5 ทีม EdTech น่าจับตามอง เสริมความแข็งแกร่งการศึกษาไทย

5. Mindport แพลตฟอร์มจัดเก็บประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิต
จากทีม Mindport : รางวัลชมเชย
ทีม Mindport
พัฒนานวัตกรรมเชิงกระบวนการและนวัตกรรมเชิงระบบที่มีฟีเจอร์ “PORT”
ซึ่งเป็นการบูรณาการนวัตกรรมเชิงกระบวนการและระบบที่ให้ผู้ใช้สะท้อนความคิด
และจัดเก็บประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีความสำคัญ จุดแข็งของทีมคือประสบการณ์สอนทำพอร์ตโฟลิโอ
(Portfolio) ให้แก่ทั้งนักเรียนไทยและนักเรียนต่างประเทศมามากกว่า
8 ปี และ 3 เดือนก่อนหน้า Final Pitching ยังได้มีโอกาสสอนน้องกลุ่มเปราะบางที่ต้องแลกเวลาการเรียนไปกับการทำงาน
ทำให้ขาดโอกาส ขาดความมั่นใจ และขาดวิธีการนำเสนอเพื่อสะท้อนประสบการณ์ของตัวเองให้โดดเด่นเป็นที่น่าสนใจ
โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ทำให้นักเรียนและครูสามารถเข้ามาทำงานร่วมกัน ให้เด็กทุกคนสามารถเข้ามาจัดเก็บประสบการณ์จากทุกที่ เข้าถึงความช่วยเหลือ และแชร์ผลงานของตัวเองให้แก่มหาวิทยาลัยและองค์กรต่าง ๆ ได้สะดวกตรงความต้องการ ซึ่งในมุมของนักเรียนแพลตฟอร์มนี้มีข้อดีตรงที่สามารถเข้ามาเขียนประสบการณ์ของตนเองในแต่ละครั้งได้ โดยจะมีครูหรือเอไอ (AI) ช่วยสอน และแนะนำแนวทางการเขียนและแนวทางการวางเป้าหมายในอนาคต จนออกมาเป็นพอร์ตโฟลิโอที่ใช้สมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา หรือองค์กรต่าง ๆ ได้ครบกระบวนการ สำหรับในมุมผู้สอน แพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาช่วยเหลือด้วยเทคโนโลยี Generative AI ที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นครูผู้ช่วยสอน เป็นไลฟ์โคชส่วนตัว และอื่น ๆ อีกมาก ขึ้นอยู่กับคำสั่งที่ใช้ที่จะออกแบบคู่กับผู้เชี่ยวชาญ
แพลตฟอร์มนี้จะช่วยปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
โดยมีการทดสอบกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
(กสศ.) และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการนำไปใช้บันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียน
พบว่าช่วยลดเวลาตรวจงานของครูถึง 300 เท่า เพิ่มเวลาอยู่กับนักเรียนถึง 90% ลดความเหลื่อมล้ำในการทำพอร์ตโฟลิโอถึง
98% ลดค่าใช้จ่าย 100,000 บาท เหลือเพียง 1,300 บาทต่อปี หรือวันละ
3 บาท และเพิ่มคุณภาพทางการศึกษาให้ผู้เรียนเข้าใจตัวเอง กระบวนการเรียนรู้ของตัวเองและสังคม
อย่างไรก็ตามกลุ่มนักเรียนเป็นเพียงกลุ่มแรกที่ทดลองใช้ ในอนาคตอาจเปิดโอกาสให้ทุกคนที่รักในการเรียนรู้ได้เข้าใช้บริการ
ที่อาจนำไปสู่การให้บริการฟรี
ปัจจุบันแพลตฟอร์มอยู่ในระดับแบบจำลอง (Prototype) เตรียมพัฒนาไปสู่ระดับธุรกิจต่อไป (Above) จากเกณฑ์ 3 ระยะของการพัฒนาโครงการ ได้แก่ ระยะไอเดียตั้งต้น (Idea) ระยะแบบจำลอง (Prototype) และระยะพัฒนาไปสู่ธุรกิจในอนาคต (Above)
4. นวัตกรรม Simulation เรียนรู้ด้านหุ่นยนต์ที่เข้าถึงง่าย
ราคาประหยัด จากทีม RoboPark : รางวัลชมเชย
พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีจำนวนการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมอันดับที่
11 ของโลก จัดอยู่ในอันดับ 5 ของทวีปเอเชีย และเป็นอันดับ
1 ของอาเซียน แต่ทั้งที่มีการใช้งานหุ่นยนต์มากขนาดนี้
กลับมีผู้ที่มีความรู้และทักษะด้านหุ่นยนต์เพียง 5% เท่านั้น
จากประสบการณ์และข้อมูลที่ทีมรวบรวมพบว่ามีเด็ก ๆ หลายกลุ่มที่ชื่นชอบหุ่นยนต์แต่ไม่ได้รับโอกาส
สมาชิกในทีมจึงได้เริ่มต้นโปรเจกต์ “RoboPark” แพลตฟอร์มที่จะเข้ามามีส่วนช่วยให้ทุกคนเข้าถึงหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้น
เพื่อช่วยลด 3 อุปสรรคหลักในการเรียนรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์
ได้แก่ 1. ความรู้เรื่องหุ่นยนต์ยังเข้าถึงได้ยาก 2.
การเรียนที่เกี่ยวกับความรู้ด้านหุ่นยนต์มีราคาแพง และ 3. การขาดแรงจูงใจที่มากพอ เช่น เวทีแข่งขันและเงินรางวัลจากการแข่งขันที่ค่อนข้างน้อย
โดยเฉพาะหากผู้เรียนศึกษาในโรงเรียนในจังหวัดที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงขาดแคลนผู้สอนที่มีทักษะและอุปกรณ์
ด้วยโมเดลตั้งต้นอยู่ที่เพียง 499 บาท นวัตกรรมของทีมเป็นการใช้ Simulation ซึ่งมีความสมจริง ทำให้สิ่งที่เรียนสามารถนำมาใช้กับของจริงได้โดยแทบไม่ต้องปรับโคดใหม่ และช่วยให้เด็กเรียนรู้โดยใช้หลัก STEM ได้ในโปรแกรมเดียว มีฟีเจอร์ในการแข่งขันที่สามารถเปิดให้ผู้อื่นเข้ามารับชมได้แบบเรียลไทม์ และช่วยเปิดโลกจินตนาการของเด็ก ๆ ด้วยฟีเจอร์เมกเกอร์ที่ช่วยให้สามารถออกแบบหุ่นยนต์ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการแข่ง และในอนาคตยังสามารถสั่งประกอบหุ่นยนต์ที่เด็ก ๆ ออกแบบมาสู่โลกจริง มีแดชบอร์ด (Dashboard) นำข้อมูลสำคัญมาสรุปให้เห็นภาพในหน้าเดียว ให้เด็ก ๆ ทำพอร์ตโฟลิโอสำหรับเรียนในลำดับชั้นต่อไป ทั้งยังสามารถเลือกเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียได้ในคอมมูนิตีเดียวกัน
จากการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจมากที่สุด โดยจะเริ่มนำแพลตฟอร์มเข้าสู่ตลาดโรงเรียนก่อนก้าวสู่ตลาดออนไลน์ที่จะมีการจัดการแข่งขันออนไลน์ และก้าวสู่ด้านฮาร์ดแวร์ต่อไป ทั้งนี้ RoboPark ทีมที่มีประสบการณ์ทั้งการเรียน การสอน รวมถึงการแข่งที่ได้รางวัลทั้งระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมนี้คาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาด้านหุ่นยนต์ให้แก่เด็กได้มากถึง 30%
ปัจจุบันแพลตฟอร์มอยู่ในระดับเตรียมพัฒนาในรูปแบบธุรกิจต่อไป (Above)
3. AIThaiGen สอนเอไอให้ง่ายต่อการเข้าถึงและเรียนรู้
จากทีม Aim Global Innovation : รองชนะเลิศอันดับ
2
ทีม Aim
Global Innovation ที่นำเสนอโดย รศ. ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ จากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กล่าวว่าปัจจุบันเราทุกคนกำลังเข้าสู่ยุคเอไอเต็มตัว ในฐานะที่เป็นทั้งคุณแม่ลูกสองและเป็นอาจารย์ผู้สอนทำให้ได้พบหลายคำถามเกี่ยวกับวิชาที่ควรเลือกเรียนเพื่อให้มีงานทำในไม่กี่ปีข้างหน้า
จากที่มีการคาดการณ์ว่าอีก 5 ปีเอไอจะเข้ามาแย่งงาน และมีมากกว่าล้านตำแหน่งที่จะหายไป
สำหรับประเทศไทย
เมื่อสำรวจเข้าไปเฉพาะกลุ่มเด็กที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับคนทำงานที่ต้องอัปสกิลและรีสกิลราว
12 ล้านคน หากทุกคนไม่ปรับตัวย่อมมีแนวโน้มที่จะตกงานได้
ประกอบกับปัจจุบันผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนยังไม่ได้สร้างทัศนคติในเชิงบวกว่าการเรียนเอไอนั้นไม่ได้ยากเกิน
ดังนั้น AIThaiGen จึงถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยนับเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้และใช้งานปัญญาประดิษฐ์ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
เนื่องจากมีเนื้อหากระชับและเข้าใจง่าย มีกิจกรรมให้ได้ฝึกทำ เช่น การเขียนโปรแกรมภาษาไพทอน
การใช้เอไอควบคุมหุ่นยนต์ให้ทำตามคำสั่ง การสร้างโมเดลเอไอควบคุมหุ่นยนต์ให้ทำตามคำสั่งต่าง
ๆ และการสร้างโมเดลเอไอด้วยตนเอง โดยเน้นคอนเซปต์ FUN FAST FRIENDLY ให้ผู้เรียนรู้สึกสนุก ไม่เป็นเรื่องยาก และเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยกระตุ้นความคิดเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เอไอกับงานด้านต่าง
ๆ ในอนาคต
เวลานี้
AIThaiGen ผ่านการทดสอบว่าช่วยลดเวลาเรียนได้จริงในครึ่งเทอมแรกเพื่อให้สามารถใช้เวลาอีกครึ่งเทอมเพื่อทำโปรเจกต์
มีผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการ ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์จากสภาวิจัยแห่งชาติ ได้เผยแพร่ผลงานผ่านทาง
Tokyo English Channel และได้ทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน
และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ในการจัดอบรมให้แก่ครู นักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยม อาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป
โดยคาดหวังที่จะเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศจากทีมที่มีความพร้อมรอบด้าน ได้แก่
อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ โปรแกรมเมอร์ที่ได้รางวัลการแข่งขันระดับสากลและมีประสบการณ์สอนการเขียนโคดให้เด็ก
ๆ เป็นเวลาหลายปีผ่านโรงเรียน Ninja Coding Space
ปัจจุบันแพลตฟอร์มอยู่ในระดับที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาในรูปแบบธุรกิจต่อไป (Above) โดยผู้เรียนสามารถเข้าใช้งานทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต ผ่านทางเว็บไซต์ aithaigen.in.th
2. แพลตฟอร์มส่งเสริมการเรียนรู้โคดดิงรูปแบบเกมสำหรับเยาวชน
จากทีม CodeVenture : รองชนะเลิศอันดับ 1
โคดดิง
(Coding) หรือการเขียนโปรแกรม เป็นทักษะสำคัญในทศวรรษที่
21 เทรนด์อาชีพไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคตล้วนมีเรื่องโคดดิงเข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นหนึ่งทักษะในการทำงานในชีวิต
(Life Skills) ที่มีลำดับขั้นตอนกระบวนการคิดเข้ามาร่วมด้วยในการเรียน
อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยเพื่อสำรวจมุมมองผู้สอนและผู้เรียนพบว่ายังคงมีปัญหาหลัก
3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 1. ผู้สอนและผู้เรียนไม่สามารถเข้าถึงหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานระดับสากลได้
2. ขาดผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนโคดดิง 3. ยังขาดการเรียนการสอนที่สนุก
เข้าใจง่าย และสร้างพื้นที่ให้เด็ก ๆ รักการเรียนโคดดิง
จากปัญหาเหล่านี้
ทีม CodeVenture จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มส่งเสริมการเรียนรู้โคดดิงในรูปแบบเกมสำหรับเยาวชน
โดยมีหลักสูตรที่มีคุณสมบัติดังนี้ 1. มีความเป็นมาตรฐานระดับสากล
2. ใช้พลังของเอไอมาคอยช่วยให้คำแนะนำรายบุคคล อธิบายบทเรียน
คอยตอบคำถามให้กับนักเรียนที่สงสัย เป็นเหมือนผู้ช่วยครูที่จะมาช่วยลดภาระผู้สอน
และ 3. มีระบบติดตามการเรียนรู้ของนักเรียน (Real-Time
Tracking) เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะมีแดชบอร์ดคอยวิเคราะห์การเรียนของนักเรียนในห้องเรียนว่าเวลานี้เด็ก
ๆ ทำแบบไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ของแบบฝึกหัด ติดปัญหาที่ข้อไหน ตามเพื่อนทันหรือไม่ เพื่อให้ครูสามารถเข้าถึงและดูแลนักเรียนได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว
สำหรับค่าบริการในการใช้งานอยู่ที่ 1,200 บาทต่อคนต่อปี
เป้าหมายในปีแรกเริ่มจาก 5 โรงเรียน ซึ่งมีผู้ใช้งานราว 1,350
คน นอกจากบทเรียนที่ได้สร้างเองแล้วยังมีอีกจุดแข็งคือทีมมีประสบการณ์ในการสร้างแพลตฟอร์มโคดดิงสำหรับเด็กมาแล้วกว่า
3 ปี และยังมีผู้ใช้งานที่อยู่ในแพลตฟอร์มมากกว่า 70,000 คน
ปัจจุบันแพลตฟอร์มอยู่ในระดับแบบจำลอง (Prototype) เตรียมพัฒนาไปสู่ระดับธุรกิจ (Above)
1. แอปพลิเคชัน AI English Coach พัฒนาโดยสตาร์ทอัพ Edsy จากทีม EdSpeak : รางวัลชนะเลิศ
จากที่ทีม
EdSpeak ได้พูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนกว่า 100 แห่ง พบว่าปัญหาที่ทำให้เด็กไทยยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้
แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะเริ่มผลักดันให้เน้นการเรียนเพื่อการสื่อสารมากขึ้น
ครูต่างชาติมีจำนวนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้ฝึกพูดและรับคำชี้แนะเป็นรายบุคคลอย่างเป็นประจำ
ผู้บริหารสถานศึกษาต่างๆ จึงมองหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนนี้
ตรงกับเว็บแอปพลิเคชัน EdSpeak ที่ทีมกำลังพัฒนา
EdSpeak ทีมรางวัลชนะเลิศมาพร้อมเป้าหมายที่จะช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนทั่วประเทศได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษพร้อมรับคำชี้แนะรายบุคคลอย่างเป็นประจำ
เริ่มต้นจากเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีประสบการณ์ราว 3 ปี
โดดเด่นด้วยเนื้อหาทั้ง General English และตามสายอาชีพ
(English for Specific Purpose) ที่มาในรูปแบบแบบฝึกหัดคำถามปลายเปิดให้นักเรียนอัดเสียงตอบคำถาม
โดยมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ AI Coach แนะนำคำศัพท์
รูปประโยค ไวยากรณ์ และการออกเสียงที่ถูกต้อง โดยมีการปรับให้เข้ากับการใช้งานของคนไทยเป็นหลัก
เช่น คำนึงถึงสำเนียงวิธีการพูดแบบคนไทยที่ถูกต้องผ่านการวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีแนวทางในการต่อยอดในรูปแบบการประเมินผลขณะที่เกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การปรับปรุง
(Formative Assessment) เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถฝึกฝนและพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษต่อไปได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่เพียงการประเมินผลเพื่อสรุป
(Summative Assessment) แล้วจบกระบวนการเท่านั้น
ปัจจุบันได้นำร่องไปแล้วกับนักเรียน 3,000 คน
ในโรงเรียนกว่า 50 แห่ง
ผ่านความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักการศึกษา กทม.
และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระยองโดยตั้งเป้าที่จะขยายผลให้ถึง 30,000 คนใน
พ.ศ. 2567 เพื่อให้เยาวชนไทยในวงกว้างสามารถพูดภาษาอังกฤษได้จริง
พร้อมสำหรับโอกาสในอนาคต
ปัจจุบันแพลตฟอร์มอยู่ในระดับที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาในรูปแบบธุรกิจต่อไป (Above)
นับเป็น 5 ทีม EdTech ที่น่าจับตามอง ชื่นชม
และสนับสนุน ท่ามกลางผู้เข้าแข่งขันอีกหลายทีมที่มีศักยภาพและอยู่ในกระบวนการพัฒนาในลำดับต่อไปในอนาคต
ซึ่ง OKMD และ 88 SANDBOX หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดกิจกรรมการแข่งขันครั้งนี้จะช่วยผลักดัน
ต่อยอดความสำเร็จของเหล่าสตาร์ทอัพไทยในอนาคต และเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมด้านการศึกษาไทย
#นวัตกรรมการศึกษา #นวัตกรรม #การศึกษา #สตาร์ทอัพ
#เอไอ #EdTech #FinalPitching #EdSpeak
#CodeVenture #AIThaiGen #RoboPark #Mindport #StartUp #AI

