เศรษฐกิจฐานความรู้: การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยองค์ความรู้
ความรู้ถือเป็นทรัพย์สินอันมีคุณค่า ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าใจและพัฒนาตนเอง รวมถึงนำไปสู่การพัฒนาสังคมโดยรวมได้อย่างยั่งยืน ด้วยการศึกษาและการวิจัยที่นำมาซึ่งองค์ความรู้ซึ่งเจ้าของสามารถถือสิทธิ์และสร้างมูลค่าให้แก่ตนเองได้ เช่นเดียวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกคุ้มครองและนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ความรู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ที่ในปัจจุบันมักมุ่งเน้นการใช้ความรู้มากกว่าแรงงานในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ ส่งผลให้ราคาจึงถูกประเมินจากคุณค่าทางความรู้ มากกว่าการลดต้นทุนการผลิต (ศิริรัตน์ จำปีเรือง และ อมรรัตน์ วัฒนาธร, 2553)
นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา หลายประเทศได้นำความรู้มาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในกระบวนการผลิต การกระจายสินค้า และการให้บริการ เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการสร้างงานในทุกภาคส่วน แนวทางนี้เรียกว่า “เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy)” ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ความรู้และนวัตกรรมมากกว่าเงินทุนและแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญ การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความรู้เป็นฐานเช่นนี้มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตและเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตของประเทศได้อย่างยั่งยืน (OECD, 2002)
ปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจฐานความรู้
เศรษฐกิจฐานความรู้ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ระบบนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยี ประชากรที่มีการศึกษาและแรงงานที่มีทักษะ และโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศและโทรคมนาคม โดยมีเสาหลัก 4 ประการคือ
(1) การกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
(2) การพัฒนาแรงงานให้มีความรู้และทักษะ
(3) การพัฒนาองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ให้สามารถสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ และ
(4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลข่าวสารให้ทันสมัยและเข้าถึงได้ (โตมร ศุขปรีชา, 2564)
ปัจจัยที่ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานความรู้
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจฐานความรู้เติบโต ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันได้ด้วยราคาเพียงอย่างเดียว ความต้องการสินค้าที่มีนวัตกรรมและการพัฒนาทางเทคโนโลยี ซึ่งช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศหรือระดับชุมชน การมุ่งเน้นการพัฒนาในท้องถิ่น เช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ในระดับชุมชนได้ (ศิริรัตน์ จำปีเรือง และ อมรรัตน์ วัฒนาธร, 2553)
การสร้างสังคมฐานความรู้เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้และทักษะที่ทันสมัย เป็นสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดสังคมสารสนเทศ (Information Society) และสังคมฐานความรู้ (Knowledge-based Society) โดยต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีศักยภาพรองรับการเติบโตของข้อมูลข่าวสาร และส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต (ศิริรัตน์ จำปีเรือง และ อมรรัตน์ วัฒนาธร, 2553)
ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ สหภาพยุโรปที่วางนโยบายมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการลงทุนในบุคลากร เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืนผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค (การุณย์ลักษณ์ พหลโยธิน, 2548)
บทสรุป
เศรษฐกิจฐานความรู้เป็นแนวทางการพัฒนาที่ช่วยสร้างมูลค่าและคุณค่าให้แก่ประเทศโดยรวม การลงทุนในความรู้และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ระบบที่ยั่งยืน โดยทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงความรู้ในหลากหลายด้านและมีโอกาสในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างรากฐานสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่คนในวงกว้างได้อย่างแท้จริง
ข้อมูลอ้างอิง
การุณย์ลักษณ์ พหลโยธิน. (2548). นโยบายยุโรปเพื่อความสามารถในการแข่งขัน: สหภาพเศรษฐกิจบนฐานแห่งความรู้. วารสารยุโรปศึกษา, 13(1-2), 68-82.
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2557). ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy). จาก https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/106617
โตมร ศุขปรีชา. (2564). ความสำเร็จที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ว่าด้วยการสั่งสมความรู้เพื่อสร้างเศรษฐกิจของเกาหลี. จาก https://thematter.co/thinkers/squid-game-and-knowledge-economy-in-korea/158392
ศิริรัตน์ จำปีเรืองและอมรรัตน์ วัฒนาธร. (2553). ความรู้ที่จำเป็นของคนยุคเศรษฐกิจฐานความรู้. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 12(1), 165-171.
ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์. (2555). เศรษฐกิจฐานความรู้ คือ คำตอบของการพัฒนาในวันนี้. จาก https://www.gotoknow.org/posts/163800
OECD. (2002). The knowledge-based economy. UNITED NATIONS. New York and Geneva.

