Notifications

You are here

บทความ

April Fools’ Day กับการโกหกครั้งสำคัญในประวัติศาส...

29 มีนาคม 2024 1213 อ่านข่าวนี้ 1 เดือนก่อน 13

April Fools’ Day หรือวันเอพริลฟูลส์ หรือวันเมษาหน้าโง่ หรือวันโกหกโลก เกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี จากจุดเริ่มต้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-19 ในประเทศทางยุโรป โดยผู้คนจะโกหกกันในวันนี้และรอเฉลยในวันถัดมา เกิดเป็นเรื่องเล่าสนุก ยิ่งเมื่อมีคนเชื่อ ยิ่งช่วยส่งต่อธรรมเนียมจนกลายเป็นวันยอดนิยมของคนทั่วโลก หลายชาติ รวมถึงคนไทยที่โอบรับทุกวัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับอารมณ์ขันและความบันเทิง ซึ่งมักจะมีทั้งคนที่มองเป็นเรื่องสนุกและไม่สนุกด้วยในเวลาเดียวกัน ในยุคนี้เมื่อวันเอพริลฟูลส์ใกล้เข้ามา ผู้คนมักตั้งสติ สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะนับตั้งแต่ AI เริ่มเผยให้เห็นความอัจฉริยะที่ยากจะต้านทาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง วันเอพริลฟูลส์คือโอกาสและความท้าทายที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างมุกตลกให้โดดเด่นและแตกต่าง ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ไปจนถึงนำไปประยุกต์ทำการตลาดสร้างกระแสไวรัล (Viral Marketing) ให้กับแบรนด์


หลากวัฒนธรรม หลายประเทศ กับการเฉลิมฉลองวันเมษาหน้าโง่

นอกจากบอกเล่าจุดเริ่มต้น britannica.com ได้อธิบายว่าการเฉลิมฉลองวันเอพริลฟูลส์ยังมีลักษณะคล้ายกับเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลฮิลาเรีย (Hilaria) ในยุคโรมโบราณ ที่จัดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม และการเฉลิมฉลองโฮลี (Holi) ในอินเดีย ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม ทั้งยังได้ยกตัวอย่าง 2 ประเทศยุโรปที่มีกิจกรรมวันโกหกโลกในมุมที่ทั้งคล้ายและต่างกัน แต่มีเป้าหมายในทางเดียวกันคือการทำให้ใครสักคนกลายเป็นคนโง่หรือโดนหลอกได้สำเร็จ

ในประเทศฝรั่งเศส ผู้ถูกแกล้งจะถูกเรียกว่า Poisson d’Avril ที่อ่านว่า ปัวซง ดาวริล หรือ April fish ซึ่งมีที่มาที่ไปหลายแนวคิด รวมถึงลูกปลาวัยเด็กในทำนองเป็นปลาที่จับได้ง่ายกว่าปลาที่มีประสบการณ์ ขณะเดียวกันเด็ก ๆ จะเล่นติดภาพปลากระดาษไว้ที่หลังของเพื่อน ๆ ที่ไม่ทันระวัง ก่อนวิ่งหนีออกมาแล้วตะโกนออกไปว่า “Poisson d’Avril!”

ส่วนในประเทศสกอตแลนด์วันเดียวกันนี้มีชื่อว่าวัน Gowkie Day หรือ Hunt the Gowk Day ซึ่งคำว่า Gowk หมายถึงนกกาเหว่า สัญลักษณ์ของคนโง่และสามีของหญิงที่นอกใจ เป็นวันที่โกหกและจับผิดกันเพื่อความสนุกสนาน หนังสือพิมพ์ The Scotsman ได้อธิบายว่าในอดีตผู้แกล้งอาจขอให้ผู้ถูกหลอกทำธุระปลอม ๆ อย่างถือจดหมายไปขอความช่วยเหลือจากผู้รู้แผนการ ส่วนในวันถัดมาจะมีการนำกระดาษที่มีข้อความกวน ๆ ชวนแกล้งมาติดที่หลัง เช่น “เตะฉันสิ” หรืออื่น ๆ ที่แกล้งกันได้ทั้งวัน

นอกจากตัวอย่างการฉลองแต่ละประเทศ สิ่งน่าสนใจคือเหตุการณ์โกหกครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในหลายประเทศ หลายเหตุการณ์ยังถูกกล่าวถึงมาจนถึงปัจจุบันในแง่ความคิดสร้างสรรค์ การวางแผนและลงทุนสร้างงาน ไปจนถึงความกล้าเสี่ยงที่ให้ผลลัพธ์แตกต่าง ดังตัวอย่างต่อไปนี้ิ


• บีบีซี (BBC) รายงานการเก็บเกี่ยวเส้นจากต้นสปาเกตตีและนกเพนกวินบินได้ 

ชาวโลกต้องตั้งสติให้มั่นเพราะสื่อต่าง ๆ หนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ ไปจนถึงบริษัทดังอาจกำลังรายงานเรื่องหลอกลวง เชื่อถือไม่ได้ โดยมีสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของสหราชอาณาจักรหรือบีบีซีเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาระดับประวัติศาสตร์ที่โลกสนใจ เพราะใน ค.ศ. 1957 หนึ่งในรายการของบีบีซีได้ออกอากาศพร้อมภาพยนตร์สั้นที่ฉายภาพว่าสปาเกตตีเติบโตบนต้นไม้ได้ โดยมีครอบครัวในสวิตเซอร์แลนด์กำลังเก็บเส้นสปาเกตตีจากต้นไม้ จนทำให้คนอังกฤษหลงเชื่อ เนื่องจากช่วงยุค 1950 คนอังกฤษไม่ได้กินและรู้จักพาสตามากเท่าทุกวันนี้ ทั้งยังหลอกผู้คนได้อีกครั้งใน ค.ศ. 2008 กับตัวอย่างภาพยนตร์ Miracles of Evolution ที่แสดงให้เห็นว่าฝูงนกเพนกวินสามารถบินได้เองจนทำให้โลกได้ตะลึง ตามข้อมูลจาก britishcouncil.org บริติช เคานซิล องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร


• เบอร์เกอร์คิง (Burger King) โฆษณาเพื่อคนถนัดซ้ายในอเมริกาและเบอร์เกอร์กงเต็กในไทย

ค.ศ.1998 บนโฆษณาเต็มหน้าของ USA Today เบอร์เกอร์คิงได้ประกาศวิธีแก้ปัญหาเพื่อลูกค้าถนัดซ้ายจำนวน 1.4 ล้านคนที่มาทุกวันที่ร้าน โดยเฉพาะแฟนวอปเปอร์ (Whopper) ชื่อเบอร์เกอร์ที่เป็นเอกลักของเบอร์เกอร์คิง ที่จะมีส่วนประกอบเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการจัดเรียงขยับเป็น 180 องศาให้คนถนัดซ้ายง่ายต่อการกิน ก่อนเตรียมเฉลยความจริง แต่ก็ไวไม่ทันเท่าชาวถนัดซ้ายที่รอซื้อในวันถัดมา กลายเป็นหนึ่งแคมเปญน่าศึกษาที่ผู้บริโภคต้องการให้เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก Burger King Thailand ที่ไม่น้อยหน้าในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2021 โดยนำเสนอวอปเปอร์กงเต็ก พร้อมข้อความว่าเป็นครั้งแรกในโลกที่จะได้ส่งความอร่อยจากเบอร์เกอร์คิงไปตอบแทนคุณบรรพบุรุษด้วยเบอร์เกอร์เนื้อ  Flame Grilled ที่เผาแล้วหอมกลิ่นเนื้อย่างจริง ที่แม้ผู้บริโภครู้ทันแต่ก็ร่วมคอมเมนต์กันสนุกว่าอยากให้มีขายจริงและพร้อมที่จะโอนเงิน 

• กูเกิล (Google) เล่นให้สุดแล้วหยุดเว้นวรรคที่ช่วงวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่

อีกหนึ่งผู้นำแคมเปญวันเอพริลฟูลส์ที่มักถูกกล่าวถึงต้องมีกูเกิล บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกด้านไอที ที่เริ่มเล่นมาตั้งแต่ ค.ศ. 2000 หลายมุกกลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลมีเดีย รวมถึง 1 เมษายน ค.ศ. 2019 ที่กูเกิลได้นำเกมงูจากมือถือยุค 1990 มาให้เล่นบนกูเกิล แมพส์ (Google Maps) หรือบนแผนที่เมือง เช่น ไคโร เซาเปาโล ลอนดอน ซิดนีย์ ซานฟรานซิสโก และโตเกียว เกิดเป็นกระแสจนหลายสำนักข่าวออกมาสอนวิธีเล่นให้บังคับรถสาธารณะคล้ายงูไปรับผู้โดยสารบนแผนที่ ที่ยิ่งรับผู้โดยสาร รถจะยาวขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเกมงู แม้ไม่เคยพลาดเรื่องสนุก แต่เมื่อโควิด 19 เข้าสู่วิกฤตใน ค.ศ. 2020 กูเกิลได้ประกาศหยุดพักการเล่นมุกเพื่อแสดงความเคารพการต่อสู้ของผู้คนกับโรคระบาดครั้งสำคัญนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างด้านความเหมาะสมและใช้วิจารณญาณที่ดี เพราะในการเล่นสนุกต้องไม่ส่งผลกระทบด้านลบรอบด้าน ทั้งนี้กูเกิลยังมีเป้าหมายในการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้คนในเวลานั้นอย่างสุดกำลัง


ลดเสี่ยง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้ คิดก่อนเล่นมุกโกหก สนุกอย่างมีขีดจำกัด

ทุกคนควรตระหนักว่าเสียงหัวเราะและความสนุกเพื่อคลายเครียดคือเป้าหมายหลักของวันเอพริลฟูลส์ เราจึงควรมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ไม่สร้างความวิตกกังวลหรือความกลัวที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้คน โดยเฉพาะสำหรับผู้ถูกแกล้งที่ไม่ทันได้ระวังตัวหรือไม่รู้จักธรรมเนียมวันเอพริลฟูลส์ ไปจนถึงต้องไม่กระทบการทำงานของผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่สำคัญ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ตำรวจ หรือหน่วยกู้ภัย ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องตระหนักคือการตั้งคำถามว่าการโพสต์ แชร์ หรือเผยแพร่ข้อมูลของเรานั้นเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ 

โดยเฉพาะ “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ 2560 มาตรา 14” ที่ต้องไม่เผยแพร่ข้อมูลปลอม ทุจริต หลอกลวง ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย ข้อมูลก่อการร้าย ข้อมูลลามกที่ประชาชนเข้าถึงได้ ไปจนถึงการส่งต่อข้อมูลที่รู้แล้วว่าผิดและสามารถส่งผลเสีย แต่ยังมีเจตนากดส่งต่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูลออกไป ซึ่งมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ส่งต่อจะมีอัตราโทษเท่ากัน ตามข้อมูลวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2023 จากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย

นับเป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ไว้และใช้ได้กับทุกวันสำคัญและทุกเทศกาล เพื่อที่จะได้สนุกสนานและลดเสี่ยงละเมิดกฎหมายไปด้วยกัน



#AprilfoolsDay #History #BBC #BurgerKing #Google #เมษาหน้าโง่ #ประวัติศาสตร์ #บีบีซี #เบอร์เกอร์คิง #กูเกิล #พรบคอมพิวเตอร์


ข้อมูลอ้างอิง : www.britannica.com, www.prachachat.net, learnenglish.britishcouncil.org, www.thansettakij.com, www.pptvhd36.com techsauce.co และ www.antifakenewscenter.com


URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ