รวยหรือมั่งคั่ง ชวนหาคำตอบจากตัวชี้วัด

01 พฤศจิกายน 2024
|
475 อ่านข่าวนี้
|
6


ใครๆ ก็อยากรวย แต่ต้องมีเงินเท่าไหร่หรือมากแค่ไหน ถึงเรียกว่ารวย บางคนบอกหนึ่งล้าน ขณะที่บางคนบอกสิบล้านหรือร้อยล้าน แตกต่างกันไปตามความรู้สึกของแต่ละบุคคลในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ดังนั้น การวัดความรวยด้วยจำนวนเงินตามความรู้สึก จึงเที่ยงตรงน้อยกว่าการวัดด้วยดัชนีที่เรียกว่า ความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นการวัดที่ระดับการเงินที่เหมาะสมในระยะยาว

คำถาม มีเงินเท่าไหร่ถึงเรียกว่ารวย จึงไม่สำคัญเท่ากับ มีเงินดูแลตนเองได้นานแค่ไหนถึงเรียกว่ามั่งคั่ง ดังที่ โรเบิร์ต ที. คิโยซากิ ผู้เขียนหนังสือพ่อรวยสอนลูก กล่าวไว้ ‘ความรวยวัดกันที่จำนวนเงิน แต่ความมั่งคั่งวัดกันที่เวลา’ โดยเราอาจนิยามความมั่งคั่ง ได้ว่า คือระยะเวลาที่สามารถอยู่ได้ด้วยเงินที่มีโดยไม่ต้องทำงาน

แต่ถ้าเป็นความหมายตามพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ความมั่งคั่ง (Wealth) จะหมายถึง ปริมาณหรือมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมด ที่เป็นได้ทั้งของระดับบุคคลจนถึงระดับประเทศหรือสังคม แต่ในที่นี้ จะเน้นความมั่งคั่งในระดับบุคคล 

สูตรสำหรับชี้วัดหรือตรวจสอบความมั่งคั่ง(Wealth Formula) แบ่งออกได้เป็น 2 สูตร คือ

1. ความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth) 
หมายถึง ขนาดของสินทรัพย์รวมของบุคคล หักออกด้วยหนี้สินรวมของบุคคล 
เป็นสูตรใช้ตรวจสอบฐานะการเงินของแต่ละบุคคล ณ ปัจจุบัน ว่า เป็นอย่างไร มั่งคั่งหรือย่ำแย่ ซึ่งผลลัพธ์ควรจะต้องมีมากกว่า 1 ล้านบาท จึงเรียกว่ามั่งคั่ง และจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาต่างๆ สามารถแสดงได้เป็นสมการ ความมั่งคั่งสุทธิ = สินทรัพย์รวม – หนี้สินรวม 

โดยวิธีวัดหรือคิดคำนวณ 
เริ่มด้วยการรวบรวมสินทรัพย์ต่างๆ ที่เราเป็นเจ้าของทั้งหมด โดยการตีเป็นมูลค่าตลาดหรือราคา ณ ปัจจุบัน แบ่งเป็น

  • สินทรัพย์สภาพคล่องหรือสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร
  • สินทรัพย์เพื่อการลงทุนหรือสินทรัพย์ที่เราถือไว้ และคาดว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ในอนาคต เช่น หุ้นกู้ หุ้นสามัญ กองทุนรวมต่างๆ
  • สินทรัพย์เพื่อใช้ส่วนตัวกับสินทรัพย์ที่มีค่า หมายถึงสินทรัพย์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน กับที่เก็บเป็นของสะสม เช่น บ้าน รถยนต์ ทองคำ เครื่องประดับ
  • สินทรัพย์อื่นๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าได้ เช่น ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตรต่างๆ  

จากนั้นจึงรวบรวมหนี้สินต่างๆ ที่คงค้างอยู่ในปัจจุบัน แบ่งเป็น หนี้สินระยะสั้นหรือหนี้สินที่ต้องชำระคืนภายใน 1 ปี เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนชำระสินค้า กับหนี้สินระยะยาวหรือหนี้สินที่ต้องชำระคืนเกินกว่า 1 ปี เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน 

เสร็จแล้วค่อยนำข้อมูลและมูลค่าของสินทรัพย์มาคำนวณความมั่งคั่งสุทธิ จากสินทรัพย์รวม-หนี้สินรวม หากความมั่งคั่งสุทธิเป็นบวก จะหมายถึงเรามีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน แต่หากความมั่งคั่งสุทธิติดลบ จะหมายถึงเรามีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน 

ยกตัวอย่างเช่น 
มีสินทรัพย์รวม 3,500,000 บาท หนี้สินรวม 2,000,000 บาท ความมั่งคั่งสุทธิจะเท่ากับ 1,500,000 บาท จัดเป็นความมั่งคั่งสุทธิเป็นบวก

แต่ถ้ามีสินทรัพย์สินรวม 2,000,0000 บาท หนี้สินรวม 3,500,0000 บาท ความมั่งคั่งสุทธิจะเท่ากับ -1,500,000 บาท จัดเป็นความมั่งคั่งสุทธิติดลบ ซึ่งถือว่าความมั่งคั่งย่ำแย่ สุขภาพการเงินไม่ดี มีแนวโน้มขาดอิสรภาพทางการเงินในอนาคต  

นอกจากนั้น ตามปกติ ความมั่งคั่งสุทธิยังปรับเพิ่มขึ้นตามอายุและเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น คนที่อายุน้อยส่วนใหญ่จึงมีความมั่งคั่งสุทธิน้อยกว่าคนอายุมาก 

2. ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุ (Net Worth by Age)
หมายถึง ความมั่งคั่งสุทธิที่สัมพันธ์กับอายุและความสามารถในการหารายได้ต่อปี 
เป็นสูตรใช้คำนวณหาตัวเลขจำนวนสินทรัพย์ขั้นต่ำที่ควรมีให้ถึงเกณฑ์ ตามอายุของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม สูตรนี้ควรใช้ในช่วงวัยทำงานระดับกลางขึ้นไป เนื่องจากมีรายได้มากพอที่จะเก็บเงินหรือลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่งมาบ้างแล้วในระดับหนึ่ง 

โดยวิธีคิดหรือคำนวณ
เริ่มด้วยการนำอายุปัจจุบันเป็นตัวตั้ง คูณกับจำนวนรายได้รวมตลอดปี (รวบรวมทั้งเงินเดือนประจำจากการทำงานและรายได้จากช่องทางอื่นๆ) แล้วหารด้วย 10 ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้ ก็จะเป็นความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุ 

จากนั้นนำความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุ มาเปรียบเทียบกับความมั่งคั่งสุทธิ เพื่อจะได้ทราบฐานะการเงินว่าเป็นอย่างไร หากมีความมั่งคั่งสุทธิมากกว่า แสดงว่ามีฐานะการเงินดี แต่หากมีความมั่งคั่งสุทธิเกิน 1 ล้านบาท แต่ยังมีจำนวนน้อยกว่าความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุ แสดงว่ามีฐานะการเงินไม่ดี 

ยกตัวอย่างเช่น
อายุ 35 ปี มีรายได้รวม 500,000 บาทต่อปี เท่ากับตอนนี้มีความมั่งคั่งสุทธิตามอายุ เท่ากับ 1,750,000 บาท และเมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างความมั่งคั่งสุทธิข้างต้น จะเห็นว่าความมั่งคั่งสุทธิที่ 1,500,000 บาท มีจำนวนน้อยกว่าความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุ แสดงว่ามีฐานะการเงินไม่ดีพอ จึงควรต้องทบทวนการใช้จ่ายและวางแผนการเงินใหม่ เพื่อให้มีเงินหรือจำนวนสินทรัพย์มากกว่าความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมีตามอายุ โดยอาจจะลดรายจ่าย หาทางเพิ่มรายได้ หรือศึกษาการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินทรัพย์ 

เพราะฉะนั้น ระหว่างรวยกับมั่งคั่ง เลือกสร้างความมั่งคั่งย่อมมั่นคงกว่า อีกทั้งยังมีสูตรในการใช้ตรวจสอบที่ชัดเจน เพื่อชี้วัดสถานะความมั่งคั่งเบื้องต้น อันจะนำไปสู่การวางแผนการบริหารจัดการเงินที่ดี และมีอิสรภาพทางการเงินในอนาคตได้ โดยทุกคนควรตรวจสอบความมั่งคั่งของตนเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง      


#wealthformula #networth #networthbyage #ความมั่งคั่งสุทธิ #ความมั่งคั่งสุทธิตามอายุ #สูตรชี้วัดความมั่งคั่ง #knowledgeportal #okmd #กระตุกต่อมคิด 

ข้อมูลอ้างอิง : 
https://corporatefinanceinstitute.com/resources/valuation/net-worth/, www.tiscoasset.com/providentfund/networth/, www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/knowledge/infographic/76-2-steps-to-check-your-wealth  


0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI