ทำไมสงกรานต์ จึงเป็นเทศกาลกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดกาลของไทย

10 เมษายน 2025
|
217 อ่านข่าวนี้
|
3


ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคล่าสุด พ.ศ. 2568  ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 4.5% หรือจาก 129,000 ล้านบาทใน พ.ศ. 2567 เพิ่มเป็น 134,000 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2568 ที่นับว่าสูงสุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2563 (69,000 ล้านบาท) เรากำลังชวนทุกคนพูดคุยเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ และเหตุผลที่ทำให้เทศกาลนี้เป็นเทศกาลกระตุ้นเศรษฐกิจประจำปีและตลอดกาลของไทย

“การเชื่อมโยงสงกรานต์กับปีใหม่ไทยทำให้คนเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อเฉลิมฉลองร่วมกันและเข้าวัด ทำบุญ”  

ข้อมูลความรู้ “ตำนานสงกรานต์ สืบสานวัฒนธรรมไทยสี่ภาค” จากเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติได้อธิบายว่า ตามคติโบราณถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยปกติกำหนดวันสงกรานต์ไว้ 3 วัน วันแรกเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ 2 เป็นวันเนา และวันที่ 3 เป็นวันเถลิงศก ซึ่งเมื่อขึ้นชื่อว่าปีใหม่ย่อมนับเป็นการเริ่มต้น จึงเป็นช่วงเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเข้าวัด ทำบุญ ทำกิจกรรมที่เป็นสิริมงคล และฉลองร่วมกันกับครอบครัว ที่เชื่อว่าจะนำไปสู่การเริ่มต้นที่ดี มีสุข ส่งผลให้มีการจับจ่ายจ่ายข้าวของเพื่อทำบุญและสังสรรค์กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น คล้ายกันกับในเทศกาลตรุษจีน

นอกจากนี้จากการสำรวจที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เช่นเดียวกันกับข้างต้น ได้ทำให้เห็นแผนการใช้จ่ายที่ยังดำเนินต่อไปของคนในประเทศ จากข้อความรายงานที่ระบุว่ามีเพียง 5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยที่สุดตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ที่วางแผนจะลดการใช้จ่ายของตนเอง ขณะที่ 72.1% มีแผนการเดินทางในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดตั้งแต่ พ.ศ. 2562 และแม้จะผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหววันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ในประเทศไทย ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่าจะยังคงทำกิจกรรมสงกรานต์ตามปกติต่อ แต่จะหลีกเลี่ยงกิจกรรมในพื้นที่ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ


“วันหยุดที่ติดต่อกันทำให้หลาย Gen ออกไปเปิดประสบการณ์ที่ตอบโจทย์คนแต่ละรุ่น ต่างไลฟ์สไตล์”

ในอีกมุมผู้ที่ไม่ได้วางแผนกลับบ้านเกิดจำนวนไม่น้อย ต่างรอคอยวันหยุดเทศกาลสงกรานต์เพื่อใช้เวลาท่องเที่ยวเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ที่เมื่อกล่าวถึงการเดินทางในประเทศ จากฐานข้อมูลของ AirAsia MOVE แพลตฟอร์มจองที่พักและเที่ยวบินชั้นนำ ทำให้พบว่าจุดหมายปลายทางยอดนิยมของ Gen Z (ที่เกิด ค.ศ. 1997-2012) ในช่วงสงกรานต์ที่โดดเด่นคือจังหวัดเชียงใหม่ โดย 30% จากเส้นทางในประเทศ นักท่องเที่ยว Gen Z เลือกเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดนี้เมื่อเทียบกับทุกจังหวัด โดยเน้นคอมมิวนิตี้ Backpacker, โฮสเทลแนว Eco-Friendly และกิจกรรมกลางแจ้ง ที่ไม่เน้นหรูหราแต่เน้นความคุ้มค่าและประสบการณ์ 

ส่วนจุดหมายปลายทางภายในประเทศยอดนิยมของ Gen Baby Boomers (ที่เกิด ค.ศ. 1946-1964)  ในช่วงสงกรานต์ 49% นิยมเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ ที่พักหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ และกิจกรรมล่องเรือดินเนอร์ในช่วงเทศกาล โดยความให้ความสำคัญกับบริการระดับพรีเมี่ยมและความสะดวกสบาย

“สงกรานต์ไทยมีเอกลักษณ์ เป็นซอฟต์พาวเวอร์มรดกวัฒนธรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้มาเยือนไทย”

ปฏิเสธไม่ได้ถึงเสน่ห์เทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ฤดูกาล น้ำที่ช่วยดับร้อน บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน และผู้คน ทำให้ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 “สงกรานต์ในประเทศไทย” ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตอกย้ำการเป็นเทศกาลซอฟต์พาวเวอร์ที่มีเอกลักษณ์และมีมานานของไทยและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้เดินทางมาสัมผัสเทศกาลนี้ โดยมีตัวอย่างตัวเลขนักท่องเที่ยว โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 6 เมษายน พ.ศ. 2568 คือที่ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10,072,244 คน  สร้างรายได้ 486,587 ล้านบาทให้กับการท่องเที่ยว โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 จีน 1,388,560 คน อันดับ 2  มาเลเซีย 1,231,490 คน อันดับ 3 รัสเซีย 761,249 คน อันดับ 4 อินเดีย 576,662 คน และ อันดับ 5 เกาหลีใต้ 514,378 คน

ขณะเดียวกันสงกรานต์ไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศไทยและปรากฏในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมายาวนานแล้ว โดยหนึ่งในประเทศที่มีเทศกาลสงกรานต์คือประเทศกัมพูชา ที่มีชื่อเรียกว่าเทศกาล “โจล ชนัม ทะเมย” ตามข้อมูลจากรายงานพิเศษของ NBT Connext  ในหัวข้อ ““สงกรานต์” วัฒนธรรมร่วมแห่งดินแดนอุษาคเนย์” ทั้งยังให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยใช้ชื่อว่าเทศกาลอังกอร์สงกรานต์ (จัดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2556) ในเดือนเมษ่ายนช่วงเวลาเดียวกับสงกรานต์ไทย

จากอดีตถึงปัจจุบัน สงกรานต์ยังคงเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญทั้งในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากรักษาประเพณีอันดีงาม เป็นเอกลักษณ์นี้ไว้แล้ว สิ่งที่ภาครัฐและผู้ประกอบการ รวมถึงคนไทยในประเทศ สามารถทำร่วมกันได้คือการต่อยอด ร่วมมือกันสร้างระบบนิเวศของการท่องเที่ยวที่รักษาของดีของเดิมไว้ ควบคู่ไปกับการปรับตัวที่สอดคล้องกับยุคสมัย รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวก ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ไปจนถึงนำเสนอประสบการณ์สร้างสรรค์ในมุมใหม่เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและเพิ่มมูลค่าให้กับเทศกาล ที่ช่วยทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้น สร้างรายได้ให้กับคนไทย



#Songkran #SoftPower #Culture #Economy #สงกรานต์ #ซอฟต์พาวเวอร์ #วัฒนธรรม #เศรษฐกิจ #KnowledgePortal #กระตุกต่อมคิด #OKMD 


ข้อมูลอ้างอิง : www.bangkokpost.com, www.nlt.go.th, https://ich.unesco.org, www.prachachat.net, www.thansettakij.com และ thainews.prd.go.th

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI