Notifications

You are here

บทความ

สำรวจนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือไทยและเทศ

18 มีนาคม 2024 407 อ่านข่าวนี้ 3 เดือนก่อน 17


อุตสาหกรรมหนังสือ ถือเป็นต้นน้ำของการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ที่สามารถต่อยอดให้เกิดมูลค่าทวีคูณไปสู่เศรษฐกิจสาขาอื่นๆ ได้ ดังนั้น นโยบายต่างๆ ในการผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง


โดยแต่ละประเทศจะมีการกำหนดนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือแตกต่างกันไป ตามน้ำหนักของการให้คุณค่ากับวัฒนธรรมการอ่านและการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือ ซึ่งเราจะไปสำรวจกันว่า ทั้งไทยและต่างประเทศมีนโยบายสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้อย่างไรบ้าง


มาติดตามมาตรการหลักๆ ในการเสนอมุมมองที่เกี่ยวข้องกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือของทั่วโลกก่อน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับบุคคลหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น นักเขียน นักวาดภาพประกอบ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ บริษัทกระดาษ สายส่ง ผู้จัดจำหน่าย ร้านหนังสือ สถาบันการศึกษา และนักอ่าน การผลักดันนโยบายจึงควรต้องมีความพร้อมและครอบคลุมอย่างที่สุด


มาตรการหลัก : กรอบสำคัญของนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือ

จากรายงานเรื่อง Ambitious Literary Policies: International Perspectives ซึ่งศึกษาถึงนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ได้แบ่งมาตรการที่เป็นกรอบสำคัญเอาไว้ 3 ด้าน ดังนี้


  • มาตรการด้านกฎหมาย
    เป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องทั้งกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การคุ้มครอง-ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม และกฎหมายภายในประเทศที่แตกต่างกันตามแต่ละนโยบาย เพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองหรือให้สิทธิขั้นพื้นฐานต่อผู้ผลิตผลงานและองค์กรต่างๆ เช่น การทำสัญญาระหว่างนักเขียนกับสำนักพิมพ์ การคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ให้กับนักเขียนหรือศิลปิน การให้สิทธิต่อองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรใช้ประโยชน์จากผลงานสร้างสรรค์ โดยมาตรการเหล่านี้จะมีความเชื่อมโยงกับมาตรการอื่นๆ ในด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างด้วย

  • มาตรการด้านเศรษฐกิจ
    เป็นมาตรการที่ช่วยสนับสนุนด้านการเงินและการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหนังสือและการอ่าน โดยมีหน้าที่ควบคุมตลาดให้เป็นไปอย่างสมดุล ทำให้เกิดกลไกขับเคลื่อนการแข่งขันด้านราคาอย่างยุติธรรม โดยภาครัฐในหลายประเทศได้มีการสนับสนุนกระบวนการผลิตและการจำหน่าย ด้วยการให้ทุนในการผลิต ให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดกับสำนักพิมพ์ ผู้ประกอบการ หรือสถาบันการศึกษา จัดตั้งรางวัลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ หรือสนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรด้านหนังสือและการอ่าน

  • มาตรการด้านโครงสร้าง
    เป็นมาตรการที่ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่าน การส่งเสริมทักษะ และการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างทัดเทียมกัน แบ่งเป็นมาตรการด้านการศึกษา ซึ่งหมายถึงการก่อตั้งโครงการหรือสถาบันส่งเสริมการผลิตและกระจายหนังสือ เช่น การตั้งสถาบันการแปล การเปิดหลักสูตรอบรมและพัฒนานักเขียน-นักแปล กับมาตรการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในแวดวงหนังสือและการอ่าน เช่น ห้องสมุด เทคโนโลยี ฐานข้อมูล หรือแพลตฟอร์มการอ่านต่างๆ   


นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือในต่างประเทศ


สำหรับในต่างประเทศ มีการประกาศใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือที่น่าสนใจ ผ่านมาตรการหลักตามกรอบสำคัญ 3 ด้าน แล้วสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตได้สำเร็จ เช่น


  • เยอรมนี ออกกฎหมายกำหนดราคาหนังสือมาตรฐานมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 โดยรัฐได้จัดทำข้อตกลงระหว่างสำนักพิมพ์กับร้านหนังสือว่า ต้องขายหนังสือในราคาไม่ต่ำกว่าที่กำหนดทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้ตลาดหนังสือมีความเท่าเทียมและยุติธรรม โดยห้ามลดราคาหนังสือรวมทั้งอีบุ๊กเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง ทำให้ระบบนิเวศของหนังสือมีความหลากหลาย และผลประโยชน์ในตลาดมีการกระจายตัวทั่วถึงกัน

  • นอร์เวย์ มีการออกมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับวารสาร นิตยสาร และสิ่งพิมพ์ รวมถึงหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตหนังสือของผู้ประกอบการ ควบคู่กับการจัดตั้งสภาศิลปะนอร์เวย์ เพื่อดำเนินการให้ทุนสนับสนุนหนังสือในรูปแบบต่างๆ พร้อมกับมีการออกนโยบายการศึกษาและระบบห้องสมุด ที่รับซื้อหนังสือเกือบทุกเล่มจากผู้ผลิตหนังสือรายเล็กและอิสระโดยองค์กรหรือมูลนิธิที่เชื่อมโยงกับรัฐ เพื่อส่งต่อไปยังห้องสมุดสาธารณะทั่วประเทศเหมือนกับสวีเดน

  • อังกฤษและฮอลแลนด์ ก็มีการใช้นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมด้วยการจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์สำหรับการยืมในห้องสมุดให้กับผู้ผลิตหนังสือ ฟากรัฐบาลแคนาดา มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนสำนักพิมพ์เกิดใหม่เป็นประจำทุกปี เพื่อไม่ให้รายได้ในตลาดกระจุกตัวอยู่กับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ

  • ฝรั่งเศส ใช้มาตรการด้านเศรษฐกิจช่วยเหลือสำนักพิมพ์อิสระที่ต้องการเงินทุนในโครงการที่ใช้งบประมาณสูงแต่ไม่มีเงินทุน สามารถขอกู้เงินแบบปราศจากดอกเบี้ยได้จากศูนย์หนังสือแห่งชาติของฝรั่งเศส บนเงื่อนไขต้องผลิตหนังสือที่ดีมีสาระ

  • ฮังการี ใช้นโยบายส่งเสริมด้วยมาตรการพัฒนาห้องสมุด โดยการเปิดให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถทำสัญญากับหอสมุดแห่งชาติ เพื่อรับความช่วยเหลือด้านการบริการทางวัฒนธรรมและบริการห้องสมุดด้วยงบประมาณของส่วนกลางได้ หรือห้องสมุดประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ก็สามารถขอรับงบประมาณจากหน่วยงานรัฐได้เช่นกัน

  • เกาหลีใต้ รัฐบาลมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสืออย่างหลากหลาย ผ่านนโยบายพัฒนาการศึกษาและระบบห้องสมุดต่อเนื่องมากว่า 3 ทศวรรษ เช่น ริเริ่มจัดตั้งหอสมุดแห่งชาติและสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศเกาหลี รณรงค์การใช้ห้องสมุดด้วยการยกเลิกเก็บค่าบริการ จัดสัปดาห์แห่งการอ่าน จัดงานวันหนังสือระดับชาติ และกิจกรรม 1 เมือง 1 เล่ม กำหนดให้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องสอบข้อเขียนวิจารณ์วรรณกรรม ออกกฎหมายห้ามลดราคาหนังสือออกใหม่ จนกว่าจะวางขายไปแล้วหนึ่งปีครึ่ง จึงลดราคาได้ 10% มีการโปรโมตธุรกิจหนังสือของชาติ ให้เกิดการซื้อขายลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ต่อ ตลอดจนประกาศแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมความรู้และการพิมพ์ ซึ่งช่วยกระตุ้นตลาดหนังสือเกาหลีใต้ให้ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นประเทศที่มีหนังสือในห้องสมุดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก        

 


นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือในประเทศไทย

ส่วนไทย เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ นอกจากขนาดของตลาดหนังสือจะเล็กกว่าแล้ว ส่วนแบ่งในตลาดของธุรกิจยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ทำให้เกิดระบบการผูกขาด และส่งผลให้สำนักพิมพ์รายเล็กอยู่รอดได้ด้วยความลำบาก และแม้รัฐบาลจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เช่น ออกมาตรการหักลดหย่อนภาษีรายจ่ายซื้อหนังสือ จัดโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมร้านหนังสือ หรือสนับสนุนการดำเนินงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการตลาดของหนังสือ แต่ก็ไม่มากพอและบางมาตรการขาดความต่อเนื่อง กฎหมายไม่เอื้อต่ออุตสาหกรรมหนังสือด้วย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการแบนหนังสือ หรือพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ที่กำหนดให้หนังสือเป็นสินค้าควบคุมฉลาก ที่สำคัญ ไม่มีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบโดยตรง ที่ผ่านมา นับเป็นการช่วยเหลือและพึ่งพากันเองของผู้ประกอบการมากกว่า


ดังนั้น การที่ปัจจุบันรัฐบาลประกาศให้หนังสือไทย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี โดยส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมที่รัฐบาลวางแผนจะผลักดันให้สำเร็จ ประกอบด้วย

  1. การลดภาษีมูลค่าเพิ่มกระดาษ และอุปกรณ์ศิลปะต่างๆ
  2. การยกเลิกปิดกั้นเสรีภาพในการเสนอผลงาน
  3. การสนับสนุนการแปลหนังไทยเป็นภาษาต่างประเทศ และส่งเสริมการส่งออกหนังสือไทยสู่ต่างประเทศ
  4. การจัดตั้งกองทุนพัฒนาหนังสือ เพื่อให้นักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ สามารถเข้าถึงทุนได้สะดวกขึ้น
  5. การจัดตั้งสถาบันหนังสือและการอ่านแห่งชาติ
  6. การขยายห้องสมุดทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงหนังสือได้ถ้วนหน้า

ท่ามกลางความท้าทายรายรอบและการตั้งคำถามว่า อุตสาหกรรมหนังสือไทยจะไปรอดหรือไม่ การประกาศนโยบายส่งเสริมหนังสือไทยข้างต้น ก็น่าจะทำให้ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องได้มองเห็นถึงอนาคตที่สว่างไสวขึ้น

 





ข้อมูลอ้างอิง :
https://thaipublica.org/2012/06/emerging-

https://internationalpublishers.org/ambitious-literary-policies-international-perspectives/

www.okmd.or.th/news/organization/3781/

www.thansettakij.com/business/marketing/579233    

www.thekommon.co/role-of-government-and-policies-promote-book-industry/


URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ