Notifications

You are here

บทความ

เส้นทางประวัติศาสตร์ของร้านหนังสือในประเทศต่างๆ ทั...

03 เมษายน 2024 441 อ่านข่าวนี้ 1 เดือนก่อน 11



ในสมัยก่อนการจับจองครอบครอง “หนังสือ” สักเล่ม ถือเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงระดับฐานะและยศถาบรรดาศักดิ์ได้เป็นอย่างดี เพราะหนังสือแต่ละเล่มต้องเขียนด้วยมือจึงเป็นสิ่งของล้ำค่าหายากจัดอยู่ในกลุ่มหรูหรา ฟุ่มเฟือย การกระจายความรู้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ผู้คนเริ่มใช้กระดาษราว 2,000 ปีก่อน โดยร้านหนังสือแห่งแรกๆ คาดว่าเกิดขึ้นในดินแดนยุโรป จนในศตวรรษที่ 19 นับว่าเป็นจุดรุ่งโรจน์ของกระดาษเมื่อมีการประดิษฐ์เครื่องผลิตกระดาษแทนการผลิตด้วยมือและการผลิตหนังสือจากโรงพิมพ์ก็มีความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากหนังสือที่ใช้การจดการเขียนม้วนในกระดาษเป็นแผ่นๆ สู่การเย็บเล่ม มาเป็นการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์จากธรรมชาติ สู่โลกแห่งอุตสาหกรรมหนังสือและการกระจายตัวไปอยู่บนชั้นหนังสือในร้านหนังสือทั่วทุกมุมโลก


เส้นทางการเดินทางของหนังสือที่กระจายความรู้นั้น หากจะเทียบก็คงไม่ต่างจากการลำเลียงสินค้าสำคัญจากเมืองท่าขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลาง กระจายตัวไปตามหัวเมืองต่างๆ และแจกจ่ายกระจายสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อการเข้าถึงความรู้อย่างทั่วถึง


เยอรมนี 

จุดเริ่มต้น

สันนิบาตฮันเซอ (ที่รู้จักในชื่อ Hanse หรือ Hansa) หรือการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจในเยอรมัน เริ่มก่อตัวขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 เมื่อแรกก่อตั้งใช้ชื่อว่า "สมาพันธ์พ่อค้าฮันเซอ" เป็นความร่วมมือระหว่างเมืองลือเบ็คและฮัมบวร์คเพื่อค้าขายปลาเฮร์ริงกับเกลือ ต่อมาในปี พ.ศ. 1784 สมาพันธ์พ่อค้าเข้าผูกขาดเส้นทางค้าเกลือที่เมืองลือเนอบวร์ค ซึ่งเกิดผลประโยชน์มหาศาล จนพ่อค้าจากเมืองโคโลญและดันท์ซิชขอเข้าร่วมด้วย และมีอีกหลายเมืองตามมา เมื่อสันนิบาตมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นทั้งที่เป็นเมืองเยอรมันและเมืองฝั่งยุโรปเหนือ จึงมีการจัดระเบียบการปกครองเพื่อความเป็นเอกภาพ เมืองที่เข้าร่วมสันนิบาตต้องใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของลือเบ็คและใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร จนเกิดเอกสารและหนังสือขึ้นกระจายไปตามเส้นทางการเดินทางนี้มากมาย   


การเดินทางของหนังสือเล่ม

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 1993 ณ เมืองไมนซ์ โยฮัน กูเทนแบร์ก (Johannes Gutenberg) พิมพ์คัมภีร์ไบเบิล โดยใช้เครื่องพิมพ์ประเภทโลหะที่เคลื่อนย้ายได้ ซึ่งทำให้เทคนิคการพิมพ์นี้แพร่กระจายไปทั่วเยอรมันและยุโรปในตอนนั้น  แต่ในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ระบอบนาซีร่วมมือกับนักศึกษามหาวิทยาลัยและศาสตราจารย์จำนวนมากทั่วประเทศเผาหนังสือ วรรณกรรมและเอกสารวิชาการต่างๆ ที่เขียนขึ้นโดยชาวยิวและมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับความเป็นนาซี ซึ่งอาจเป็นที่น่าเสียดายสำหรับนักคิดนักอ่านหลายๆ คนในเวลานั้น ในปี พ.ศ. 2549 มีการติดตั้งประติมากรรมชั่วคราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หนังสือเยอรมันที่ Bebelplatz ในกรุงเบอร์ลินด้วย 


ปัจจุบัน 

ปัจจุบันเยอรมนี ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงมากในยุโรป ในประเทศเยอรมนีนั้นร้านหนังสือมีมากมายพอๆ กับซูเปอร์มาร์เก็ต มีมากมายหลายขนาดทั้งขนาดใหญ่ แฟรนไชส์ร้าน ร้านหนังสือมือสองหรือหนังสือเฉพาะกลุ่มต่างๆ แม้แต่ในโบสถ์หลายๆ แห่งยังมีบริการห้องสมุดด้วย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในตอนนี้ ชาวเยอรมันยังคงนิยมอ่านหนังสือเล่มมากกว่าประเทศอื่นๆ หลายเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว  ทุกวันนี้ในเยอรมันมีการพิมพ์หนังสือขายประมาณเกือบ 100,000 เล่ม 


อิตาลี

จุดเริ่มต้น

ย้อนกลับไปในอดีต เนื่องจากอิตาลีมีแคว้นต่างๆ มากมาย  ผู้คนใช้ภาษาที่แตกต่างกัน ทำให้การสื่อสารเข้าใจกันได้ยาก แม้กระทั่งเอกสารต่างๆ ของอิตาลีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในศตวรรษที่ 10 ก็ยังเป็นภาษาถิ่นต่างๆ จนกระทั่ง ดันเต อาลีกีเอรี (Durante DegliAlighieri)  ผู้เป็นกวีเอกและนักภาษาศาสตร์ได้คิดค้นภาษากลางเพื่อเชื่อมต่อผู้คนให้เข้าใจกันและกันง่ายดายมากยิ่งขึ้น 


การเดินทางของหนังสือเล่ม

ในศตวรรษที่ 16 Simone Galignani เริ่มพิมพ์หนังสือขึ้นในปี พ.ศ. 2063  ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งครอบครัวนี้ถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่พิมพ์หนังสือด้วยแท่นพิมพ์กูเทนแบร์ก ซึ่งเป็นแท่นพิมพ์แบบเรียงตัวอักษรที่เปลี่ยนรูปแบบการพิมพ์ของโลกในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และหนังสือที่สร้างยอดขายได้มากที่สุดคือหนังสือ Geographia ของปโตเลมี นักคิดชาวกรีกคนสำคัญ ขายดีมากเกือบสองศตวรรษเลยก็ว่าได้ จนเวนิสสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจ ผู้เป็นทายาทจึงย้ายไปตั้งรกรากที่ปารีส และประวัติศาสตร์หน้าแรกของร้านหนังสือในยุโรปเริ่มขึ้นที่กรุงปารีส ในปี พ.ศ. 2344 กับร้านหนังสือที่ชื่อ Galignani หรือ Liraria Galignani ถือเป็นร้านหนังสือภาษาอังกฤษร้านแรกในภาคพื้นทวีป ร้านหนังสือแห่งนี้เป็นโรงพิมพ์ไปด้วยในตัว รวมทั้งมีห้องสนทนาและห้องอ่านหนังสือภาษาอังกฤษโดยเฉพาะด้วย ปัจจุบันร้านแห่งนี้ก็ยังคงอยู่ เรียกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านประวัติศาสตร์ในยุคต่างๆ มากว่า 200 ปี 


ปัจจุบัน

ร้านหนังสือในอิตาลีมีความหลากหลาย หลายๆ ร้านโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สร้างชื่อเสียงมายาวนาน เมื่อไม่นานมานี้ มีร้านหนังสือกึ่งคาเฟ่ในอิตาลี แจกหนังสือเด็กๆ เพียงให้เด็กๆ เอาขวดและกระป๋องมาแลกเพื่อนำไปรีไซเคิล งานนี้ได้นกสองตัว  ทั้งช่วยเสริมกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมส่งเสริมการอ่านไปในตัว โดยหนังสือที่นำมาแจกได้รับการบริจาคจากคนที่มาซื้อหนังสือที่ร้าน โดยเล่มแรกนำกลับไปอ่าน อีกเล่มทิ้งไว้ที่ร้านเผื่อให้คนที่ต้องการ 


จีน

จุดเริ่มต้น

เมื่อ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล มนุษย์เราเริ่มรู้จักขีดเขียนด้วยการใช้ของแข็งกดลงบนดินเหนียว จนเกิดลวดลายตัวอักษรที่เรียกว่าอักษรลิ่ม จน ใน พ.ศ. 648 ชาวจีนนามว่า “ไซลั่น” ได้คิดค้นวิธีทำกระดาษขึ้น จากนั้นจึงมีการบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวลงบนกระดาษมากขึ้นแพร่หลาย จนปี พ.ศ. 1411 วางเซียะ ซึ่งเป็นชาวจีนได้ทำการพิมพ์หนังสือขึ้นเป็นเล่มแรก ชื่อว่า วัชรสูตร (Diamond Sutra) โดยมีลักษณะเป็นม้วนยาว โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแผ่ศาสนาให้เป็นที่รู้จักไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ 

การเดินทางของหนังสือเล่ม


รากฐานอารยธรรมของจีน คือ การสร้างระบบภาษาเขียนให้เป็นภาษากลางใช้ได้ทั่วประเทศ เกิดขึ้นในยุคราชวงศ์ฉิน (ศตวรรษที่ 58) การอ่านมีความสำคัญมากดูได้จากการสอบเข้ารับราชการที่เรียกกันว่า สอบจอหงวน เหล่าบัณฑิตจำเป็นต้องอ่านให้มาก เรียนรู้ให้มาก แถมอิทธิพลการอ่านเพื่อสอบเหล่านี้ยังส่งผลถึงประเทศเวียดนามด้วยเมื่อจักรพรรดิจีนอนุญาตให้บัณฑิตจากเกียวจี๋ (เวียดนาม) สามารถสอบรับราชการได้เช่นเดียวกัน หนังสือและตำราของจีนที่เป็นความรู้จึงถูกส่งต่อกระจายไปเกือบทั่วประเทศ ทำให้เกิดสังคมแห่งการอ่านที่แข็งขันจนถึงทุกวันนี้ 


ปัจจุบัน

แม้ว่าร้านหนังสือต่างๆ ทั่วโลกจะกำลังเผชิญวิกฤติขาลง ต่างต้องดิ้นรนให้อยู่รอด แต่เรื่องนี้ตรงกันข้ามสิ้นเชิงสำหรับจีน เพราะแม้จะเจอสถานการณ์โควิด แต่เชื่อไหมว่ามีร้านหนังสือเกิดใหม่ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นถึง 4,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงปักกิ่งมีร้านเปิดใหม่มากถึง 639 แห่งเลยทีเดียว ซึ่งกลยุทธ์สำคัญในการอยู่รอด คือ การปรับตัวและจัดกิจกรรมไลฟ์สตรีมมิ่งมาช่วยเพิ่มยอดขายนั่นเอง 


ในปี พ.ศ.2556 ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเซินเจิ้นให้เป็นเมืองต้นแบบด้านส่งเสริมการอ่านของโลก ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็นเดือนแห่งการอ่าน สำหรับชาวเซินเจิ้น มีการจดกิจกรรมหลากหลาย การบรรยาย การอ่านบทกวี การบริจาคหนังสือ การแนะนำหนังสือดีๆ ที่ห้ามพลาด ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เซินเจิ้นจึงมีห้องสมุดและร้านหนังสือคุณภาพเยี่ยมเป็นจำนวนมากที่เอื้อต่อการเข้าถึงของผู้คน


ผลจากการสำรวจจากมหาวิทยาลัยเซินเจิ้น  ในปี พ.ศ. 2561 พบว่า ชาวเซินเจิ้นแต่ละคนอ่านหนังสือเฉลี่ย 18.44 เล่ม และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเมืองนี้จึงเจริญรุดหน้าไวมาก ทั้งด้านเทคโนโลยี การเงิน โลจิสติกส์และอุตสาหกรรมด้านต่างๆ และสำหรับชาวจีนนั้น การอ่านหนังสือ เท่ากับการคลายเครียด 

ทุกวันนี้ประเทศอินเดียก็มีร้านหนังสือดีๆ มากมาย


ในปี พ.ศ. 2565 จะไม่มีคนอินเดียที่ไม่รู้หนังสืออีกต่อไป นี่คือคำกล่าวของ Prakash Javadekar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แห่งอินเดีย สมัยอินเดียประกาศเอกราช


ในปี พ.ศ. 2490 อัตราผู้รู้หนังสือในอินเดียมีแค่ 18 % แต่ผ่านมา 70 กว่าปี มีอัตราผู้รู้หนังสือเพิ่มเป็น 80% ซึ่งคิดเป็น 4.4 เท่า ทั้งนี้มาจากการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงการศึกษาและการอ่านแบบจริงจังนั่นเอง และสำนักพิมพ์ต่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง Penguin Random House Hachette UK HarperCollins Taylor & Francis ฯลฯ ต่างพากันสนใจมาลงทุนธุรกิจสิ่งพิมพ์ในอินเดีย เคยมีรายงานว่าคนอินเดียอ่านหนังสือเฉลี่ยมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่นจึงทำให้ในอินเดียมีร้านหนังสือดีๆ จำนวนไม่น้อย 


ในปี พ.ศ. 2546 -2547 ยูเนสโกได้เคยประกาศให้เดลีเป็นเมืองหลวงของหนังสือโลก และอินเดียมีความหลากหลายทางภาษาที่น่าสนใจ เป็นชาติที่พิมพ์หนังสือมากถึง 24 ภาษา แถมยังเป็นอันดับสามในการพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษมากที่สุดรองจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แต่ละปีมีการพิมพ์หนังสือใหม่มากถึง 100,000 รายการ


URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ