Notifications

You are here

บทความ

ส่องพฤติกรรมการเรียนรู้ของ 5 เจเนอเรชัน

14 พฤษภาคม 2024 7095 อ่านข่าวนี้ 2 เดือนก่อน 5

#2024LearningTrendReviewSeriesbyOKMD ได้รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทรนด์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง วันนี้เสนอตอน ‘ส่องพฤติกรรมการเรียนรู้ของ 5 เจเนอเรชัน’

จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิต พฤติกรรมการเรียนรู้ ของแต่ละวัยก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย การดูข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้และใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของแต่ละเจเนอเรชันจะทำให้เข้าใจถึงความต้องการในการเรียนรู้ของแต่ละช่วงวัยมากขึ้น รวมถึงสามารถพัฒนารูปแบบการเรียนรู้และหลักสูตรการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความสนใจของคนกลุ่มต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น รองรับการทำงานที่ปรับเปลี่ยนไปในยุคนี้




Baby Boomer (1946-1964) อายุ 60-78 ปี

Baby Boomer มีความสนใจการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมาก อาทิ กิจกรรมเวิร์คช็อปแลกเปลี่ยนความเห็น โปรแกรมฝึกงานระยะสั้นกับคนรุ่นใหม่ หลักสูตรการใช้สื่อออนไลน์และเทคนิคการทำงานออนไลน์ต่างๆ การรับจ้างทำงานจิปาถะตามทักษะเพื่อเป้าหมายในการเข้าสังคม ซึ่งปัจจุบัน มีแนวโน้มที่กลุ่มวัยนี้จะยังทำงานอยู่เนื่องจากผู้คนอายุยืนขึ้นและยังแข็งแรงอยู่ บางประเทศก็มีการขยายเวลาเกษียณออกไปถึง 65 ปี หรืออาจจะ 75 ปี ทำให้กลุ่ม Baby Boomer บางส่วนยังคงทำงานอยู่และมีความสนใจในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อใช้ในการทำงาน โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น ทักษะทางด้านเทคโนโลยี


Gen X (1965-1980) อายุ 44-59 ปี

Gen X แม้ไม่ได้เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี แต่ก็มีความกล้าลองในการใช้เครื่องมือดิจิทัล ชอบเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ แต่ในปัจจุบันก็มีความท้าทายจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก Gen X จึงต้องเผชิญกับการปรับตัว การมีทัศนคติที่ยืดหยุ่นและพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่มากขึ้นทั้งการ Upskill และ Reskill เพื่อให้ทันกับคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่การทำงาน  Gen X ชอบเรียนรู้และหาข้อมูลองค์ความรู้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดความเป็นนักประดิษฐ์ชิ้นงาน D.I.Y ที่สร้างสรรค์กว่าเดิม มองหาสิ่งที่สามารถเรียนรู้และทำเองได้ที่บ้าน 



Millennial / Gen Y (1981-1995) อายุ 29-43 ปี

Gen Y เป็นกลุ่มคนที่เติบโตเรียนรู้มากับเทคโนโลยีและระบบการศึกษาที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กจึงมีโอกาสได้เรียนรู้การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ เสมอ ทำให้เป็นคนเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ได้เร็ว กล้าที่จะทดลองใช้ ซึ่งยุคนี้เป็นช่วงเผชิญจุดเปลี่ยนในชีวิตเริ่มค้นหาตัวเองอีกครั้งในวัยนี้และ Gen Y นิยมหลักการ Work-Life Balance ที่มีเวลายืดหยุ่นที่สามารถบริหารเวลากับชีวิต ครอบครัว และเป้าหมายส่วนตัวได้ มีความใส่ใจสุขภาวะทางกาย ใจ และสิ่งแวดล้อม มีความสนใจเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ช่วยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น AR (Augmented Reality) VR ( Virtual Reality) หรือ AI (Artificial intelligence)


Gen Z (1996-2009) อายุ 14-28 ปี

Gen Z เป็นคนรุ่นใหม่ Digital Natives ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เกิดและเติบโตมาในยุคดิจิทัล มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี มีความสนใจในการเรียนรู้แบบ Lifelong Learning แม้ว่าการเรียนแบบดั้งเดิมหรือการเรียนแบบบรรยายภายในห้องเรียนจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีการปฏิบัติผสานเข้าไปในการเรียนการสอนจะช่วยดึงดูดความสนใจและความต้องการของ Gen นี้ได้  รวมถึงจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรด้าน Digital Literacy ซึ่งคือทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) และทักษะการประเมินเลือกใช้แหล่งข้อมูลทางดิจิทัลอย่างเหมาะสมด้วย  Gen Z นั้นเป็นนักปฏิบัติมากกว่านักทฤษฎีอ่านตำรา เรียนรู้ทักษะต่างๆ แล้วนำมาใช้ร่วมกันเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ลองนำไปใช้งานได้เลย เช่น เรียนเขียน/โปรแกรมตัดต่อ เพื่อทำอาชีพ Content Creator เน้นการเรียนรู้ทักษะที่จะได้เป็นอาชีพที่อยากเป็น ด้วยพฤติกรรมที่คุ้นเคยกับการเข้าถึงวีดีโอสั้นๆ ในโซเชียลมีเดีย จึงทำให้ Gen Z มีความสนใจในการเรียนรู้แบบสั้นๆ หรือ Bite-Sized Learning มาก เช่น วีดีโอบทเรียนที่มีการทอนเนื้อหาเป็นบทย่อยๆ 


Gen Alpha (2010-2024) อายุตั้งแต่ 14 ปีลงมา

Gen Alpha ถือเป็นคนรุ่นใหม่ Global Citizen ที่จะเป็นพลเมืองโลก และยังเป็น Digital Natives (กลุ่มคนที่เกิดและเติบโตมาในยุคดิจิทัล) ที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดของโลก เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีดิจิทัล AI (Artificial intelligence) และ IoTs (Internet of Things) รวมถึงอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ (Smart Devices) มีความคุ้นเคยและสามารถปรับตัวกับการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆได้ดีกว่าคนรุ่นอื่น เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สนใจการเรียนรู้ที่มีเทคโนโลยี ภาพและการโต้ตอบ (Visual and Interactive Learning) เช่น วิดีโอเกมการจำลองแบบต่างๆ นอกจากนั้นยังสนใจในบรรยากาศการเรียนรู้ที่เน้นการทำงานเป็นทีมและมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม กล้าตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ จำเป็นต้องใช้ทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) มากเพื่อใช้ในการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ เคยชินกับการใช้ชีวิตจริงบนออนไลน์ในรูปแบบเกม ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้ชีวิตหรือเรียนรู้ในชุมชนโลกเสมือนจริง (Metaverse) ในอนาคต  Gen Alpha ถือเป็นกลุ่มวัยที่จำเป็นต้องมีทัศนคติและนิสัยของการเรียนรู้ตลอดชีวิตติดตัวเพราะเป็นยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่องซึ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะมีบทบาทนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนซึ่งช่วยในการใช้ชีวิตประจำวันด้วย





ที่มาข้อมูล

Learning Habits of Gen X, Y & Z.

From www.linkedin.com

Generation Alpha and their learning habits.

From www.linkedin.com

Boomers, Zoomers, Gen X, and Millennials: When It Comes to Learning, One Size Doesn’t Fit All. 

From www.linkedin.com

Educating Digital Natives: Reshaping Educational Models For Future Generations.

From www.forbes.com

Learning & Development Strategies for Every Generation.

From https://kensington.co.th

8 Characteristics of Generation Y in the Workplace

From www.indeed.com   

eBook เจาะเทรนด์โลก2023 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

From www.creativethailand.org  


#2024LearningTrendReview #SeriesbyOKMD #LifelongLearning #OKMD 



URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ