กระจกเกรียบ วิทยาศาสตร์แห่งรัตนโกสินทร์
กระจกเกรียบ
เป็นวัสดุเลื่อมพรายแสงที่มนุษย์สรรสร้างมาประดับประดางานศิลปกรรม เพื่อให้เกิดความงามตามอุดมคติ
โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะทางด้านเทคนิควิธีการหุงกระจก และวัตถุธาตุตั้งต้น ซึ่งการสร้างสรรค์กระจกเกรียบถือเป็นการเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy) โดยแท้ เพราะเป็นการรวมกันของวิทยาศาสตร์และศิลปะอย่างกลมกลืน
กระจกเกรียบ
แต่เดิม เรียกว่า “กระจก” หรือ “แก้วหุง” เป็นวัสดุศาสตร์เพื่อการประดับตกแต่ง ไม่ใช่กระจกจริงๆ เกิดจากการนำดินขาวไปเป็นสารตั้งต้นในการหลอมร่วมกับตะกั่ว
โดยเจือโมเลกุลซิลิกาด้วย เมื่อหลอมละลายแล้วจึงเกิดความมลังเมลืองแสง แวววาว
และสะท้อนแสงได้ มีเนื้อเกือบใสคล้ายแก้ว แต่ไม่ได้แข็งเหมือนแก้วทั่วไป
ตามความเชื่อแบบอินทรคติ
เมืองสวรรค์ต้องประกอบด้วยแก้ว 7
ประการ มนุษย์จึงได้จำลองเมืองสวรรค์มาไว้บนโลก ด้วยการประดับเพชร
พลอย ไว้ในวัดหรือวังก่อน แต่ก็ไม่สามารถประดับได้ทั้งหมด
ช่างในสมัยนั้นจึงเริ่มคิดค้นวัสดุศาสตร์เพื่อใช้ทดแทน
ซึ่งสืบทอดมายังสมัยรัตนโกสินทร์ และรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่พระอารามวัดและวังจะนิยมประดับด้วยกระจก
และในรัชกาลที่ 4 ได้มีการจัดตั้งกรมช่างหุงกระจก
ซึ่งยังคงจำกัดใช้ในวงเจ้านายเท่านั้น จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
ยุคสมัยที่อิทธิพลจากตะวันตกเริ่มเข้ามา
สถาปัตยกรรมเริ่มเป็นแบบตะวันตก การสร้างสถาปัตยกรรมไทยน้อยลง
คงไว้แต่บูรณะซ่อมแซมของเก่าเท่านั้น
ส่งผลให้การใช้กระจกเกรียบในงานศิลปกรรมไทยลดบทบาทลง
เหลือแต่ในครอบครัวช่างท้องถิ่นบางกลุ่ม
ที่หวงแหนเก็บรักษาสูตรการหุงกระจกเกรียบไว้ และสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 7
จนมาในสมัยรัชกาลที่
9 ในงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์
200 ปี พ.ศ. 2525 ความนิยมเรื่องความเป็นไทยแบบโบราณเริ่มกลับมาอีกครั้ง มีบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามสำคัญในกรุงรัตนโกสินทร์
มีการนำเข้ากระจกแก้วชนิดบางเข้ามา แต่เป็นกระจกสมัยใหม่ เนื่องจากไม่สามารถหากระจกสีแบบโบราณที่มีความเปราะอย่าง
“ข้าวเกรียบ” มาใช้ได้
จึงรื้อฟื้นศาสตร์และศิลป์การหุงกระจกเกรียบโบราณขึ้นอีกครั้ง แล้วใช้คำว่า
“กระจกเกรียบ” ด้วยเหตุที่ว่ามีความบางเหมือนข้าวเกรียบ สามารถทำให้บางที่สุดได้ถึง 0.5 มิลลิเมตร (คล้ายแผ่นกระดาษ)
องค์ความรู้เดิมในการหุงตะกั่วให้เป็นแก้วจากต้นตระกูล
เต๋จ๊ะยา ชาวไทเขิน ที่อพยพมาจากล้านนา ถูกส่งต่อให้แก่ทายาทในตระกูลรุ่นที่ 4 ครูเต๋ รัชพล เต๋จ๊ะยา ผู้นำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์
และศิลปกรรมมาประสานรวมกัน เพื่อสืบทอดการทำกระจกเกรียบ
วัสดุศาสตร์ที่มอบความมลังเมลืองแสงแก่วัตถุศิลป์และโบราณสถานเมืองไทย เป็นเอกลักษณ์ของชาติที่ต้องร่วมกันสืบสานรักษาไว้เป็นความภาคภูมิของลูกหลานต่อไป
ครูเต๋
รัชพล เต๋จ๊ะยา ชาวไทเขิน สกุลลูกหลานของพระยาปราบสงคราม (พญาผาบ) ในสมัยรัชกาลที่
5 ล้านนาเกิดความขัดแย้งกับสยาม หลังจากแพ้พ่าย พญาผาบได้ทิ้งลูกหลานไว้
ลูกหลานที่เหลืออยู่ในสยามก็สืบทอดองค์ความรู้การทำกระจกเกรียบ
จนสืบทอดมาถึงนายปัน เต๋จ๊ะยา ได้มีการบันทึกเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ว่ามีองค์ประกอบอยู่
5 สี ได้แก่ เขียว เหลือง ขาว แดง และคราม ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของหมื่นพรหมสมพัตสร
(นายมี) พระราชเลขาในรัชกาลที่ 3 และนำมาถ่ายทอดสู่ครูเต๋ ในวัย 15 ปี ซึ่งต่อมาครูเต๋ได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี
ด้านวิทยาศาสตร์เคมี จึงเริ่มนำสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอด กลับมาลองทำ จนกระทั่งสามารถหุงกระจกออกมาได้สำเร็จ
ประกอบกับมีความสนใจด้านงานศิลปกรรม ครูเต๋จึงสามารถนำความรู้วิทยาศาสตร์และศิลปกรรมมาใส่ไว้บนชิ้นงานที่ประดับกระจกเกรียบ
ครูเต๋ถูกเชิญให้มาบูรณะและอนุรักษ์ศิลปกรรมกระจกเกรียบบริเวณชั้นฐานสิงห์ ที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคาร ในหลวงรัชกาลที่ 8 ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร อันเป็นจุดเปลี่ยนให้ครูเต๋เข้ามาทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์กระจกเกรียบ ไม่ให้หายไปจากแผ่นดินไทย ต่อมาครูเต๋ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และนำองค์ความรู้ที่ได้เรียนมาสร้างสรรค์งานประดับกระจกเกรียบเพื่อการอนุรักษ์และบูรณะให้งดงามเหมือนของเดิมมากที่สุด
ในปัจจุบันครูเต๋
ยังคงรับราชการครูและยังคงสืบสานการทำกระจกเกรียบอยู่ ผลงานการฟื้นฟูและอนุรักษ์กระจกเกรียบโบราณของครูเต๋
เป็นที่ยอมรับในฝีมือ โดยเฉพาะด้านความงามตามแบบโบราณ
ครูเต๋มีความตั้งใจที่จะสืบทอดองค์ความรู้ด้านการทำกระจกเกรียบ
ด้วยการฟื้นฟูองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรม ในอดีตมาเป็นต้นแบบ และยึดขั้นตอนการทำแบบดั้งเดิม
เพื่อผลิตขึ้นมาใหม่ และนำองค์ความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดให้แก่ชุมชนและสถานศึกษา โดยเริ่มต้นสอนจากการประดับกระจกเกรียบ
บนงานไทยประยุกต์ ฟูมฟักให้เกิดความชอบและความสนใจในงานกระจกเกรียบ
ให้พวกเขากลับเข้าหางานไทยแบบดั้งเดิมด้วยความชอบของตนเอง
เพื่อให้เกิดการต่อยอดและสร้างสรรค์งานศิลปกรรมไทย
ติดตาม “กระจกเกรียบ
วิทยาศาสตร์แห่งรัตนโกสินทร์ โดยครูเต๋ รัชพล เต๋จ๊ะยา” ได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=0ABJ0wO8uOQ&t=36s

