4 ไฮไลต์พิธีเปิด "ปารีส โอลิมปิก 2024" ภาพสะท้อนตัวตนของฝรั่งเศสที่สะกดสายตาชาวโลก
นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์โอลิมปิก สำหรับการจัดพิธีเปิดมหกรรมกีฬา ‘ปารีส โอลิมปิก 2024’ ซึ่งเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศส ประเทศแห่งความคิดสร้างสรรค์ ได้สะกดสายตาชาวโลก ด้วยการสะท้อนภาพตัวตนอันโดดเด่น ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญต่างๆ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ออกมาอย่างยอดเยี่ยม โดยมีไฮไลต์ที่สร้างความตราตรึงและคาดไม่ถึงอยู่มากมาย
และนี่คือ 4 ไฮไลต์ของพิธีเปิดปารีส โอลิมปิก ครั้งนี้ ซึ่งแม้จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นที่จดจารของผู้ชมทั่วโลก ทั้งในด้านของความงดงามและยิ่งใหญ่
การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกชวนตื่นตา
เปิดฉากโดยญาเมล เดอบุซ นักแสดงตลกชาวฝรั่งเศส มายังสนามกีฬาสตาดเดอฟร็องส์ ซึ่งมีการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์มาก่อนแล้ว ก่อนจะพบว่าในสนามไม่มีผู้ใดหรือพิธีการใด เนื่องจากพิธีเปิดปารีส โอลิมปิก ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกที่มีการจัดขึ้นนอกสถานที่ ณ ริมแม่น้ำแซนและสถานที่สำคัญหลายแห่งกลางกรุงปารีส เพื่อจะเผยแสดงความงดงามของสถานที่ทางประวัติศาสตร์เหล่านั้น ก่อนคบเพลิงจะถูกส่งต่อให้กับซีเนดีน ซีดาน นักฟุตบอลแชมป์โลกของฝรั่งเศส เพื่อวิ่งไปตามย่านต่างๆ จนถึงปารีสเมโทร (สถานีรถไฟฟ้าปารีส หนึ่งในสัญลักษณ์ของเมือง) แล้วเกิดเหตุขัดข้อง จึงต้องส่งต่อคบเพลิงให้กับเด็ก 3 คนทำหน้าที่ต่อไป (เด็ก 3 คนสื่อถึงการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของฝรั่งเศส 3 ครั้ง) ด้วยการเดินทางผ่านสุสานใต้ดินและอุโมงค์โรงอุปรากรปาแลการ์นีเย (สถาปัตยกรรมชิ้นเอกยุคฟื้นฟูบาโรก) จากนั้นบุรุษนิรนามหรือตัวแทนของปีศาจแห่งโรงอุปรากร ซึ่งมีลักษณะคล้ายตัวละครในเกมอัสแซสซินส์ครีด ยูนิตี (Assassin’s Creed Unity) อันมีฉากหลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็ได้พาเด็กๆ ขึ้นเรือข้ามแม่น้ำจากโลกแห่งวิญญาณมาสู่โลกความจริงในปัจจุบัน โดยบุรุษนิรนามจะเป็นผู้รับช่วงวิ่งคบเพลิงต่อไป ก่อนภาพจะตัดมายังบรรยากาศจริง ณ อัฒจันทร์ทรอกาเดโร ริมแม่น้ำแซน และการจุดพลุดอกไม้ไฟสีธงชาติฝรั่งเศสอย่างตระการตา เพื่อบ่งบอกว่าพิธีเปิดโอลิมปิกได้เริ่มขึ้นแล้ว บนสะพานออสเตอร์ลิตซ์ จุดเริ่มต้นของขบวนเรือพาเหรดของนักกีฬาโอลิมปิก (สำหรับบุรุษนิรนามหลังรับช่วงถือคบเพลิงวิ่งไปตามจุดต่างๆ ของกรุงปารีสแล้ว ก็จะไปส่งต่อให้กับซีเนดีน ซีดาน อีกครั้ง ก่อนจะมีการส่งต่ออีกหลายทอดจนถึงนักกีฬาโอลิมปิก 2 คนสุดท้าย เพื่อนำไปจุดบนกระถางบอลลูนขนาดยักษ์ จึงเป็นอันสิ้นสุดภารกิจการวิ่งคบเพลิง)
ขบวนเรือพาเหรดของนักกีฬาโอลิมปิกสุดยิ่งใหญ่
เรือพาเหรดรวมทั้งสิ้น 85 ลำ บรรจุนักกีฬาราว 6,800 คน จาก 205 ประเทศ นำขบวนโดยกรีซ แล้วต่อด้วยชาติอื่นๆ เรียงตามอักษรภาษาฝรั่งเศส ซึ่งไทยอยู่ในลำดับที่ 184 ส่วนฝรั่งเศส ประเทศเจ้าภาพ จะปิดท้ายตามธรรมเนียมปฏิบัติ โดยเรือได้ล่องไปตามแม่น้ำแซน ผ่านสะพานและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของปารีสหลายแห่ง บนระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร จากจุดเริ่มต้นที่สะพานออสเตอร์ลิตซ์และไปสิ้นสุดที่สะพานดีเลนา อันเป็นไฮไลต์แสดงถึงความสำคัญของแม่น้ำแซนที่มีต่อชาวปารีสทั้งในด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตมาอย่างยาวนาน อีกทั้งถือเป็นขบวนเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่พระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงเอลีซาเบ็ต-หลุยส์ พระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 กับเฟลีเป ดยุกแห่งปาร์มา ในปี ค.ศ.1739 นอกจากนั้น ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ของฝรั่งเศส ยังได้กล่าวว่า ขบวนเรือพาเหรดนี้คือการแสดงที่สื่อให้เห็นถึงการปลดปล่อยและความเป็นอิสระของฝรั่งเศส อันรวมถึงการบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีการลงนาม ณ อาคารปาแลเดอชาโย ที่อยู่ด้านหลังลานทรอกาเดโร สถานที่จัดพิธีการหลักในการเปิดโอลิมปิกอีกด้วย
การแสดงเปิดโอลิมปิก 12 ชุดทรงพลัง
สุดยอดการแสดงที่สะท้อนภาพตัวตนและประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ตลอดจนแนวคิดในการจัดงานปารีส โอลิมปิก ครั้งนี้ได้อย่างจับใจ ตั้งแต่ชุดแรกจนถึงชุดสุดท้าย โดยเฉพาะการแสดงชุดแรก ชุดความยินดี (Enchanté) ที่มีเลดีกากา นักร้องชื่อดังทั้งร้องและเต้นในบทเพลง Mon truc en plumes กับนักเต้นฝรั่งเศสในสไตล์คาบาเรต์อย่างอลังการ รวมทั้งเล่นเปียโนแบบจัดเต็ม, การแสดงชุดที่ 3 ชุดเสรีภาพ (Liberté) ที่มีไฮไลต์เป็นเสียงร้องเพลง Do You Hear the People Sing? เพลงประกอบมิวสิคัลเรื่อง Les Misérables ล้อไปกับภาพวาด Liberty Leading the People สื่อถึงการเรียกร้องเสรีภาพของประชาชน และภาพพระนางมารี อ็องตัวแน็ต สวมชุดสีแดงสดในสภาพศีรษะขาดจากการถูกประหารด้วยกิโยติน ณ อนุสรณ์สถานกงซีแยร์เฌอรี ซึ่งเคยถูกใช้เป็นเรือนจำขังพระนาง อันเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ.1789 รวมถึงการแสดงของอะยะ นากามูระ ศิลปินชาวฝรั่งเศส-มาลี และการร้อง-การเต้น-การเดินแบบของคนรุ่นใหม่ ทั้งที่เป็นนักร้อง ดีเจ และกลุ่มคน LGBTQ+ เพื่อสื่อถึงความหลากหลายนานารูปแบบ หรือการแสดงชุดสุดท้าย ชุดความเป็นนิรันดร์ (Éternité) ที่มีการจุดคบเพลิงโอลิมปิกในกระถางบอลลูนขนาดยักษ์ บริเวณสวนตุยเลอรี ให้ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือกรุงปารีส เพื่อเป็นการระลึกถึงพี่น้องมงกอลฟีเย นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสผู้สร้างบอลลูนขับเคลื่อนด้วยอากาศร้อน สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อปี ค.ศ.1783 พร้อมกับเสียงร้องเพลง L’Hymne a l’amour ของเอดิต ปียัฟ โดยเซลีน ดิออน นักร้องระดับตำนานจากหอไอเฟล อย่างไพเราะสะกดหัวใจคนทั้งโลก
การส่งมอบธงโอลิมปิกสู่ยอดเสาอย่างสง่างาม
อีกไฮไลต์ที่อยู่ในช่วงท้ายของพิธีเปิดปารีส โอลิมปิก ครั้งนี้โดยนักกีฬาหญิงตัวแทนเซควานา เทพีแห่งแม่น้ำแซน สวมชุดเกราะสีเงินวาวที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโยนออฟอาร์ค วีรสตรีของฝรั่งเศส ควบม้าเหล็กข้ามแม่น้ำแซนมาเพื่อเชิญธงไปประดับบนยอดเสา ณ บริเวณลานทรอกาเดโร โดยบนธงมีสัญลักษณ์วงแหวน 5 วงคล้องกันอย่างสวยงาม และแต่ละวงมีสีแตกต่างกัน เรียงจากซ้ายไปขวา ได้แก่ สีฟ้า สีเหลือง สีดำ สีเขียว และสีแดง แสดงถึงการรวมตัวของ 5 ทวีปและการพบกันของนักกีฬาจากทั่วโลกในกีฬาโอลิมปิก ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายใต้การแนะนำของปีแยร์ เดอ กูแบร์แต็ง ผู้ก่อตั้งกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่และผู้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เมื่อปี ค.ศ.1913 และเปิดตัวในปี ค.ศ.1914 ซึ่งขนาดของธงใหญ่เกือบเท่าสนามฟุตบอลเลยทีเดียว
#parisolympics2024 #highlightsofolympics2024 #olympictorchrelay #paradeofnations #12olympicsequences #olympicflag #okmd #knowledgeportal #กระตุกต่อมคิด
ข้อมูลอ้างอิง : https://th.wikipedia.org, https://en.wikipedia.org, https://en.m.wikipedia.org/wiki/2024_Summer_Olympics_opening_ceremony, www.bbc.com/thai/articles/crg7x12y7lvo
ภาพอ้างอิง : www.facebook.com/Paris2024, www.bangkokbiznews.com/, www.facebook.com/ioaofficial, www.facebook.com/Paris2024 , www.billboard.com

