นาฏศิลป์กับ AI
นาฏศิลป์กับปัญญาประดิษฐ์ อดีตกับอนาคตที่บรรจบกันตรงกลาง นาฏศิลป์ไทยเกิดขึ้นในสมัยอยุธยา มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 300 ปี แรกเริ่มมีจุดประสงค์ในการร่ายรำเพื่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า ตอบสนองความเชื่อเรื่องสมมติเทพ ปัจจุบันในโลกที่เทคโนโลยีได้แฝงตัวอยู่ในทุกอนูของสังคม ความเชื่อถูกแทนที่ด้วยหลักวิทยาศาสตร์แห่งความเป็นจริง นาฏศิลป์ไทยจะดำรงอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร
ครูพิเชษฐ กลั่นชื่น อายุ 53 ปี เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี พ.ศ.2549 เส้นทางของครูพิเชษฐเริ่มจากการเป็นนักเรียนสายวิทย์-คณิต ที่เข้าไปศึกษาโขนแบบดั้งเดิมกับครูไชยยศ คุ้มมณี ครูโขนอาวุโสของกรมศิลปากร จากนั้นจึงศึกษาต่อคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การศึกษาทั้งสองรูปแบบหล่อหลอมให้เกิดเป็นครูพิเชษฐ ศิลปินผู้อยู่ตรงกลางระหว่างอดีตและอนาคต
ครูพิเชษฐใช้ความรู้นาฏศิลป์แบบดั้งเดิมผสานกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นปัจจุบัน ศึกษาหลักการของนาฏศิลป์ เพื่อให้ตอบโจทย์กับสังคมปัจจุบัน กว่า 15 ปีที่พยายามสกัด DNA ของนาฏศิลป์ไทย ในที่สุดก็ได้ออกมาเป็นองค์ประกอบทั้ง 6 ดังนี้
- วงกลมและเส้นโค้ง (Circles & Curves)
คือ การพิจารณาเส้นทางเดินของอวัยวะ เช่น แขนหรือขา - พลังงาน (Energy)
คือ พลังงานในร่างกายที่ทำให้เกิดจังหวะในการเต้น - จุดภายในและภายนอกร่างกาย (Axis Points)
คือ จุดแกนหมุนของร่างกาย - พื้นที่ว่างโครงสร้างท่า (External Body Spaces)
คือ พื้นที่รอบตัวของนักเต้น - ความสัมพันธ์ของร่างกาย (Synchronous Limbs)
คือ การสอดประสานการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ - การเคลื่อนย้ายความสัมพันธ์ (Shifting Relations)
คือ การเปลี่ยนท่าเต้นที่สัมพันธ์กับความสนใจของผู้ชม
องค์ประกอบทั้ง 6 ได้ถูกพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยี เกิดเป็น Cyber Subin Project เว็บไซต์ที่เชื่อมโยงอดีตและอนาคตเข้าไว้ด้วยกันผ่านตัวกลางคือ AI เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถร่ายรำนาฏศิลป์ไทยได้ การนำเทคโนโลยีมาประกอบรวมเข้ากับนาฏศิลป์ทำให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ แก้ไข และพัฒนาท่ารำในแบบฉบับของตัวเองได้อย่างอิสระ โดย AI จะเปลี่ยนแปลงท่ารำจากการป้อนคำสั่งโดยผู้ใช้งาน ตามหลักองค์ประกอบทั้ง 6
ติดตามคลิป “นาฏศิลป์ AI” ได้ที่
- https://youtu.be/7boQm6h9QTM?si=wOC-57GyGQEwiMuR
- www.facebook.com/OKMDInspire/videos/641468298814262/

