตูร์

แต่กว่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลัง นอกจากฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าดีไซเนอร์ บวกกับการพัฒนานวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่งแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสยังให้การสนับสนุนแฟชั่นโอต์กูตูร์เป็นอย่างดี โดยการก่อตั้งสมาคมโอต์กูตูร์ หรือ Chambre Syndicale de la Haute Couture ขึ้น ในปี ค.ศ.1868 (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ The Federation de la Haute Couture et de la Mode : FHCM) เพื่อส่งเสริมประเทศให้โดดเด่นด้านการรังสรรค์แฟชั่นชั้นสูง ด้วยการสร้างระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์ด้านคุณสมบัติในการเป็นห้องเสื้อโอต์กูตูร์อย่างเข้มงวด จากนั้นในปี ค.ศ.1921 สื่อฝรั่งเศสก็มีการก่อตั้งองค์กร PAIS (L’Association de Protection des Industries Artisiques Saisonnieres) เสริมอีก เพื่อทำหน้าที่ปกป้องลิขสิทธิ์ของผลงานแต่ละชิ้น ด้วยการบันทึกภาพและจารึกรายละเอียดทางเทคนิคอย่างเป็นทางการ  

สมาชิกสมาคมโอต์กูตูร์ยุคปัจจุบัน 

นอกจากนั้น การที่แฟชั่นเฮ้าส์แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะเป็นสมาชิกสมาคมโอต์กูตูร์ได้ ยังต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส และมีสำนักงานหลักอยู่ในฝรั่งเศสอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสมาคมฯ อยู่เพียง 16 แบรนด์เท่านั้น อาทิเช่น อาดลีน อังเดร (Adeline Andre), ชาแนล (Chanel), คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior), จีวองชี (Givenchy), ฌอง ปอล โกลติเยร์ (Jean Paul Gaultier) เป็นต้น ส่วนแบรนด์ที่จะเข้าร่วมนำเสนอผลงานบนเวทีปารีส แฟชั่น วีค และสัปดาห์แห่งโอต์กูตูร์ได้นั้น นอกเหนือจากสมาชิกสมาคมฯ แล้ว ก็จะมีเฉพาะแบรนด์ที่เป็น Corresponding Members หรือกลุ่มแฟชั่นเฮ้าส์ที่มีกระบวนการผลิตและตัดเย็บเข้าข่ายมาตรฐานของโอต์กูตูร์ แต่ไม่มีสำนักงานหลักอยู่ในฝรั่งเศส กับแบรนด์ในฐานะ Guest Members หรือกลุ่มแฟชั่นเฮ้าส์ที่ได้รับเชิญเป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเท่านั้น  

จากการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและมีแบบแผนเช่นนี้ ทำให้แฟชั่นโอต์กูตูร์ของฝรั่งเศสเติบโตและทรงอิทธิพลไม่เสื่อมคลาย อีกทั้งยังมีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด เปิดขายลิขสิทธิ์การออกแบบให้กับแบรนด์ Ready-to-Wear และห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์หรือพัฒนาให้มีราคาย่อมเยาลง แต่สามารถสร้างฐานผู้บริโภคได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นโอต์กูตูร์ของฝรั่งเศสมีขนาดมหึมา จนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลังมาตราบทุกวันนี้

#โอต์กูตูร์ #แฟชั่นชั้นสูง #ปารีสแฟชั่นวีค #ซอฟต์พาวเวอร์ฝรั่งเศส #hautecouture #softpower #okmd #knowledgeportal #okmdKnowledgePortal #กระตุกต่อมคิด


ข้อมูลอ้างอิง : www.en.m.wikipedia.org, https://www.harpersbazaar.com/uk/fashion/fashion-news/news/a31123/the-history-of-haute-couture/, https://www.palaisgalliera.paris.fr/en/work/day-dress-maison-worth-bobergh, www.retaildogma.com 

ภาพอ้างอิง : https://en.m.wikipedia.org/wiki/Charles_Frederick_Worth https://www.cohassethistoricalsociety.org/ga-essays/paris-worth Franz Xaver Winterhalter https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4219310 https://allthatsstylist.com/fashion/designers/charles-frederick-worth/ 

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI