BOOKTERFLY EFFECT: เมื่อพลังการอ่าน สร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนโลก ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2568
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เวียนมาจัดในปี พ.ศ.2568 เป็นครั้งที่ 53 โดยมีงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ จัดร่วมด้วย เป็นครั้งที่ 23 ซึ่งสำหรับปีนี้ เปิดให้เหล่าหนอนหนังสือได้สัมผัสบรรยากาศ พร้อมสนุกกับการเลือกซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ อย่างมากมาย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม - 7 เมษายน รวมระยะเวลา 12 วันเต็ม
โดยความพิเศษของงาน นอกจากจะชูคอนเซ็ปต์ ย ยักษ์ อ่าน ใหญ่ เพื่อส่งเสริมการอ่านขนานใหญ่กว่าทุกปีแล้ว หนึ่งในกิจกรรมที่น่าจับตามากที่สุดก็คือ กิจกรรม Bookterfly Effect ซึ่งมูลนิธิหนึ่งอ่านล้านตื่น และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) จับมือกันจัดขึ้น ภายใต้แรงบันดาลใจที่ได้รับมาจากปรากฏการณ์ Butterfly Effect หรือผีเสื้อขยับปีก มาต่อยอด ด้วยคำอธิบายที่ว่า พลังเล็กๆ ก็อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือหนึ่งเล่ม หนึ่งหน้า หรือหนึ่งประโยค จากคนหนึ่งคน ก็อาจสร้างการตื่นอ่าน ตื่นรู้ ที่ส่งต่อให้คนอื่นๆ อยากอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย จนกลายเป็นหนึ่งล้านคนอ่าน ที่นำไปสู่หนึ่งล้านปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนโลก เปลี่ยนชีวิต หรือเปลี่ยนวิธีคิดของพวกเขาได้อย่างมหัศจรรย์
ดังนั้น ด้วยพลังเล็กๆ จากการอ่าน จึงมีคุณค่าและอำนาจยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนสังคมแห่งการอ่าน และพลิกวงการหนังสือให้สามารถเติบโตได้ เนื่องจากยิ่งคนอ่านเพิ่มขึ้น หนังสือก็ย่อมขายดีมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นซอฟต์พาวเวอร์หนังสือ ตามนโยบายของคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติอีกแรงหนึ่งไปในตัว
ส่วนกิจกรรมที่มัดรวมอยู่ในกิจกรรม Bookterfly Effect ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ นิทรรศการ ‘ปรากฏการณ์ 1 อ่านล้านตื่น’, กิจกรรมเสวนา Bookterfly Effect: หนึ่งคนอ่าน ล้านคนตื่น กับ BookaTrend: อนาคตหนังสือไทยในโลกไร้กระดาษ และการแข่งขัน Bookathon ครั้งแรกของวงการหนังสือไทย
เริ่มจากนิทรรศการ ‘ปรากฏการณ์ 1 อ่านล้านตื่น’ เป็นนิทรรศการรวบรวม 1 อ่านของคนดังทั้งในประเทศและระดับโลกจากหนังสือ 1 เล่ม แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงในมุมมอง ความคิด หรือชีวิตด้านต่างๆ จำนวน 30 คน อาทิเช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, อีลอน มัสก์, โอปราห์ วินฟรีย์, แจ็ก หม่า, อุทิศ เหมะมูล, โตมร ศุขปรีชา, วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ, ทีปกร วุฒิพิทยามงคล, ท้อฟฟี่ แบรดชอว์, จีระวุฒิ เขียวมณี เป็นต้น ในบรรยากาศเข้าถึงง่าย เพื่อให้ผู้ชมได้ชมนิทรรศการอย่างสะดวกและใกล้ชิดตลอดวันจัดงาน
สำหรับ ‘ปรากฏการณ์ 1 อ่านล้านตื่น’ ของคนดังในประเทศ ขอยกตัวอย่าง 5 คนดัง ได้แก่
- อุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ.2552 อ่านหนังสือ ‘วรรณาคดี อัตชีวประวัติ ของวรรณา ทรรปนานนท์’ เขียนโดย ศรีดาวเรือง แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนี้
“เรื่องราวชีวิตของผู้ประพันธ์สำคัญคนหนึ่งของไทย บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในวัยสาวด้วยความเรียบง่าย แต่งดงามและตราตรึงใจ เป็นหนังสืออัตชีวประวัติที่จริงใจ รวบรวมความทรงจำในหนทางชีวิตที่ผ่านมา เป็นการเผชิญหน้ากับอดีตของตนทั้งด้านที่ร้ายและดีได้อย่างกล้าหาญ หนังสือเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีสำหรับนักเขียนรุ่นหลังๆ ให้กล้าลุกขึ้นมาเขียนงานของตน ผ่านการโอบรับประสบการณ์ชีวิตของผู้มาก่อน” - โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD, นักเขียน-นักแปล และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ อ่านหนังสือ ‘Illusions (มายา)’ เขียนโดย ริชาร์ด บาก แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนี้
“บากเป็นคนที่พูดถึงความเป็น ‘อิสระ’ ของมนุษยชาติมาตั้งแต่เล่ม โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล แล้ว แต่เล่ม lllusions เล่มนี้ เขาขยายความล้ำลึกมาก โดยพูดถึงความเป็นอิสระของมนุษย์ที่เกี่ยวพันกับสังคม ผ่านการเรียนรู้ระหว่างมนุษย์ กับอีกตัวตนหนึ่งที่มีลักษณะเป็น ‘พระเจ้า’ ผู้มาสอนให้รู้ถึงความเป็นมายาของความยึดติด ฟังดูเหมือนเป็นงานซีเรียส แต่ที่จริงแล้วอ่านง่าย ผ่านเรื่องเล่าของนักบินสองคนที่ผูกพันกัน และมีตอนจบที่แสนเศร้า” - วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ นักเขียน-นักแปล เจ้าของผลงาน ‘วินาทีไร้น้ำหนัก’ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการแปลเป็นภาษาอังกฤษ จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ปี พ.ศ.2568 อ่าน ‘ซอยเดียวกัน’ เขียนโดย วาณิช จรุงกิจอนันต์ แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนี้
“จนถึงทุกวันนี้ เมื่อได้เห็นดอกหางนกยูงร่วงโรย นกกาตัวใหญ่ๆ บ้านไม้โบราณ ซากหมาจรข้างถนน หรือโหนรถเมล์แน่นๆ ตอนรถติดๆ ก็ยังทำให้นึกถึงหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอยู่เสมอ มันติดตรึง ฝังใจ และทำให้เด็กประถมในวันนั้นคิดว่า ถ้าเราเขียนหนังสือได้แบบนี้บ้างก็คงดี” - ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ หรือชญาน์ทัต วงศ์มณี นักเขียนเจ้าของผลงานมากมาย และผู้ร่วมก่อตั้ง Peeti PR อ่าน ‘Doreamon (โดราเอมอน)’ เขียนโดย ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนี้
“ตอนเด็กๆ ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก ต้องให้พี่ชายอ่านการ์ตูนให้ฟัง เลยอยากอ่านหนังสือออกให้ได้ ซึ่งโดราเอมอนคือแรงบันดาลใจให้อยากอ่านหนังสือออก ตอนเด็กๆ อ่านโดราเอมอนเอาสนุก แต่ยิ่งโตมายิ่งเห็นว่าโดราเอมอนเล่าเรื่องชีวิตของมนุษย์ไว้ได้ลึกมาก ตั้งแต่มิตรภาพ การเอาชนะอุปสรรค การพิสูจน์ตัวเอง ครอบครัว การลาจาก การอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง เลยยิ่งรักโดราเอมอน” - จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ Biblio อ่าน ‘The Prophet (ปรัชญาชีวิต)’ เขียนโดย คาลิล ยิบราน และแปลโดย ระวี ภาวิไล แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนี้
“หนังสือเล่มนี้ผมได้อ่านตั้งแต่ช่วงยังอยู่วัยหนุ่ม และเริ่มต้นค้นหาสิ่งที่คล้ายๆ จะเรียกว่าปรัชญาชีวิต เป็นช่วงแสวงหาในสิ่งที่เราเองก็ไม่เข้าใจ แต่รู้ว่ามันมีอยู่ หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่ช่วยตอบคำถามลึกลับที่ไม่รู้จะถามใครได้แล้ว หากยังเปิดประตูทางความคิดของเราสู่โลกใบใหญ่ที่เรียกว่าปรัชญา สำหรับตัวเราแล้ว ปรัชญาไม่ใช่เรื่องในวิชาเรียน หากแต่มันอธิบายทุกสิ่งในสังคมมนุษย์ได้เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่อธิบายการกำเนิดโลก หนังสือเล่มนี้เป็นกระดุมเม็ดแรกของความตื่นรู้ที่เมื่อเริ่มปลดแล้ว เราจะไม่อาจหยุดตนเองให้ไม่รู้อีกต่อไปได้ ปรัชญาทำงานแบบนั้น คือทำให้มนุษย์ไม่หยุดที่จะหาคำตอบให้กับชีวิต”
ส่วนกิจกรรมเสวนา Bookterfly Effect นั้น ก็ได้เชื้อเชิญบุคคลที่มีบทบาทในวงการหนังสือ ทั้งนักเขียน นักแปล บรรณาธิการชั้นแนวหน้า ตัวแทนจากมูลนิธิหนึ่งอ่านล้านตื่น และทาง PUBAT มาสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับพลังของการอ่าน รวมถึงอนาคตหนังสือไทยอย่างคมคาย ก่อนปิดท้ายด้วยการแข่งขัน Bookathon ครั้งแรกของวงการหนังสือ ในรูปแบบแฮกกาธอน ร่วมจัดโดย Alpha+ sandbox ซึ่งได้เชิญชวนผู้สนใจมาสมัครแข่งขันพิชชิงหรือนำเสนอไอเดีย เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยพลิกวงการหนังสือให้ก้าวหน้า บนความเชื่อที่ว่า ‘การอ่านสามารถสร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนชีวิตและขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้อย่างสนุกและยั่งยืน ด้วยหนึ่งอ่านก็สามารถสร้างล้านการเปลี่ยนแปลงได้’ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้สมัครจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียนและนักศึกษา แล้วคัดเลือกเหลือ 20 ทีม เพื่อตัดสินทีมชนะเลิศในวันสุดท้ายของงานสัปดาห์หนังสือฯ โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือและการลงทุน เช่น อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ จาก PUBAT, สิรภพ มหรรฆสุวรรณ เจ้าของสำนักพิมพ์ The Letter Publishing และเมนเทอร์จาก Alpha+ sandbox และวิชญ เจริญศิริวัฒน์ จากบริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด
จึงเห็นได้ว่า แม้กิจกรรม Bookterfly Effect จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปีนี้ แต่ผู้จัดก็มุ่งหวังเต็มเปี่ยมว่า พลังขับเคลื่อนเล็กๆ จากการอ่าน จะสร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนโลกและพลิกวงการหนังสือในอนาคตได้ ยิ่งหากได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติมากขึ้น พลังการอ่านก็น่าจะขยายและต่อยอดได้อย่างกว้างไกล และส่งเสริมให้วงการหนังสือเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ข้อมูลอ้างอิง : สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, มูลนิธิหนึ่งอ่านล้านตื่น และ Alpha+ sandbox

