เช็กลิสต์ความรู้วิธีปฐมพยาบาลใจหลังแผ่นดินไหว และ 4 ข้อรับมืออย่างไรให้ใจชื้น จำง่าย ทำได้จริง
“แผ่นดินไหว ทำเอาใจไม่นิ่ง” ตามการรายงานแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 โดย BBC News ไทย รายงานว่า USGS (United States Geological Survey) สำนักงานวิทยาศาสตร์ในกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่า แผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เป็นผลจากรอยเลื่อนตามแนวระดับซึ่งเกิดขึ้นเมื่อแผ่นเปลือกโลกอินเดียและแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียเคลื่อนผ่านกัน หรือที่มีชื่อเรียกว่า “รอยเลื่อนสะกาย” ได้ส่งผลกระทบหลายระดับในประเทศไทย รวมถึงโดยเฉพาะต่อสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ ที่อาจนำไปสู่ความเครียดไปจนถึงปัญหาสุขภาพใจได้ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ชวนเช็ก 2 ระยะปฐมพยาบาลใจหลังแผ่นดินไหว คลายความวิตก
จากหลายแหล่งข้อมูลความรู้ดูแลสุขภาพใจหลังภัยสงบ เราสามารถแบ่งการดูแลใจหลังเกิดเหตุการณ์เป็น 2 ระยะด้วยกัน ได้แก่ หลังเกิดเหตุการณ์ทันทีในระยะสั้น และระยะหลังจากปลอดภัย เริ่มกลับมาดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติโดยที่ยังมีความเครียด เพื่อเป็นคู่มือดูแลใจตนเองในระยะที่ต่างกัน
ระยะที่ 1 เมื่อเพิ่งเกิดและหลังเพิ่งผ่านพ้นจากสถานการณ์แผ่นดินไหว
- เตรียมพร้อมรับมือและรับอาฟเตอร์ช็อกอย่างมีสติ : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมืออย่างมีสติ เนื่องจากยังคงมีอาฟเตอร์ช็อก ตามมาเป็นระยะ
- เตรียมใจด้วยกายที่พร้อม สำรวจร่างกาย หายใจช้าๆ : ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายลง ด้วยการหายใจลึกๆ หายใจเข้าและออกช้าๆ และหากได้รับบาดเจ็บต้องรีบปฐมพยาบาล ต้องไม่ลืมสำรวจตัวเอง
- พาตัวเองไปอยู่ใน Safe Zone จุดนัดรวมพล ที่โล่งนอกอาคาร : การออกมาอยู่พื้นที่โล่ง นอกจากความปลอดภัยและมั่นใจในทางปฏิบัติจริงแล้ว ยังเพื่อช่วยบรรเทาความกลัวและความเครียด
- ดึงความสนใจมาอยู่กับปัจจุบัน : เพื่อให้มีสติเตรียมตัวและปฏิบัติตัวได้ถูกต้องท่ามกลางภัยจากธรรมชาติและความเสียหายที่อาจตามมาได้ทุกขณะ การอยู่กับปัจจุบันมีความสำคัญกับการดูแลใจ
ระยะที่ 2 หลังผ่านพ้นจากสถานการณ์ภายใน 1 สัปดาห์และช่วงเวลาจากนี้ไป
- ดำเนินชีวิตโดยไม่ตื่นตระหนกแต่ยังคงไม่ประมาท : ด้วยการสังเกตความเปลี่ยนแปลงรอบตัว เลือกติดตามข่าวสาร ข้อมูล และสถานการณ์จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ดำเนินชีวิตปกติ สร้างความรู้สึกมั่นคงให้ตนเอง
- เลี่ยงการติดตามภาพสะเทือนจิตใจหลังเหตุการณ์ : ควรจำกัดการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อลดความเครียดที่จะกระตุ้นอาการแพนิก หรือนำไปสู่ภาวะ Headline Stress Disorder (HSD) รู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีอะไรดี
- ยอมรับและทำความเข้าใจกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น : เมื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้โดยมีความรุนแรงต่างกัน เราจึงควรปรับความคิด เตรียมใจให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างแท้จริง
- หาข้อมูลความรู้เพื่อเข้าใจและรู้วิธีรับมือแผ่นดินไหว: ความไม่รู้และขาดประสบการณ์มักทำให้เกิดความกลัว ดังนั้นหนึ่งวิธีสำคัญคือการศึกษาภัยแผ่นดินไหวให้รู้รอบ รู้ลึก รู้จริง สามารถแบ่งปันความรู้คนใกล้ชิด
- ขอรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อจำเป็น : หากยังรู้สึกหรือมีอาการเครียดรบกวนอย่างรุนแรง ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักบำบัดที่สามารถช่วยจัดการกับอาการ
- มองหาตัวช่วยด้านสุขภาพใจใกล้ฉันที่พร้อมให้บริการ : หลังจากเกิดแผ่นดินไหว รู้หรือไม่สายด่วนสุขภาพจิต โดยกรมสุขภาพจิต รับปรึกษาเหตุแผ่นดินไหว “1323-1667” โดยได้เพิ่มเป็น 60 คู่สายพร้อมให้บริการ และยังมี Here To Heal บริการด้านสุขภาพจิตเบื้องต้น โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ในรูปแบบ Online ผ่านข้อความ โดย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่อยากให้ทุกคนได้ดูแลจิตใจเบื้อต้นได้ด้วยตนเอง
4 ข้อรับมืออย่างไรให้ใจชื้น จำง่าย ทำได้แน่
จากการศึกษาข้อมูลความรู้เพิ่มเติมเพื่อใช้ปฏิบัติตัว เราสามารถนำมาสื่อสารแบ่งปันวิธีรับมือแผ่นดินไหวได้ดังนี้
1. จัดถุงยังชีพแผ่นดินไหวไว้ใกล้ตัว :
ตามคำแนะนำของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สสวท. หรือ IPST เราสามารถเตรียมถุงยังชีพไว้ใกล้มือ ใกล้ตัว ที่ควรมีน้ำดื่มสะอาดอย่างน้อย 3 ลิตรต่อคนต่อวัน อาหารแห้งที่ไม่ต้องปรุง พลังงานสูง ไฟฉายพร้อมแบตเตอรี่สำรอง เครื่องมืออเนกประสงค์ เช่น กรรไกร เชือก นกหวีด ยา เสื้อผ้าสำรอง ผ้าห่มบาง เอกสารสำคัญในถุงกันน้ำ หน้ากากอนามัย เงินสดและเหรียญ
2. บันทึกและจำเบอร์ฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ :
โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เช่น สายด่วนแผ่นดินไหว โทร. 1182 กด 0 กด 4 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โทร. 192 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โทร. 02 399 4114 สายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669 ดับเพลิงและกู้ภัย โทร.199 และกรุงเทพมหานคร โทร.1555 เพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยบริหารสถานการณ์หากเกิดวิกฤตร่วมกัน
3. ซ้อมหนีภัย ฝึกใช้อุปกรณ์ฉุกเฉิน :
ฝึกใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินที่มีประโยชน์ในช่วงเวลาวิกฤต เช่น ถังดับเพลิง บอลดับเพลิง เครื่องช่วยหายใจ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ โดยตรวจสอบว่าไม่มีอุปสรรคเมื่อนำมาใช้งาน สามารถใชัได้ รวมถึงวางแผนนัดหมายจุดนัดพบของครอบครัว วางแผนเส้นทางหนี ให้ความสำคัญกับการป้องกันความโกลาหล และเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครกลับเข้าไปในอาคารอีกซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงและเป็ดนอันตราย
4. เตรียมค่าใช้จ่ายสำรอง :
ข้อดีของการแยกเก็บออมเงินหลายกอง ที่รวมถึงกองเงินเพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน จะช่วยลดความกังวลใจในภาวะวิกฤตได้ หรือเริ่มต้นได้เลยด้วยการแยกเงินสำรองฉุกเฉินตั้งแต่วันนี้ ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อนำมาใช้จ่ายกับเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจมึความจำเป็น เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก เมื่อต้องอพยพ ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาหากต้องพบกับเหตุฉุกเฉิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจตามมา
ดังนั้นเริ่มต้นจากการปฐมพยาบาลใจให้ดี ตามด้วย 4 ข้อรับมืออย่างไรให้ใจชื้น แบบไม่ประมาท ไม่มากก็น้อยที่จะช่วยทำให้เราใจนิ่งได้มาก ช่วยให้หลายคนกลับมาใช้ชีวิตปกติและทำกิจกรรมต่างๆ อย่างราบรื่นในชีวิตประจำวัน
#Earthquake #Evacuation #Disaster #ภัยพิบัติ #แผ่นดินไหว #สุขภาพจิต #KnowledgePortal #กระตุกต่อมคิด #OKMD
ข้อมูลอ้างอิง : www.bbc.com, www.thaipbs.or.th, www.thairath.co.th, www.pptvhd36.com, www.thaihealth.or.th, www.thansettakij.com, bangkokmentalhealthhospital.com, www.tosh.or.th และ www.ipst.ac.th

