ท่ามกลางโลกเทคโนโลยีที่ดำเนินและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีปัจจัยทางสังคม การเมือง ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ทางฟากระบบการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ไปจนถึงผู้ที่ศึกษาทั้งในและนอกระบบ จึงควรนำเทคโนโลยีและแนวคิดเหล่านี้มาปรับใช้ ไปจนถึงวิเคราะห์เพื่อเตรียมทักษะใหม่ที่มีแนวโน้มมาแทนที่ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับนิตยสาร Forbs ที่นำเสนอบทความ The Biggest Education Trends Of The Next 10 Years เพื่อแสดงให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในโลกการศึกษา ทั้งรูปแบบการสอนที่ให้ความสำคัญกับการพึ่งพาเทคโนโลยี การเรียนรู้ตลอดชีวิต ไปจนถึงการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต นับจาก ค.ศ. 2025 - 2035 มองไกลไปจนถึงอีก 10 ปี
สภาพแวดล้อมการเรียนรู้เสมือนจริงที่สมจริง (Immersive Virtual Learning Environments)
ภายใน ค.ศ. 2035 ความแตกต่างระหว่างโลกทางกายภาพและโลกดิจิทัลจะพร่าเลือนและจางหายมากขึ้น เช่นเดียวกับในด้านการศึกษา แม้ว่าผู้เรียนกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่นจำนวนมากยังคงเข้าเรียนในห้องเรียนกายภาพ แต่จะมีทางเลือกอื่นสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ ในกรณีผู้ที่อยู่ห่างไกล ผู้ใหญ่ และทุกเพศ ทุกวัย ทุกปัจจัยที่เป็นผู้เรียนตลอดชีวิต
นอกจากนี้ในเวลานั้นเทคโนโลยี VR และ AR จะเข้าถึงได้ง่ายกว่าในปัจจุบันอย่างมาก ด้วยอุปกรณ์น้ำหนักเบาและราคา
ไม่แพง เข้าถึงได้ไม่ยากทำให้ทุกคนสามารถโต้ตอบกับผู้สอนและเพื่อนผู้เรียนได้อย่างง่ายดายราวกับว่าพวกเขาอยู่ในห้องเดียวกัน
ห้องเรียนและวิทยาเขตเสมือนจริงที่เหมือนกับเราได้เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม (Immersive Experience) จะทำให้เราสามารถมีส่วนร่วมในการจำลองที่ซับซ้อน ส่งผลดีกับแนวคิดการศึกษาแบบเท่าเทียม ในแง่มุมการสร้างสร้างประสบการณ์ร่วมกัน ที่ในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความสมดุลระหว่างห้องเรียนโลกเสมือนและโลกกายภาพ เพื่อป้องกันความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคม ที่มักเกี่ยวข้องกับผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เวลาอยู่หน้าจอนาน จนทำให้ส่งผลต่อสภาพจิตใจ
การเรียนรู้แบบปรับตัวที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ (AI-Driven Adaptive Learning)
หนึ่งในผลพวงที่ลึกซึ้งที่สุดจากเอไอในอีก 10 ปีข้างหน้า คือการเพิ่มขึ้นของการเรียนรู้ส่วนบุคคล เนื่องจากจำนวนผู้เรียนในห้องเรียนแบบดั้งเดิม (โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา) และสภาพแวดล้อมออนไลน์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันครูผู้สอนจะสามารถเข้าถึงเครื่องมือที่ประเมินความสามารถได้อย่างแม่นยำ และแยกแยะความแตกต่างระหว่างรูปแบบการเรียนรู้ เพื่อสร้างหลักสูตรที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล
แพลตฟอร์มการสอนโดยเอไอปัจจุบันจะพัฒนาเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านเอไอที่ยืดหยุ่น สามารถเข้าใจสภาวะทางจิตวิทยาและรูปแบบพฤติกรรมเพื่อกำหนดกลยุทธ์การสอนที่ดีที่สุดทั้งยังให้การสนับสนุนและให้กำลังใจทางด้านอารมณ์กับผู้เรียน นักเรียนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (Biometric Data) เพื่อช่วยให้ทราบเวลาที่ดีที่สุดในการเรียนรู้และผ่อนคลายสำหรับตนเอง มีเกมที่ปรับเปลี่ยนได้เพื่อท้าทายพัฒนาการของผู้เรียน การสนับสนุนการมีส่วนร่วมและประเมินผู้เรียนตลอดกระบวนการอย่างมีพลวัตร กลายเป็นมาของรูปแบบการเรียนรู้แบบปรับตัว (ที่เน้นความเฉพาะตัว) ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ
เทคโนโลยีประสาทและการเรียนรู้แบบเร่งรัด (Neurotechnology And Accelerated Learning)
เรากำลังกล่าวถึงการแฮ็กสมองมนุษย์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น (Hacking The Human Brain For Better Learning) แม้จะฟังคล้ายนิยายวิทยาศาสตร์แต่สิ่งนี้มีอยู่จริง โดยเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เฟซคอมพิวเตอร์สมอง หรือ เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า BCI หรือ Brain-Computer Interface ตามคำอธิบายของสวทช. โดยมีตัวอย่างที่มีชื่อเสียงที่สุดคือการทดลอง Neuralink เทคโนโลยีด้านประสาทที่พัฒนาในเรื่องการปลูกถ่ายฝังชิปในสมองของอีลอน มัสก์
อย่างไรก็ดีเราได้พบว่ากรณีการใช้งานแรกๆ ในด้านการศึกษา เกี่ยวข้องกับกรณีการช่วยเหลือนักเรียนที่มีความพิการ ทำให้สามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยความคิดที่เป็นเหมือนคำสั่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการสื่อสารและมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ได้จริง และนับจากภายใน 10 ปีเชื่อได้ว่าสิ่งนี้จะถูกพัฒนาขึ้นตามลำดับ เพื่อให้ทำความเข้าใจกระบวนการการเรียนรู้ของสมองได้ดีขึ้น ที่อาจเพิ่มความเร็วในการนำเข้า เก็บรักษา และเรียกคืนข้อมูล ด้วยการตรวจสอบการตอบสนองทางไฟฟ้าที่เกิดจากสมองในขณะเรียนรู้หรือทำงาน โดยนักวิจัยเชื่อว่าอาจเป็นไปได้ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถของเราในการเรียนรู้ข้อมูล หรือแม้แต่พัฒนาทักษะต่างๆ เช่น การเล่นเครื่องดนตรี
การเรียนรู้ตลอดชีวิต (A Lifetime Of Learning)
แนวคิดเรื่องงานเพื่อชีวิต หรือ Job for Life อาจดูเป็นเรื่องปกติสำหรับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) แต่ปัจจุบันและอนาคตจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่คิดว่าตนเองมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพได้ตลอดชีวิตได้อีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ระบบการศึกษาปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งนี้มากขึ้น โดยการนำเสนอหลักสูตรเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติและโอกาสในการยกระดับทักษะให้กับผู้เรียน
หนึ่งในตัวอย่างน่าสนใจคือบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Amazon ที่นำเสนอโปรแกรมฝึกงานระดับปริญญา และสิ่งนี้จะกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นทุกขณะ ตราบใดที่ผู้ว่าจ้างต้องการพัฒนาทักษะบุคลากรในทิศทางนั้นๆ รวมไปถึงการเรียนรู้แบบ
ไมโคร-เลิร์นนิง (Micro-learning) และนาโน-เลิร์นนิง (Nano-Learning) กระบวนการเรียนรู้ จากองค์ความรู้ส่วนเล็กๆ และการแบ่งเนื้อหาเป็นส่วนๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ทันใช้ ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของวิชาชีพและอุตสาหกรรม ซึ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสของคนทำงานในยุคเอไอ
แม้ ค.ศ. 2035 จะเป็นเรื่องของอนาคต แต่การมองไปข้างหน้า จะช่วยให้เราไม่พลาดโอกาสในระยะไกล และเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ๆ ที่อาจมาถึงก่อนเวลาที่ควรจะเป็น ทั้งยังอาจกล่าวได้ว่าใครพร้อมก่อนย่อมได้เปรียบในโลกการการแข่งขันและโลกของเทคโนโลยีเอไอ
#Education #Trend #AI #การศึกษา #เทรนด์ #เอไอ #KnowledgePortal #กระตุกต่อมคิด #OKMD
ข้อมูลอ้างอิง : www.forbes.com, www.nsm.or.th, techsauce.co, www.digitallearninginstitute.com
และ www.nstda.or.th