ผู้สูงอายุกับอนาคตของสมาร์ทวอช

06 ธันวาคม 2023
|
1013 อ่านข่าวนี้
|
15


ผู้สูงอายุกับอนาคตของสมาร์ทวอช

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า เวลานั้นประเทศไทยมีผู้สูงอายุราว 10.4% จนกระทั่งปัจจุบันตัวเลขกระเถิบขึ้นมามากกว่า 20% ซึ่งถือว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ นั่นคือมี คนแก่อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

คำว่าผู้สูงอายุ (Older person) ขององค์การสหประชาชาติ หมายถึงประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ซึ่งก็ตรงกับนิยามผู้สูงอายุของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ ..2546

องค์การสหประชาชาติ แบ่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ
  • ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์  (Aged society) หมายถึง มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ
  • ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึง มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

กระแสเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นไม่ได้มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นอาจเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกประชากรที่มีอายุมากขึ้นทำให้รูปแบบของการดำเนินธุรกิจและสินค้าบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปหนึ่งในนั้นที่เราจะมองข้ามไม่ได้เลย ก็คือ สมาร์ทวอช หรือจะแปลเป็นไทยคือ นาฬิกาอัจฉริยะ ในที่ผู้เขียนขอใช้สมาร์ทวอชเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย เพราะเป็นภาษาที่ใช้กันโดยทั่วไป   

ปัจจุบันสมาร์ทวอชกลายเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีผู้ใช้งานมาสมาร์ทวอชมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก จากการสำรวจของ AAPR (American Association of Retire Person) หน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับประชากรหลังเกษียณอายุการทำงาน พบว่าคนกลุ่มนี้เปิดใจยอมรับในการใช้สมาร์ทวอชเพิ่มมากขึ้น คาดการณ์ว่าในอนาคต 5 ปีต่อจากนี้กลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ใช้งานนาฬิกาอัจฉริยะมากขึ้นกว่านี้

ซึ่งปัจจุบัน ถ้าหากไปดูการเก็บข้อมูลของ eMarketer บริษัทวิจัยด้านการตลาดที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับตลาดของผู้ใช้นาฬิกาอัจฉริยะเมื่อปี 2019 พบว่า

  • ประชากรชาวอเมริกันกว่า 60.5 ล้านคนใส่สมาร์ทวอชเป็นประจำ ในจำนวนนี้ 8.2 ล้านคน คือผู้ที่มีอายุเกิน 55 ปีใส่สมาร์ทวอชในชีวิตประจำวันเป็นประจำ ซึ่งคิดเป็นส่วนมากที่สุดของผู้ใช้งานเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ
  • รองลงมาคือกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ตามมาด้วยกลุ่มอายุ 45-50 ปีมีสัดส่วนอยู่ที่ 13.4 เปอร์เซ็นต์

แต่นับตั้งแต่เริ่มการเก็บข้อมูลนี้ในปี 2017 เป็นต้นมา ก็พบว่าตัวเลขของการใช้สมาร์ทวอชในสหรัฐอเมริกามีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยังพบด้วยว่า ใน 5 ปีต่อจากนี้คนที่ใช้สมาร์ทโฟนอยู่แล้ว มีแนวโน้มที่จะใช้สมาร์ทวอชควบคู่ไปด้วยโดยเฉพาะปัจจุบันความสามารถของสมาร์ทวอชสามารถทำได้หลายอย่าง มีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่นานมากขึ้น มีจอใหญ่ขึ้น และมีคุณสมบัติด้านสุขภาพที่มากขึ้นทั้งหมดนี้เป็นแรงผลักดันให้ตลาดสมาร์ทโฟนโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทวิจัยการตลาดการ์ทเนอร์ (Gartner) คาดว่ามูลค่าการตลาดของสมาร์ทวอชเมื่อปี 2021 น่าจะสูงถึง 81,5000 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท) และมีความเป็นไปได้ว่าภายในปีถึงปี 2024 มูลค่าของตลาดนี้อาจ ทะลุ 100,000 ล้านดอลลาร์ (3.3 ล้านล้านบาท) ได้ไม่ยาก  

กลุ่มที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป อาจไม่ได้เป็นกลุ่มที่ซื้อหลักๆ เพราะเนื่องจากว่ากลุ่มนี้ยังคงเป็น กลุ่มที่รับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ไม่รวดเร็วมากนัก เมื่อเทียบกับคนในเจนเนอเรชั่นอื่น แต่มีแนวโน้มที่จะใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเนื่องจากคนในครอบครัวเห็นความจำเป็นในการให้ผู้สูงอายุสวมใส่สมาร์ทวอช เพื่อติดตามความเคลื่อนไหว คอยสอดส่องเรื่องสุขภาพต่างๆ และสามารถแชร์ข้อมูลนี้ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ด้วย 

ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์หลายอย่างโดยเฉพาะหากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว ที่ต้องตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในร่างกายอยู่ตลอด ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ ความเคลื่อนไหวอย่างฉับพลันหรือหากเป็นกลุ่มที่เริ่มมีอาการของโรคสมองเสื่อม การสวมใส่นาฬิกาอัจฉริยะเหล่านี้สามารถช่วยติดตามตัวได้ว่าคนเหล่านี้อยู่ที่ใดหากเกิดการพลัดหลง

หากจะนับว่าสมาร์ทวอชเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ถ้าไม่นับรวมนาฬิกาดิจิทัลที่สามารถจับเวลาได้ วัดความสูงของอากาศ บอกอุณหภูมิได้ แต่เป็นนาฬิกาอัจฉริยะ ที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ตั้งเตือนเมื่อเรานั่งนานจนเกินไป ก็ต้องบอกว่าเริ่มเมื่อปี 2000 มานี้เอง แต่จุดเปลี่ยนของธุรกิจสมาร์ทวอชอยู่ที่การมาถึง แอปเปิ้ลวอช (Apple Watch) ในปี 2014 ที่ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นแม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีหลายแบรนด์ที่วางตลาดสินค้ากลุ่มนี้ก่อนไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง เพบเบิ้ล (Pebble) โมโตโรลา (Motorolla) แต่ไม่มีใครสร้างปรากกฎการณ์เท่ากับแอปเปิ้ล ปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาด ยังเป็นของ แอปเปิ้ล ตามมาด้วย ซัมซุงและหัวเหว่ย (Huawei) แบรนด์จากประเทศจีน การเติบโตของสมาร์ทวอช

การสำรวจของยูโรมอนิเตอร์เมื่อปี 2016 ในประเทศญี่ปุ่นสมาร์ทวอชเติบโตอย่างมาก และ Apple Watch ก็กลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้สูงอายุนิยมใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้ค่อนข้างดี มีการศึกษาสูงและใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางบวกกับการใช้สมาร์ทวอชและคิดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยในการกระตุ้น การสร้างสุขวินัยที่ดีขึ้นได้

ปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตบางแห่ง เสนอให้ผู้เอาประกันสวมใส่สมาร์ทวอช เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลและตรวจสอบสุขภาพของผู้ที่เอาประกันฯ ผ่านกิจกรรมที่พวกเขาสามารถวัดได้ จากการสวมใส่สมาร์ทวอช ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่สมาร์ทวอชทุกแบรนด์เก็บอยู่แล้ว โดยเฉพาะแอปเปิ้ลและ ฟิตบิต (Fitbit) ที่รุกตลาดการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานแบบบิ๊ดาต้าเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และแชร์ข้อมูลกับนักพัฒนาแอปพลิเคชัน 

การเพิ่มโหมดในการออกกำลังกายที่หลากหลายมากขึ้นส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เห็นกิจกรรมของผู้ใช้งานที่ละเอียดมากขึ้นและวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับอุปกรณ์หรือเครื่องออกกำลังกายอื่นๆ รวมไปถึงหาข้อมูลเพื่อคำนวนความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากกิจกรรมต่างๆ แอปเปิ้ลเป็นแบรนด์แรกที่มองเห็นโอกาสนี้และมีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน Health ของตัวเองราวปี 2016 และร่วมมือกับสถานศึกษา ศูนย์วิจัยทางการแพทย์ต่างๆ ทั่วโลกเพื่อเก็บข้อมูลและพัฒนาขีดความสามารถในการหาทางรักษาโรค การป้องกันโรคต่างๆ ข้อมูลพวกนี้เป็นประโยชน์และมันกำลังจะก้าวไปอีกขั้นเมื่อมันสามารถช่วยเหลือผู้ใช้งานเมื่ออยู่ในภาวะวิกฤตได้

เว็บไซต์ macrumors.com บอกว่าแอปเปิ้ล กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรสำหรับการเปลี่ยนสมาร์ทวอชให้กลายเป็นเครื่องมือทางการแพทย์มากขึ้นโดยแอปเปิ้ลจดสิทธิบัตรในชื่อ Care event detection and alertฮาร์ดแวร์ตัวนี้สามารถตรวจจับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเมื่อผู้สวมใส่ต้องการความช่วยเหลือแบบฉุกเฉินจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น ตำรวจ การช่วยเหลือทางการแพทย์ พนักงานดับเพลิงหรือการช่วยเหลืออื่นๆ โดยเครื่องมือนี้สามารถตรวจสอบจากอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน จากนั้นจะส่งสัญญาณเตือนไปยังคนที่คุณตั้งไว้ว่าให้ติดต่อเป็นคนแรก ซึ่งปัจจุบันเราได้เห็นฟังก์ชันนี้แล้วและตอนนี้ก็มีผู้พัฒนาแอปพลิเคชันบางรายเริ่มพัฒนาเรื่องการเตือนภัยแบบนี้ในผู้สูงอายุเพื่อการใช้งานที่ง่ายมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของแอปเปิ้ลว่าสมาร์ทวอชไม่ใช่แค่เครื่องประดับหรือเครื่องมือในการวัดการออกกกำลังกายนั้น มีข้อมูลสนับสนุนเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยเพราะจากการเก็บข้อมูลของ eMarketer ก็พบว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้กับร่างกายหรือ Wearable device นั้น พบว่าสมาร์ทวอชอยู่ในอันดับสอง จะเป็นรองก็แค่เครื่องช่วยฟังเท่านั้น และตัวเลขน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่แบรนด์แอปเปิ้ลเท่านั้นที่เห็นโอกาส แบรนด์ซัมซุงของเกาหลีใต้ที่เริ่มวางตลาดสมาร์ทวอชของตัวเองมาก่อนแอปเปิ้ลก็พัฒนาความสามารถของสมาร์ทวอชของตัวเอง เช่น ความสามารถในการวัดมวลกล้ามเนื้อ และ การจับสัญญาณของการหยุดหายใจหระหว่างการนอนหลับ (Sleep Apnea) และการที่กูเกิ้ลเข้าซื้อกิจการของฟิตบิท ก็ย่อมส่งสัญญาณถึงความเอาจริงของการลงทุนในตลาดสมาร์ทวอชอย่างจริงจังมากขึ้นกว่าเดิม 

แล้วเราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ต่อจากนี้บ้างไหมในสมาร์ทวอช บอกตามตรงว่ายังไม่ทราบได้แต่ที่แน่ๆ ผู้บริโภคคาดหวังความสามารถที่มากขึ้น

Consumer Technology Association สอบถามผู้ใช้สมาร์ทวอชในปี 2020 ว่าฟังก์ชันอะไรที่พวกเขาคาดหวังจะเห็นต่อไปในสมาร์ทวอช 55% บอกว่าต้องการเอาไว้ดูความดันโลหิตซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ซึ่งอยู่ที่ 4649% บอกว่าเอาอยากได้ข้อมูลสุขภาพของหัวใจ 33% อยากให้สมาร์ชวอชสามารถวัดระดับน้ำตาลในเลือดได้และ 50% อยากให้มันสามารถวัดระดับความเครียดได้ซึ่งตกลงจาก 55% เมื่อปี 2016

ทั้งหมดนี้ไม่นานเกินรอ เราน่าจะได้เห็นมันในนาฬิกาบนข้อมือแน่นอน 

 

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI