ความรู้เรื่องเงินตรา วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน
เมื่อกล่าวถึงความรู้ทางการเงิน หนึ่งในความรู้สำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจระบบการแลกเปลี่ยนของโลก ซึ่งมีเงินเป็นศูนย์กลางและปัจจัยพื้นฐานเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต คือความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการเงินตราจากอดีตสู่ปัจจุบัน ไปตามติดวิวัฒนาการเงินตราในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าทึ่งกัน
วิวัฒนาการเงินตราในแต่ละยุค
วิวัฒนาการเงินตราจากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของสังคมและเทคโนโลยี โดยสามารถแบ่งคร่าวๆ เป็นยุคต่างๆ ได้ ดังนี้
- ยุคแลกเปลี่ยนสิ่งของ (Barter System)
เป็นยุคที่ไม่ได้ใช้เงินในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ แต่ใช้ระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของ โดยผู้คนจะนำสิ่งของที่ตนเองมีไปแลกกับสิ่งของที่คนอื่นมี เช่น นำพืชผล สัตว์เลี้ยง ไปแลกกับเสื้อผ้า อาหาร หรือเครื่องมือต่างๆ แต่ระบบนี้มีข้อจำกัด เพราะความต้องการของผู้แลกเปลี่ยนต้องตรงกัน และบางครั้งมูลค่าสินค้าไม่เท่ากัน - ยุคเงินสินค้า (Commodity Money)
เพื่อแก้ปัญหาระบบการแลกเปลี่ยนของยุคแรก ทำให้สังคมเริ่มใช้วัตถุบางอย่างที่มีค่าและเป็นที่ยอมรับในการแลกเปลี่ยน เช่น เปลือกหอย ขนนก โลหะมีค่า ซึ่งมีมูลค่าในตัวเองและสามารถนำไปใช้ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่างๆ ได้ คล้ายกับเงินเหรียญในยุคต่อมา - ยุคเงินเหรียญ (Metallic Money)
เป็นยุคที่มีการใช้โลหะมีค่าอย่างทองคำและเงินมาทำเป็นเหรียญ เพื่อใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ เพราะง่ายต่อการพกพาและมีมูลค่าที่ชัดเจน ซึ่งราชวงศ์หรืออาณาจักรต่างๆ จะทำการตีเหรียญมาใช้ และเหรียญเหล่านี้มักมีตราสัญลักษณ์ของผู้ปกครอง - ยุคเงินกระดาษ (Paper Money)
ต่อมาเมื่อการค้าและการพาณิชย์มีการขยายตัว การถือเงินเหรียญจำนวนมากกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงเกิดการริเริ่มใช้เงินกระดาษหรือธนบัตรแทน โดยธนาคารจะออกธนบัตรที่สามารถแลกเป็นทองคำหรือเงินได้ ทำให้ง่ายต่อการพกพายิ่งขึ้น ซึ่งจีนในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ถือเป็นประเทศแรกที่มีการใช้เงินกระดาษ แล้วต่อมาจึงแพร่หลายไปยังยุโรปในศตวรรษที่ 17 เริ่มในสวีเดนเป็นประเทศแรก - ยุคเงินธนาคาร (Fiat Money)
เป็นยุคที่ธนาคารกลางออกเงินเฟียตหรือเงินทั่วไปมาใช้ ซึ่งมูลค่าของเงินนี้รัฐบาลในแต่ละประเทศจะเป็นผู้กำหนด ดังนั้นมูลค่าของเงินจึงไม่ได้ผูกกับทองอีกต่อไป ทำให้การจัดการทางการเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเป็นระบบที่ใช้ในเศรษฐกิจทั่วโลก - ยุคเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Money)
เป็นยุคที่เงินถูกพัฒนาให้เป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถโอนผ่านระบบธนาคารออนไลน์ได้ และมีการเปิดตัวบัตรเครดิต/เดบิต รวมถึงการใช้ e-Wallet หรือแอปพลิเคชันทางการเงินต่างๆ ส่งผลให้การชำระเงินง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น - ยุคสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำได้นำมาสู่การเกิดสกุลเงินดิจิทัล เช่น บิตคอยน์หรืออีเธอเรียม ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลหรือธนาคารกลาง และใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อรักษาความปลอดภัยและโปร่งใสในการทำธุรกรรม โดยปัจจุบันการใช้เงินสกุลนี้กำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะกับการลงทุนและการซื้อขายออนไลน์
วิวัฒนาการเงินตราในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยของเรามีการเปลี่ยนผ่านการใช้เงินตรามาหลายยุคสมัยเช่นกัน เริ่มตั้งแต่ยุคของการใช้สิ่งที่หาได้ตามธรรมชาติ เช่น ลูกปัด หนังสัตว์ หรือน้ำผึ้ง มาสู่ยุคที่ผลิตเงินขึ้นมาใช้อย่างเช่น เงินพดด้วง เบี้ยหอย ประกับดินเผา เรื่อยมาจนกระทั่งถึงยุคของการใช้เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตด้วยเครื่องจักรจากอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ 4
ต่อมาเมื่อประเทศไทยทำการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น พร้อมกับระบบการเงินทั่วโลกได้พัฒนาสู่ยุคของการใช้เงินกระดาษหรือธนบัตรเป็นสื่อกลางสำหรับการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ก่อตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกขึ้น เพื่อผลิตธนบัตรออกใช้ เมื่อปี พ.ศ. 2512 พร้อมกับจัดตั้งศูนย์จัดการธนบัตรเพื่อดูแลการกระจายธนบัตรผ่านธนาคารพาณิชย์ให้ประชาชนได้ใช้ธนบัตรที่มีสภาพดีอย่างทั่วถึง ทำให้เงินบาทไทยและธนบัตรไทยเป็นสกุลเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายและใช้กันอย่างแพร่หลาย
นอกจากเงินกระดาษในรูปแบบธนบัตรแล้ว ก็ยังมีในรูปแบบเช็คที่นิยมใช้กันในแวดวงธุรกิจ เพื่อรองรับการทำธุรกรรมมูลค่ามหาศาล รวมถึงเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถโอนผ่านระบบธนาคารออนไลน์บนโทรศัพท์มือถือ และการใช้คิวอาร์โค้ดในการชำระเงินได้ ซึ่งช่วยให้รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศได้ดียิ่งขึ้น
จึงเห็นได้ว่า การเรียนรู้เรื่องวิวัฒนาการเงินตรานั้น ช่วยส่งเสริมความเข้าใจทั้งด้านการแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการเงิน ความปลอดภัยทางการเงิน และมูลค่าของเงิน ซึ่งสามารถนำไปใช้วางแผนการเงินในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ
ข้อมูลอ้างอิง : bot.or.th, en.m.wikipedia.org, efinancialthai.com, saranukromthai.or.th, th.m.wikipedia.org

