วรรณกรรมไทย...ทำไมไปไม่ถึงตลาดโลก

15 มีนาคม 2024
|
858 อ่านข่าวนี้
|
10


แม้วรรณกรรมหรือหนังสือไทยจะได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมาเนิ่นนานแล้ว ทั้งที่เป็นวรรณกรรมยุคเก่า วรรณกรรมร่วมสมัย และวรรณกรรมซีไรต์ อย่างเช่น ไผ่แดง สี่แผ่นดิน ข้างหลังภาพ คู่กรรม ปูนปิดทอง อสรพิษ เวลาในขวดแก้ว คำพิพากษา ความสุขของกะทิ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ลับแลแก่งคอย  แต่นับถึงปัจจุบันก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในตลาดสากล จนมองไม่เห็นว่า วรรณกรรมไทยอยู่ตรงไหนของแผนที่โลก 


อุปสรรคในการแปลวรรณกรรมไทย


จากฐานข้อมูลงานแปลของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ในสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2551-2561 (The University of Rochester’s Translation Database 2008-2018) ไม่มีหนังสือไทยเล่มไหนถูกนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษเลย ในขณะที่ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ มีหลายเล่มถูกนำไปแปล ซึ่งนับว่าน่าตกใจมาก


แล้วอะไรคือจุดอ่อนหรืออุปสรรคปัญหา สำหรับคนที่คลุกคลีวงในหลายคนมองตรงกันว่า ประกอบด้วยหลายปัจจัย


การแปล


ปัจจัยแรกก็คือ การแปลวรรณกรรมไทยต้องอาศัยนักแปลที่มีความรู้ความสามารถในการแปลที่ถูกต้อง สวยงาม และละเอียดอ่อน ค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานานกว่าจะแปลออกมาสมบูรณ์ ก่อนนำไปเสนอให้สำนักพิมพ์จัดพิมพ์ หรือตัวแทนวรรณกรรม (Literary Agency) ช่วยขับเคลื่อนและเชื่อมโยงงานแปลนั้นเข้าสู่ตลาดโลก 


โดยจากประสบการณ์ทำงานของซอย (soi) หนึ่งในสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์งานแปลวรรณกรรมไทย และเป็นตัวแทนวรรณกรรม ที่ดูแลทั้งความเป็นไปได้และผลประโยชน์ในการเผยแพร่วรรณกรรมต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับนักเขียนในสังกัด เช่น อุทิศ เหมะมูล ชาติ กอบจิตติ ลาว คำหอม วรพจน์ พันธุ์พงศ์ สะอาด ฯลฯ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้มองเห็นภาพความพยายามผลักดันวรรณกรรมไทยสู่ตลาดโลกได้ดี


จากการเปิดเผยของผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการของซอย พบว่าในส่วนนักเขียนหรือสำนักพิมพ์ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่จะสามารถแสวงหานักแปลที่มีความเข้าใจต่อภาษาต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง เพราะคนเหล่านี้ต้องมีต้นทุนในระดับหนึ่ง ซึ่งโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจของไทยไม่เอื้ออำนวย ทำให้พื้นที่วรรณกรรมแปลในเมืองไทยค่อนข้างแคบ นอกจากนักแปลคนนั้นจะมีผู้สนับสนุนเงินทุนส่วนตัว และหลังจากแปลเสร็จสิ้นแล้ว ยังต้องใช้เวลานำเสนอสำนักพิมพ์ต่างประเทศให้จัดพิมพ์อีกด้วย ซึ่งก็ต้องมีเส้นสายหรือเครือข่ายว่า สำนักพิมพ์ไหนเหมาะกับวรรณกรรมแปลดังกล่าว โดยก่อนเลือกงานมาแปล นักเขียน นักแปล หรือสำนักพิมพ์ต้องศึกษาความต้องการของตลาดในแต่ละส่วนโลกอย่างถ่องแท้ ไม่เช่นนั้นจะขายลิขสิทธิ์ได้ยาก 


ขณะเดียวกัน ในมุมของสำนักพิมพ์ต่างประเทศเอง ก็ยังไม่เข้าใจภูมิทัศน์ของวรรณกรรมไทยชัดเจนว่า วรรณกรรมเล่มไหนหรือนักเขียนคนใดน่าสนใจ อาจมาจากทักษะด้านภาษาที่ไม่เชี่ยวชาญ เลยเป็นอุปสรรคให้วรรณกรรมไทยไปไม่ถึงระดับสากล

 

การสร้างเครือข่าย


ในส่วนของตัวแทนวรรณกรรมก็ไม่ง่ายเช่นกัน โดยซอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสร้างเครือข่ายระหว่างนักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ หรือหน่วยงานรัฐ ให้มาพบเจอกัน ดังนั้นจึงต้องมีสายสัมพันธ์กว้างขวาง รู้จักทัศนียภาพในวงการหนังสือทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นอย่างดี ตลอดจนแหล่งทุนต่างๆ เพื่อจะสามารถดึงให้คน


เหล่านี้มาทำงานร่วมกันได้ ทั้งช่วยติดต่อประสานงาน เจรจาต่อรอง จัดการสัญญา และปกป้องนักเขียนหรือนักแปลไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ซึ่งบทบาทเหล่านี้มีส่วนช่วยผลักดันวรรณกรรมไทยไปสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น แต่กระบวนการทำงานจะมีประสิทธิภาพ ปริมาณและการโปรโมททุนย่อมต้องเพียงพอด้วย ทำให้จำเป็นต้องอาศัยรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน ทว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ปริมาณทุนยังน้อยเกินไปและไม่ค่อยถูกโปรโมทให้รับรู้เท่าไหร่ การทำงานของตัวแทนวรรณกรรมอย่างซอยจึงเป็นการอุทิศตนส่วนหนึ่ง 


ตลาดหนังสือในโลกตะวันตก


ปัจจัยต่อมา ตลาดหนังสือในโลกตะวันตก ยังให้ความสำคัญกับวรรณกรรมต่างประเทศน้อย จากสถิติระบุว่า มีหนังสือแปลจากต่างประเทศเพียง 3% เท่านั้น ที่ได้รับการตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา และส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นประเทศเล็กประเทศน้อย รวมถึงประเทศไทยจึงมีโอกาสเข้าไปอยู่ในที่ทางของตลาดโลกลำบาก


นอกจากนั้น วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่ค่อยน่าสนใจในสายตาของชาวโลก ดังเช่น ประเทศเพื่อนบ้านหรือในแถบเอเชีย อย่างญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ที่ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้น เผชิญทั้งสงครามภายนอกและสงครามกลางเมือง ทำให้มีวัตถุดิบในการนำมาสร้างสรรค์วรรณกรรมที่โดดเด่น และโดนใจสำนักพิมพ์จากประเทศปลายทางในการซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลมากกว่า


ขณะเดียวกัน เนื้อหาของวรรณกรรมไทยยังมีความหลากหลายไม่มากพอที่จะดึงดูดใจตลาดโลกได้ด้วย เนื่องจากบางเรื่องนำเสนอประสบการณ์ส่วนตัว บางเรื่องเน้นประเด็นท้องถิ่น หรือไม่สอดคล้องกับกระแสนิยมระดับโลก ที่เรียกว่า ความเป็นสากล ยิ่งโลกปัจจุบันเชื่อมโยงเป็นโลกใบเดียวกัน วรรณกรรมของหลายประเทศอย่างญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สามารถก้าวข้ามพรมแดนของตนเองไปสู่ความเป็นสากลได้อย่างน่าทึ่ง โดยยังคงกลิ่นอายดั้งเดิม แต่ทั่วโลกเข้าใจตรงกัน ส่วนวรรณกรรมไทยอาจต้องศึกษาตลาดและพัฒนาเนื้อหาให้มีคุณภาพและความหลากหลายกว่านี้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งของรัฐบาลที่ควรยื่นมือเข้ามาสนับสนุน แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม


แตกต่างจากประเทศที่ส่งเสริมวรรณกรรมแปล จนถึงกับมีการจัดตั้งสถาบันการแปลวรรณกรรมแห่งชาติขึ้นมา เพื่อสนับสนุนงานแปลโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ รัฐบาลของเขาให้ความสำคัญกับการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านตัวหนังสือ จึงมีการจัดตั้งสถาบันการแปลวรรณกรรมแห่งชาติเกาหลี (Literature Translation Institute of Korea-LTI Korea) อย่างเป็นทางการ ในการอุดหนุนเงินทุนให้กับนักแปลหรือสำนักพิมพ์ที่ต้องการแปลวรรณกรรมเกาหลีเป็นภาษาต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่ค่าแปลไปถึงค่าจัดพิมพ์ ทำให้ใครๆ ก็อยากแปลวรรณกรรมเกาหลีใต้ เพราะลดความเสี่ยงในการผลิตงานแปลอย่างโดดเดี่ยว นับเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ได้ผลให้กับวงการวรรณกรรมแปลเกาหลีและกระตุ้นให้ตลาดมีวรรณกรรมแปลเกาหลีจำนวนมาก แถมมีเนื้อหาหลากหลายในระดับสากล จากการส่งเสริมการศึกษาและสร้างวัฒนธรรมการอ่านมายาวนานกว่า 30 ปี 


การสนับสนุนจากภาครัฐ


เพราะฉะนั้น ปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคปัญหาสำหรับการขับเคลื่อนวรรณกรรมไทยสู่ตลาดโลก จึงหนีไม่พ้นรัฐบาลซึ่งยังให้การสนับสนุนไม่เต็มที่ ดังที่ จรัล หอมเทียนทอง อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์แสงดาว เคยกล่าวไว้ ในฐานะผู้คลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือและมีโอกาสไปร่วมงานหนังสือในต่างประเทศหลายครั้งว่า วงการหนังสือไทยไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล นอกจากบางส่วนเท่านั้น อย่างงานหนังสือในประเทศก็ได้รับเฉพาะส่วนที่เป็นนิทรรศการ ทำให้กิจกรรมจำเป็นต้องเน้นในเรื่องของการขายเป็นส่วนใหญ่เพื่อให้สำนักพิมพ์อยู่รอด ส่วนงานหนังสือต่างประเทศ มักได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของเขาอย่างต่อเนื่องเป็นอย่างดี เพราะเขาไม่ได้มองในแง่การทำกำไรเป็นหลัก แต่มองว่าได้เผยแพร่วัฒนธรรมสู่สายตาชาวโลก นักเขียนและสำนักพิมพ์จึงสามารถตอบโจทย์วรรณกรรมที่มีคุณค่าและคุณภาพ ให้คนอยากซื้ออยากเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้


เช่นเดียวกับ ก้อง ฤทธิ์ดี ผู้แปลวรรณกรรมเรื่อง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ของวีรพร นิติประภา เป็นภาษาอังกฤษ ได้ให้ความเห็นว่า การแปลวรรณกรรรมไทยเกิดขึ้นจากความพยายามหรือความสนใจส่วนบุคคล ทั้งของสำนักพิมพ์ หรือนักแปลที่ชื่นชอบหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งเป็นพิเศษ หรือบางครั้งก็อาจเป็นการสนับสนุนจากหน่วยงาน องค์กร ในแต่ละวาระเฉพาะกิจ แต่ยังไม่มีการสร้างกลไกส่งเสริมการส่งออกวรรณกรรมไทยอย่างเป็นทางการ


ดังนั้น คงเป็นการดีอย่างยิ่ง หากรัฐบาลซึ่งชูนโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยการจัดหนังสือไทย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จะมองเห็นถึงความสำคัญของการส่งออกวรรณกรรมไทยไปสู่ตลาดโลก โดยสนับสนุนเงินทุนและอื่นๆ อย่างเต็มที่มากขึ้น ซึ่งล่าสุด จรัล หอมเทียนทอง เสริมว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้เริ่มให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานแปลวรรณกรรมไทยบ้างแล้ว ด้วยการให้เงินสนับสนุนมากที่สุดเป็นครั้งแรก ในการพานักเขียนไปร่วมงาน นิทรรศการหนังสือนานาชาติไทเป 2024’ (Taipei International Book Exhibition 2024) พร้อมกับนำหนังสือและวรรณกรรมไทยไปจัดแสดงมากถึง 143 เล่ม ในบูธพาวิลเลียนไทย และอีกกว่า 350 เล่มในบูธอื่นๆ จึงทำให้วรรณกรรมไทยมีโอกาสปรากฏสู่สายตาชาวต่างชาติมากกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะวรรณกรรมหรือนวนิยายวายไทย ได้รับความสนใจจากนักอ่านในนิทรรศการครั้งนี้เป็นพิเศษ 


อย่างไรก็ตาม นอกจากวรรณกรรมวายแล้ว การยกระดับวรรณกรรมไทยทั้งหมดให้มีเนื้อหาหลากหลายและสอดคล้องกับกระแสโลก เป็นสิ่งสำคัญสุดที่รัฐบาลจะมองข้ามการสนับสนุนไม่ได้เลย

ไม่เช่นนั้น เมื่อไหร่วรรณกรรมไทย จะไปถึงตลาดโลกเล่า



#วรรณกรรมไทย #ตลาดหนังสือและวรรณกรรมไทย #วรรณกรรมไทยในตลาดโลก #ทำไมหนังสือไทยไปไม่ถึงตลาดโลก #อุปสรรคของวรรณกรรมไทยในตลาดโลก #okmd #knowledgeportal #กระตุกต่อมคิด





ข้อมูลอ้างอิง : https://readthecloud.co/the-fabulist-soi/, https://thestandard.co/taiwan-creative-content-agency-2024/, www.thekommon.co/thai-literature-become-world-literature/, youtube : ทำไมหนังสือไทย ไม่ไปประดับโลก 


0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI