สำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย 4 เจเนอเรชัน

01 พฤศจิกายน 2024
|
780 อ่านข่าวนี้
|
6


ทักษะทางการเงินที่ดีของประชาชน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การจัดการและการตัดสินใจทางการเงินมีความเหมาะสม และนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางการเงินต่อบุคคล เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศได้ 

โดยผลสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย ล่าสุด เมื่อ พ.ศ.2565 (สำรวจทุก 2 ปี) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยมีพัฒนาการทักษะทางการเงินดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกด้าน ด้านที่ดีขึ้น ได้แก่ ด้านความรู้ทางการเงิน ปรับตัวดีขึ้นจาก พ.ศ.2563 ที่ 62.6% เป็น 69.7% และด้านพฤติกรรมทางการเงิน ปรับตัวดีขึ้นจาก 66.4% เป็น 70.3% ส่วนด้านทัศนคติทางการเงินมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย จาก 77.8% เป็น 76.8% แต่เมื่อเทียบกับผลสำรวจทักษะทางการเงินของ OECD ซึ่งสำรวจในหลายประเทศ ค่าเฉลี่ยทักษะของคนไทยยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า  

อย่างไรก็ตาม ในยุคเศรษฐกิจโลกไม่อาจไว้ใจได้ และโลกของการเงินมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนในทุกกลุ่มอายุหรือทุกเจเนอเรชันให้ดียิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งส่งเสริม เพื่อให้ทุกคนมีความมั่นคงทางการเงิน ไม่ขาดสภาพคล่อง หรือไร้เงินสำหรับใช้จ่าย จนก่อหนี้สินแล้วสร้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น อันเป็นภาระแก่ประเทศชาติ 

เพราะฉะนั้น ในการส่งเสริมทักษะทางการเงินในทุกกลุ่มอายุหรือทุกเจเนอเรชัน หากนำเอาผลสำรวจทักษะคนไทยข้างต้นมาใช้เป็นข้อมูลในการศึกษา ก็น่าจะช่วยให้หาแนวทางส่งเสริมที่ถูกจุดและถูกต้องได้มากที่สุด ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มคนไทยได้เป็น 4 เจเนอเรชัน แต่ละเจเนอเรชันมีทักษะทางการเงินแต่ละด้านแตกต่างกันอย่างไร และจำเป็นต้องสร้างเสริมด้านไหนบ้าง


เจน Baby Boomer เพิ่มทักษะทุกด้านเพื่อให้ตามทันกลุ่มอื่น

คนไทยกลุ่มนี้ คือ ผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ.2509 เมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ จะมีภาพรวมของทักษะที่อยู่ต่ำสุด เช่น ด้านความรู้ทางการเงินมีคะแนนเฉลี่ยที่ 60.9% ด้านพฤติกรรมทางการเงินมีคะแนนเฉลี่ยที่ 68.4% แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีขึ้น ยกเว้นในหัวข้อการเลือกวิธีการออมที่เหมาะสมและการตั้งเป้าหมายระยะยาว ส่วนด้านทัศนคติทางการเงินคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 76% ซึ่งมีแนวโน้มต่ำลงตามอายุที่สูงขึ้น ดังนั้นเจนนี้จึงควรต้องส่งเสริมการเพิ่มทักษะทุกด้าน โดยเฉพาะการเน้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินและการเก็บออมสำหรับอนาคต เพื่อจะได้มีเงินใช้จ่ายตลอดช่วงอายุ

เจน X เตรียมพร้อมออมเงินเพื่อวัยเกษียณ

สำหรับคนไทยกลุ่มนี้ คือ ผู้ที่เกิด พ.ศ.2509-2523 เป็นกลุ่มที่มีทักษะทางการเงินที่ดี เมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น โดยมีคะแนนเฉลี่ยที่ 73.7% แต่ถ้าแตกย่อยเป็นด้านๆ ด้านความรู้ทางการเงินถือว่าดีขึ้นมาก โดยเฉพาะในหัวข้อความเสี่ยงและผลตอบแทน มูลค่าของเงินตามกาลเวลา นิยามเงินเฟ้อ และการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ทำให้มีคะแนนเฉลี่ยด้านนี้ถึง 74.4% ส่วนด้านพฤติกรรมทางการเงินมีคะแนนเฉลี่ยที่ 71.4% แต่ในหัวข้อบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้ และการเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อเงินไม่พอใช้ คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าช่วงวัยอื่น ขณะที่ทัศนคติทางการเงินมีคะแนนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับ 2 ของทุกช่วงวัย คือที่ 77.3% หากทว่าก็ควรเร่งส่งเสริมให้มีความตระหนักถึงการวางแผนการเงินและการออมเพื่ออนาคตเช่นกัน รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการตั้งเป้าหมายระยะยาวและเลือกวิธีการออมที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ

เจน Y เร่งปลูกฝังการวางแผนเพื่ออนาคต

คนไทยกลุ่มนี้ คือ ผู้ที่เกิด พ.ศ.2524-2543 เมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น จะมีทักษะทางการเงินสูงที่สุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยที่ 75.7% ส่วนถ้าแยกย่อยในแต่ละด้าน ด้านความรู้ทางการเงินจะมีคะแนนเฉลี่ยที่ 78.6% ด้านพฤติกรรมทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ยที่ 72.4% และด้านทัศนคติทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ยที่ 77.5% แต่จะมีจุดอ่อนต้องส่งเสริมตรงที่เป็นเจเนอเรชันเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่การทำงานและสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ก็เลยอาจจะยังบริหารจัดการเงินได้ไม่ดีพอ จึงควรเร่งปลูกฝังทัศนคติในการให้ความสำคัญกับการวางแผนเพื่ออนาคต และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทางการเงินที่ดีต่อไป

เจน Z เปลี่ยนการใช้ชีวิตเพื่อวันนี้ เป็นวางแผนเพื่อวันข้างหน้า

ส่วนคนไทยกลุ่มนี้ ผู้ที่เกิด พ.ศ.2544 เป็นต้นไป เป็นกลุ่มที่มีทักษะทางการเงินต่ำกว่ากลุ่มเจน X และ Y แต่ในด้านของการพัฒนาทักษะกลับสูงกว่าทุกช่วงวัย อาจเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ทำให้เปิดกว้างต่อการรับความรู้ต่างๆ มากกว่า โดยด้านความรู้ทางการเงินมีคะแนนเฉลี่ยที่ 77.4%, ด้านพฤติกรรมทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ยที่ 69.6% และด้านทัศนคติทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ยที่ 71.3% ซึ่งจะเห็นได้ว่าด้านทัศนคติทางการเงินนั้น คะแนนเฉลี่ยจะต่ำสุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น โดยเฉพาะในหัวข้อ ใช้ชีวิตเพื่อวันนี้ ไม่ต้องวางแผนเพื่อวันข้างหน้าก็ได้ อันสะท้อนให้เห็นถึงการไม่สนใจวางแผนการเงินเพื่ออนาคตเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติจากเดิมเป็นการรู้จักวางแผนการเงินเพื่อวันข้างหน้ามากขึ้น


*** หมายเหตุ : องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ย่อมาจาก Organisation for Economic Co-operation and Development เป็นหน่วยงานที่กำหนดกรอบการสำรวจทักษะทางการเงิน เพื่อให้ได้ผลที่เป็นมาตรฐาน และสามารถเปรียบเทียบผลสำรวจกับประเทศอื่นที่เข้าร่วมการสำรวจกับ OECD ได้ โดยทั้งนี้ ผลสำรวจทักษะทางการเงินของ OECD ประกอบสมาชิกด้วย 38 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ฮังการี อิตาลี ออสเตรีย เบลเยี่ยม เดนมาร์ก แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ส่วนไทยอยู่ในขั้นตอนแสดงเจตจำนงสมัครเป็นสมาชิก


 #knowledgeportal #okmd #กระตุกต่อมคิด #financialliteracy #thaipeoplesurvey #4generations #ทักษะทางการเงินของคนไทย #ทักษะทางการเงิน4เจน

ข้อมูลอ้างอิง : www.bot.or.th/content/dam/bot/image/research-and-publications/2565ThaiFLsurvey.pdf, https://en.m.wikipedia.org/wiki/OECD, https://thestandard.co/oecd-importance/  





0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI