นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยถึง 183
ล้านคน ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี (พ.ศ. 2558 - 2563)
จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
พบว่านักท่องเที่ยวต่าวชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้น 4 - 8% ต่อปี (ราว 3 ถึง 5
ล้านคนต่อปี) โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มองว่าประเทศไทยค่าใช้จ่ายไม่สูง อาหารอร่อย
กิจกรรมหลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนหลากหลายกลุ่ม ส่งผลให้ใน 5 ปีดังกล่าว
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยสูงถึง 9.04 ล้านล้านบาท
ที่ผ่านมา การส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเสมอ ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญ “ปีท่องเที่ยวไทย” (Visit Thailand Year) ในปี พ.ศ. 2530 ที่กลายเป็นต้นแบบการตลาดด้านการท่องเที่ยวให้หลายประเทศเดินตาม ส่วนแคมเปญ Amazing Thailand ในปี 2541-2542 ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยปรับตัวหลังวิกฤตทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 และยังคงรักษาจำนวนนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
พัฒนาการท่องเที่ยวไทย
ประเทศไทยเริ่มมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวครั้งแรก
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 มีการส่งเรื่องราวของประเทศไทยไปเผยแพร่ที่สหรัฐอเมริกา
และก่อตั้งแผนกโฆษณาของการรถไฟแห่งประเทศไทย
เพื่อเผยแพร่ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศ
และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย
หลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย มีการนําเสนอ
โครงการและแผนบํารุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแก่คณะรัฐมนตรี ต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ.
2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(อ.ส.ท.) เพื่อเป็นหน่วยงานที่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโดยเฉพาะ
จนมาถึง พ.ศ. 2522
รัฐบาลจึงผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
และจัดตั้งหน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อย่างเป็นการ
เพื่อวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวและกำหนดมาตรฐานการบริการ ในปี พ.ศ. 2543
เริ่มมีแนวคิดและหลักการเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบ Homestay เข้ามา
มีการเพิ่มมูลค่าและยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศไทย
ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike มองเห็นความไม่สัมพันธ์กันของรายได้จากการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในแต่ละปี แต่เม็ดเงินเหล่านั้นกลับมาไม่ถึงชุมชน จึงค่อย ๆ ทดลองพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวชุมชน จนกลายมาเป็น Local Alike กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรม
ทำอย่างชาวบ้าน
https://localalike.com/about-us/
Local Alike ใช้โมเดลที่เน้นชุมชนเป็นสำคัญ
ให้เจ้าบ้าน พัฒนาตนเองจนมีความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยว
จัดกิจกรรมแพ็กเกจการท่องเที่ยว
ออกแบบประสบการณ์ที่คนในพื้นที่ได้ร่วมสร้างสรรค์อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังร่วมมือกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อสร้างการท่องเที่ยวชุมชนที่เข้มแข็ง
ตอบโจทย์โครงการเพื่อสังคมที่สร้างผลลัพธ์อย่างยั่งยืนของทั้งสองฝ่าย ตัวอย่างเช่น
การทำงานร่วมกับโครงการ Journey D ของแอร์เอเชีย
ด้วยการจัดเวิร์กช็อปให้กับผู้นำชุมชน และพัฒนาการให้บริการในด้านต่าง ๆ
ปรับเปลี่ยนประสบการณ์การท่องเที่ยวภายในชุมชนให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น
กว่า 7 ปีที่ผ่านมา Local Alike ผ่านประสบการณ์ด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชนมาอย่างยาวนาน เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนมากกว่า 100 ชุมชน 46 จังหวัดของประเทศไทย สร้างงานที่เพิ่มรายได้เสริมให้คนในชุมชนกว่า 2,000 งาน ร่วมมือกับบริษัทและหน่วยงานรัฐกว่า 50 แห่ง และนำพานักท่องเที่ยว 32,000 คน จากทั่วโลกมาพบปะชุมชนเจ้าบ้าน คิดเป็นมูลค่าด้านการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 54 ล้านบาท
ฝ่าวิกฤตการท่องเที่ยว
บทความวิจัยการพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทย
โดย วิมลมาลย์ สวัสดีและอาแว มะแส อธิบายว่า
เงื่อนไขความสำเร็จส่วนใหญ่ของวิสาหกิจเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวคือ
ภาวะผู้นำและวัฒนธรรมองค์กรที่มีการร่วมมือ มีพันธมิตรที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความยั่งยืน
รวมถึงผู้ถือหุ้นมีความมั่นคงทางการเงินจะคอยสนับสนุนการดำเนินงานของวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่อง
Local Alike ได้พิสูจน์ให้เห็นพลังของความร่วมมือ
และเครือข่ายพันธมิตรที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์
ทำให้แม้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะทรุดหนักจากการปิดประเทศในระหว่างการระบาดของโควิด
19 แต่ Local Alike
ก็ยังผ่านพ้นวิกฤตมาได้ด้วยการปรับตัวจากทรัพยากรที่พวกเขามีอยู่ในมือ
การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชน
ทำให้ Local Alike ได้คลุกคลีกับผลิตภัณฑ์จากชุมชนทุกภูมิภาคทั่วไทย
ในช่วงเวลาที่ผู้คนไม่อาจเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างเคย
พวกเขาจึงคิดหาวิธีนำผลิตภัณฑ์ชุมชนจากแต่ละท้องถิ่นส่งตรงให้ผู้บริโภคถึงบ้าน
Local Aroi (โลเคิล อร่อย) เป็นบริการอาหารพื้นบ้าน
แนบประสบการณ์ความอร่อยแบบท้องถิ่นให้เหมือนกับได้ไปนั่งชิมรสชาติจากแหล่งกำเนิดของเมนู
บอกเล่าวิถีชีวิต วัฒนธรรมของต้นตำรับผ่านจานอาหาร โดยออกแบบบริการจัดเลี้ยง
เวิร์กช็อปสอนทำอาหาร ตามแต่ความเหมาะสมของแต่ละสถานที่และความต้องการของผู้จัดงาน
ส่งเสริมให้ชุมชนได้มีทักษะการประกอบอาหารอย่างมืออาชีพ
ให้มีศักยภาพในการจัดเลี้ยงอาหารนอกสถานที่อีกด้วย
Local Alot (โลเคิล อะล็อต) เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน
ที่ถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและได้มาตรฐานสากล
เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ Local Alike
ยังร่วมมือกับกลุ่มดุสิตธานี
เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างพนักงานที่มีองค์ความรู้ด้านการบริการระดับสากล
และคนในชุมชนที่เปิดรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแพ็กเกจ Dusit Local
Explorer กับโรงแรมในเครือดุสิตทุกแห่งทั่วประเทศ โดย 70%
ของรายได้จะเข้าสู่ชุมชนโดยตรง อีก 30% Local Alike
นำไปพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอื่น ๆ ต่อไป
ความสำเร็จของ Local Alike จึงไม่ใช่ยอดขายที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่เป็นความเหนียวแน่นของเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชนที่เกาะเกี่ยวกันไว้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อให้ทุกคนสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าที่ตนเองยึดถือมาโดยตลอด
ข้อมูลอ้างอิง
- http://ssde.nida.ac.th/images/jsd/Y22_2/01-PotentialityDevelopmentTourism_SEinThailand.pdf
- http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/17.aspx
- https://data.go.th/blog/tourism-2015-2020
- https://localalike.com/
- www.gourmetandcuisine.com/news/detail/3639
- www.prachachat.net/csr-hr/news-599551