Notifications

You are here

บทความ

4 ประเทศสู้ไม่ถอยกับแผนป้องกันเมืองจมน้ำ ‘เนเธอร์แ...

15 กันยายน 2024 2456 อ่านข่าวนี้ 1 เดือนก่อน 1


เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกิดขึ้นและวิกฤตอย่างต่อเนื่อง นานาประเทศที่มีความเสี่ยงและมีวิสัยทัศน์เล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ไปจนถึงความยากลำบากในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ต่างเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าด้วยกลยุทธ์และนวัตกรรมเพื่อให้รอดพ้นวิกฤต ดังตัวอย่าง 4 ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องระบบการจัดการน้ำท่วม สู้ไม่ถอยด้วยการวางแผนป้องกันและแก้ปัญหาเมืองจมน้ำ ที่สามารถนำไปเป็นกรณีศึกษาและปรับใช้ได้ดังต่อไปนี้


1. เนเธอร์แลนด์และโครงการ ‘Delta Works’  

เนเธอร์แลนด์ หรือฮอลแลนด์ ดินแดนแห่งน้ำ ประเทศที่ราว 1 ใน 3 ของพื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและมีทางน้ำที่นำความอุดสมบูรณ์ไหลผ่านประเทศจำนวนมาก ปัญหาความเสี่ยงการเป็นเมืองจมน้ำที่อยู่คู่กับเมืองจึงทำให้ทางการของประเทศมีชื่อเสียงระดับโลกในด้านการจัดการน้ำท่วมขั้นสูง โดยมี ‘Delta Works’ ระบบป้องกันน้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดและซับซ้อนที่สุดเป็นหัวใจสำคัญ มีโครงการย่อยกว่า 10 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาระบบเขื่อน กำแพงกั้นคลื่นพายุ และระบบระบายน้ำที่ซับซ้อนเต็มประสิทธิภาพที่สามารถทำงานร่วมกัน ทั้งยังสนับสนุนภาคการเกษตรได้ดี 

เริ่มต้นและพัฒนามาตั้งแต่ ค.ศ.1937 หลังจากการศึกษาที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการพบว่าไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยสำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ จึงได้มีการระดมสมองผู้เชี่ยวชาญรอบด้านรวมถึง David van Dantzig นักคณิตศาสตร์ผู้เปลี่ยนประเทศที่นำความรู้มาคำนวณการจัดการน้ำก่อนใช้เวลาสร้างรวมราว 40 ปี และได้รับการขนานนามว่าเป็นโครงการ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ จาก The American Society of Civil Engineers แสดงให้เห็นว่าชาวดัตช์ใช้ระบบวิศวกรรมจัดการน้ำได้อย่างน่าทึ่งในสภาพแวดล้อมที่ยังคงสวยงาม สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน

2. ญี่ปุ่นและเมกะโปรเจ็กต์ ‘Tokyo Resilience Project’

เนื่องจากญี่ปุ่นมีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมและพายุไต้ฝุ่นด้วยที่ตั้งและลักษณะทางภูมิศาสตร์ ยังไม่นับรวมความรุนแรงที่เพิ่มระดับในปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลลงทุนอย่างมากในการจัดการปัญหาน้ำท่วม รวมถึงล่าสุดในโตเกียว ศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญ ที่มีสร้างพื้นที่ควบคุมน้ำท่วมใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ‘Tokyo Resilience Project’ ตามรายงานในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2023 ของ mainichi.jp เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการป้องกันภัยพิบัติให้แล้วเสร็จในช่วง ค.ศ. 2040 ทั้งยังสร้างอ่างเก็บน้ำควบคุมน้ำท่วมใต้ดินใหญ่ที่สุดในประเทศที่เชื่อมกัน

‘Tokyo Resilience Project’ มุ่งไปที่ภาพใหญ่ครอบคลุม 5 ปัญหา ได้แก่ น้ำท่วมและพายุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ความพร้อมเมื่อไฟฟ้าดับและการสื่อสารขัดข้อง และการสร้างเมืองที่พร้อมรับมือโรคติดเชื้อ มองความปลอดภัยใน 100 ปีข้างหน้าอย่างมีวิสัยทัศน์ ขณะเดียวกันปัจจุบันมีหลายโครงการย่อยที่มีการใช้งาน รวมถึงแท็งก์น้ำป้องกันน้ำท่วมใต้ดิน G-Cans Project อุโมงค์ระบายน้ำรอบนอกโตเกียว จังหวัดไซตามะ ที่เคยช่วยลดจำนวนบ้านเรือนที่ประสบภัยได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เปิดให้ประชาชนเข้าชมในช่วงเวลาปกติ ทั้งยังเป็นฉากหลังภาพยนตร์ ซีรีส์ ไปจนถึงเกม อีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์จากภัยพิบัติของแดนอาทิตย์อุทัย 


3. สิงคโปร์และ ‘Coastal Protection Masterplan’  

การตั้งอยู่ในเขตอากาศเขตร้อนและเสี่ยงฝนตกหนัก ประกอบกับทศวรรษที่ 1950-80 เกาะสิงคโปร์มีน้ำท่วมบ่อยครั้ง ยังไม่นับรวมน้ำท่วม ค.ศ. 2021 ที่ทำให้ผู้คนยิ่งตระหนัก รัฐบาลสิงคโปร์ได้ล่วงหน้านำทั้งองค์ความรู้และนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการน้ำ ปรับให้ทันยุค เพื่อรับมือให้ดีที่สุดอยู่เสมอ รวมถึงการผลักดัน Coastal Protection Masterplan แผนแม่บทป้องกันชายฝั่งจากการกัดเซาะและน้ำท่วมมาสู้ภัยพิบัติที่พร้อมเกิดขึ้นจริง

เมษายน ค.ศ. 2020 หน่วยงาน PUB สำนักงานน้ำแห่งชาติ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหน่วยงานคุ้มครองชายฝั่งแห่งชาติเพื่อเป็นผู้นำในการประสานกับทุกฝ่ายและสำรวจความพยายามของรัฐบาลเพื่อปกป้องแนวชายฝั่ง ที่เดิมประเทศมีทั้งแนวทางรับมือด้วยแนวคิดวิศวกรรม (Engineering) อย่างโครงข่ายระบบระบายน้ำกว่า 8,000 กิโลเมตร โดยมี Stamford Detention Tank แท็งก์รองรับน้ำใต้ดินที่ตั้งอยู่ใต้ดินสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์เป็นหนึ่งในโครงการที่มีชื่อเสียง แนวคิดการถมพื้นที่ดินให้สูงขึ้นหรือแยกออกจากน้ำ (Poldering) จากเนเธอแลนด์ อย่างโครงการถมทะเลเกาะ Pulau Tekong และแนวคิดจัดการปัญหาด้วยธรรมชาติ เช่น การปลูกป่าชายเลนป้องกันการกัดเซาะ นำความสามารถดักจับตะกอนด้วยระบบรากที่ซับซ้อนมาใช้งาน ทั้งยังกักเก็บคาร์บอนได้ดีกว่าต้นไม้ทั่วไป ยังไม่นับรวมการลงทุนนำแนวทางวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อตั้งรับและพัฒนาเป็นนวัตกรรม

4. อิตาลีและโครงการ MOSE กำแพงกั้นน้ำความหวังแห่งเวนิส

อิตาลีเป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มีเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่บ่อยครั้ง รวมถึงเมืองเวนิสที่อยู่ภายใต้ภัยคุกคามร้ายแรงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและการจมของแผ่นดินที่น่ากังวลขึ้นทุกขณะ จนเป็นที่มาของโครงการกำแพงกั้นน้ำ MOSE ความหวังของเมืองที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเรื้อรัง โดย MOSE เป็นภาษาอิตาลีแปลว่าโมเสส มาจาก Modulo Sperimentale Elettromeccanico ซึ่งแปลว่าโมดูลระบบเครื่องกลไฟฟ้าเชิงทดลอง เกี่ยวของกับเรื่องราวของโมเสสผู้แยกทะเลแดง

โครงการนี้ประกอบด้วยแผงกั้นน้ำที่เปิดและปิดได้ 78 บานตามแนวทางเข้าของน้ำ 3 แห่ง ซึ่งเชื่อมต่อทะเลสาบเวนิสกับทะเลเอเดรียติก โดยมีวิธีทำงานคือเมื่อน้ำทะเลสูงขึ้น แผงกั้นสีเหลืองแนวราบใต้น้ำจะยกตัวสูงตาม กลายเป็นกำแพงกั้นน้ำได้เอง และเมื่อระดับน้ำต่ำลงแผงกั้นนี้ก็จะลดต่ำลงเช่นกัน ทำหน้าที่เป็นเหมือนเขื่อนชั่วคราว ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวเมือง ร้านค้า และธุรกิจบริการ รวมถึงช่วยปกป้องสถาปัตยกรรมเก่าแก่อย่างมหาวิหารเซนต์มาร์ก ซึ่ง UNESCO ได้เคยเตือนอิตาลีว่าหากยังไม่มีการจัดการที่ดีกว่า เวนิสอาจเสี่ยงถูกถอดออกจากเมืองมรดกโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมือง

แนวทางป้องกันเมืองจมน้ำที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด แม้มีความท้าทายอย่างยิ่งในการบริหารจัดการน้ำไปจนถึงป้องกันเมืองจมน้ำ หน้าที่หลักยังคงเป็นของภาครัฐที่ต้องลงมืออย่างจริงจังและเร่งด่วนทั้งมาตรการตั้งรับ มาตรการป้องกัน และมาตรการที่นำไปสู่ความยั่งยืน โดยใช้ทั้งองค์ความรู้ ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ไปจนถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงนำความสำเร็จในการแก้ปัญหาน้ำของนานาประเทศมาปรับใช้ผสานร่วมกัน เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ภาครัฐและกรุงเทพมหานครได้พยายามหาวิธีจัดการปัญหา แต่อาจยังไม่เพียงพอกับวิกฤตด้านสภาพอากาศในปัจจุบัน ดังนั้นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการคือการยกระดับปัญหาเรื่องการจัดการน้ำและการป้องกันเมืองจมน้ำให้เป็นหนึ่งในวาระสำคัญ เพื่อต่อสู้กับภัยพิบัติในระยะสั้นควบคู่ไปกับกับระยะยาว 
  • มาตรการตั้งรับ เช่น การระบุพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการจมน้ำและน้ำท่วมชัดเจนเพื่อให้เกิดการระมัดระวังและเตรียมพร้อมล่วงหน้า การสร้าง ปรับปรุง และบำรุงรักษาระบบระบายน้ำ การนำระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพมาใช้งาน การปรับโครงสร้างเมืองให้ไวต่อน้ำ และการปรับแผนให้สอดคล้องกับวิฤตโดยคำนึงถึงกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst-Case Scenario)
  • มาตรการป้องกัน ทำได้ตั้งแต่การกำหนดข้อบังคับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นทางของปัญหา การกำหนดข้อบังคับในการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เสี่ยง และการส่งเสริมการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับความเสี่ยง ไม่เสี่ยงเพิ่ม
  • มาตรการที่นำไปสู่ความยั่งยืน เช่น การสร้างความตระหนักเพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน โดยภาคประชาชนมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนและพัฒนานวัตกรรม ไปจนถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว อย่างการปลูกป่าชายเลน
ทั้งนี้แนวทางที่ขาดไม่ได้คือการลงทุนและให้ความสำคัญในด้านข้อมูลและงานวิจัย นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาเป็นหนึ่งในกุญแจรับมือกับวิกฤต ไปจนถึงการมีกรอบความคิด Resilience ล้มแล้วลุกได้เร็ว เพื่อให้ประเทศและระบบเศรษฐกิจก้าวต่อไป

#FloodManagement #Flood #ClimateChange #เมืองจมน้ำ #น้ำท่วม #การจัดการน้ำ #ภัยพิบัติ #KnowledgePortal #okmd #กระตุกต่อมคิด

ข้อมูลอ้างอิง :  www.holland.com, destinationhistorypod.com, urbancreature.co, thematter.co, mainichi.jp, tokyo-resilience.metro.tokyo.lg.jp, รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี, www.japan.travel, www.trade.gov, The Standard, www.water-technology.net และ www.springnews.co.th
ภาพอ้างอิง :  www.holland.com, www.spt.metro.tokyo.lg.jp, gov.sg, www.cpgconsultants.com.sg และ www.mosevenezia.eu




URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ