Notifications

You are here

บทความ

LITERARY TOURISM พลังแห่งตัวหนังสือ ต่อยอดสู่การท่...

11 มกราคม 2024 626 อ่านข่าวนี้ 11 เดือนก่อน 10


Literary Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม ไม่ได้เป็นเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยวในหมู่นักอ่านหรือหนอนหนังสือแต่อย่างใด เพราะเกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนแพร่หลายและกลายเป็นกระแสนิยมที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่างๆ ได้อย่างมหาศาล ด้วยพลังแห่งตัวหนังสือจากปลายปากกาของบรรดานักเขียนโดยแท้


โดยคำว่า Literary Tourism หมายถึง การท่องเที่ยวตามรอยนักเขียนหรือวรรณกรรมที่นักเขียนสร้างสรรค์ขึ้น อาจเป็นบ้านเกิดของนักเขียน สุสานของนักเขียน สถานที่สร้างแรงบันดาลใจในการเขียน หรือสถานที่ที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนหรือวรรณกรรม เพื่อนักอ่านจะได้ไปสัมผัสกับสถานที่นั้นด้วยสายตาตนเอง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในลอนดอนราว 150 ปีที่แล้ว เมื่อวรรณกรรมของชาลส์ ดิกคินส์ (Charles Dickens) นักเขียนเอกชาวอังกฤษ เช่น โอลิเวอร์ ทวิสต์ (Oliver Twist), เรื่องผจญภัยของเดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ (David Copperfield), นิยายแห่งสองนคร (A Tale of Two Cities), แรงใจและไฟฝัน (Great Expectations) ฯลฯ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้นักอ่านทั่วโลกเดินทางไปตามรอยยังสถานที่ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเหล่านั้น โดยเฉพาะสถานที่ที่เชื่อมโยงกับ Old London หรือบรรยากาศของลอนดอนยุคเก่า ก่อนเปลี่ยนผ่านอย่างก้าวกระโดดสู่ลอนดอนยุคใหม่ ทำให้ภาพและกลิ่นอายของลอนดอนที่ดิกคินส์บรรจงเขียน เต็มไปด้วยเสน่ห์แห่งจินตนาการ ที่ผู้คนรู้สึกหวนหาและอยากย้อนกลับไปสัมผัสอีก


ส่วนผู้ที่จุดกระแสการท่องเที่ยวนี้คนแรกก็คือ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) นักเขียวชาวอเมริกันเจ้าของผลงาน สี่ดรุณี (Little Women) อันโด่งดังนั่นเอง เนื่องจากเธอเป็นแฟนคลับตัวยงของดิกคินส์และรักการเดินทางอยู่แล้ว เธอจึงวางแผนเดินทางมายังลอนดอนเพื่อเยี่ยมชมสถานที่ที่ถูกบอกเล่าไว้ในงานเขียนของดิกคินส์ พร้อมกับตั้งใจจะไปพบและฟังการบรรยายของเขา ซึ่งหมุดหมายของการเดินทางในลอนดอนนั้น มีตั้งแต่หอคอยลอนดอน วิหารเซนต์พอล พระราชวังวินด์เซอร์ และอีกหลายแห่ง ไม่เพียงเท่านั้น ลุยซา เมย์ ยังเขียนบันทึกการเดินทางตามรอยวรรณกรรมของเธอออกมาด้วย โดยความพิเศษของลุยซา เมย์ นอกจากจะเป็นทั้งนักเขียนและนักอ่านที่รักอิสระแล้ว ยังถือเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญลุกขึ้นมาเดินทางข้ามโลกเพื่อท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม จนสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ในการท่องเที่ยวรูปแบบเดียวกับเธอ 


จากกระแส Literary Tourism ที่จุดติดในลอนดอน โดยลุยซา เมย์ ในช่วงก่อนดิกคินส์จะเสียชีวิต จนต่อมาหลังจากเขาเสียชีวิตไปในปี ค.ศ.1870 กระแสการท่องเที่ยวนี้ก็ยิ่งจริงจังมากขึ้น เพราะมีการจัดทัวร์ท่องเที่ยวตามรอยสถานที่หลายแห่งในลอนดอนที่สัมพันธ์กับงานเขียนของดิกคินส์ตามโรงแรมหรูๆ รวมถึงมีการตีพิมพ์หนังสือ บทความ ข่าวสาร และบันทึกการท่องเที่ยวสถานที่ดังกล่าวออกมาเผยแพร่ เช่น หนังสือ Dickens’s Dictionary of London เขียนโดยบุตรชายของดิกคินส์เอง เป็นพจนานุกรมรวมสถานที่ที่ปรากฏหรือเกี่ยวข้องกับงานเขียนของดิกคินส์ นอกจากนั้น กระแสยังแผ่ขยายไปสู่การท่องเที่ยวตามรอยนักเขียนที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ในทวีปต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตามรอยนวนิยายเชอร์ล็อก โฮมส์ ของอาร์เธอร์ อิกเนเชียส โคนัน ดอยล์ (Arthur Ignatius Conan Doyle) แฮร์รี่ พอตเตอร์ ของเจ.เค.โรว์ลิ่ง (J.K.Rowling) เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ของเจ.อาร์.อาร์.โทลคีน (J.J.R.Tolkien) หรือรหัสลับดาวินชี ของแดน บราวน์ (Dan Brown)   


เมื่อการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมได้รับความนิยม ก็ย่อมส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวรูปแบบนี้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยจากรายงานของ Future Market Insights ระบุ ในปี ค.ศ.2022 การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมทั่วโลกมีมูลค่าถึง 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตแตะ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ.2032 ได้ หรือก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ.2005 หลังรหัสลับดาวินชี ตีพิมพ์เพียง 2 ปี พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในปารีส ที่ถูกกล่าวถึงในนวนิยายเรื่องนี้ ก็มีผู้เยี่ยมชมสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 7.3 ล้านคน เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวโบสถ์รอสลิน ในเอดินบะระ เพิ่มขึ้นจากปีละ 30,000 คน เป็น 180,000 คนทีเดียว ซึ่งนับว่าสูงมากและแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกระแส Literary Tourism อย่างชัดเจน


นอกจากนั้น กระแส Literary Tourism ยังทำให้รัฐบาลในหลายประเทศเห็นความสำคัญของสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรม โดยการหันมาอนุรักษ์และพัฒนาสถานที่เหล่านี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น หรือส่งเสริมให้เป็นพื้นที่การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหนังสือหรือวรรณกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการวรรณกรรมและอุตสาหกรรมหนังสือไปในตัว


สำหรับในประเทศไทย แม้วรรณกรรมจะไม่โดดเด่นระดับโลก แต่หลายชิ้นงานก็มีคุณค่าและสร้างกระแสท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมได้เช่นกัน เช่น การท่องเที่ยวตามรอยวรรณคดีขุนช้างขุนแผน (บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)-วรรณคดีสังข์ทอง (บทประพันธ์โดยสุนทรภู่), การท่องเที่ยวตามรอยบ้านเกิดสุนทรภู่ หรือยุคใหม่หน่อย ก็เป็นการท่องเที่ยวตามรอยนวนิยายกรงกรรม ของจุฬามณี หรือบุพเพสันนิวาส ของรอมแพง    


นี่จึงคือพลังแห่งตัวหนังสือจากนักเขียน ที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักอ่านออกเดินทางตามรอย แต่อย่างไรก็ตาม พลังแห่งตัวหนังสือจะผุดพรายไม่ได้เลย หากไม่มีคนอ่านหรือไม่มีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรง 

ดังนั้น ก่อนจะต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาสังคมของเราให้เป็นสังคมแห่งการอ่านให้ได้ก่อนด้วย



#okmd #knowledgeportal #literarytourism #การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม #เที่ยวตามรอยหนังสือและวรรณกรรม #เที่ยวตามรอยนักเขียน #ชาลส์ดิกคินส์ #ลุยซาเมย์อัลคอตต์

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ