ลำปาง

ทำไมคน (ลำปาง) ไม่กลับบ้าน?

11 มีนาคม 2024
|
1728 อ่านข่าวนี้
|
0



ทำไมคน (ลำปาง) ไม่กลับบ้าน?

การตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิดหลังจากไปใช้ชีวิตทำงานอยู่ในเมืองใหญ่หรือเมืองเศรษฐกิจมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อสังคมทั่วไปโดยเฉพาะในต่างจังหวัดยังคงมีทัศนคติว่าการทำงานในเมืองใหญ่จึงจะถือเป็นความสำเร็จ หรือมองว่าการกลับบ้านคือการหมดหนทาง ไม่มีที่ไป ทัศนคติเหล่านี้ทำให้คนที่จะตัดสินใจกลับบ้านต้องใช้ความอดทนและแรงใจอย่างมาก เนื่องจากค่านิยมเดิมที่ว่าบ้านมีไว้กลับตอนแก่หรือหลังเกษียณอายุ เมื่อคนหนุ่มสาวที่ยังอยู่ในวัยทำงานย้ายกลับบ้านจึงมักถูกมองไปในหลายแง่มุม กลับบ้านไปแล้วจะทำอะไร?” เป็นคำถามแรกที่จะเกิดขึ้นเมื่อเริ่มคิดถึงทางเลือกในการย้ายกลับภูมิลำเนาเกิด การกลับไปเยี่ยมบ้านในช่วงเทศกาลหรือเป็นครั้งคราวเมื่อต้องการพักผ่อนนั้นแตกต่างจากการย้ายกลับไปลงหลักปักฐานอยู่ถาวรอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเมื่อผ่านความคุ้นชินกับสภาพสังคมหรือวัฒนธรรมการใช้ชีวิตจากที่ใดที่หนึ่งมาแล้ว


ลำปางเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของภาคเหนือ มีประชากรรวมเกือบ 700,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุถึงร้อยละ 24.4 ของประชากรทั้งจังหวัด เรียกว่าลำปางเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์และเป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย การเป็นเมืองผู้สูงอายุหมายความว่าคนที่อยู่ในวัยทำงานจะต้องทำงานมากขึ้นและต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุซึ่งก็นี่เป็นอีกหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้คนตัดสินใจกลับบ้าน นอกเหนือจากความตั้งใจจริงที่อยากกลับบ้าน หรือแม้กระทั่งความเบื่อหน่ายและความอิ่มตัวกับชีวิตในเมืองใหญ่ 


ทาง (ที่) เลือก (ไม่ได้) ในการประกอบอาชีพของคนลำปาง

สถานภาพการทำงานของผู้มีงานทำในจังหวัดลำปาง พบว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำงานส่วนตัวถึง 41.02% รองลงมาคือลูกจ้างเอกชน 28.36% ช่วยธุรกิจครอบครัว 15.46% ลูกจ้างรัฐบาล 13.61% และนายจ้าง 1.48% ซึ่งภาคการทำงานของผู้มีงานทำในจังหวัดลำปาง จำนวน 357,533 คน แบ่งเป็นภาคเกษตร 35.42% และนอกภาคเกษตร 64.58% ซึ่งกระจายออกไปในสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ การผลิต การก่อสร้าง ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำปางพบว่ามีการจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ตามหมวดธุรกิจจังหวัดลำปางถึง 113 แห่ง โดยแยกเป็นบริษัทจำกัด 54 แห่ง และห้างหุ้นส่วนจำกัด 59 แห่ง หากพิจารณาตามประเภทของอุตสาหกรรมแล้ว อุตสาหกรรมที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่ สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร รองลงมาคือ กิจกรรมการบริการด้านอื่น และการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จะเห็นว่าธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมาสูงที่สุดเป็นอันดับแรกในลำปาง ได้แก่ ธุรกิจประเภทที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ซึ่งตรงกับภาพความเป็นจริงที่ร้านอาหาร ที่พัก และคาเฟ่ใหม่ จำนวนมากเริ่มเปิดกิจการกันอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนในพื้นที่มากกว่านักท่องเที่ยว คนลำปางส่วนมากมีลักษณะของการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบแผนมาแต่เดิม ธุรกิจร้านค้าในลำปางก็มีลักษณะของการผูกขาดโดยธรรมชาติ กล่าวคือ ไม่มีการกีดกันการเข้าสู่ตลาดแต่ก็ไม่มีผู้ผลิตรายอื่นเข้ามาแข่งขัน หากต้องการจะซื้ออะไรซักอย่าง คนลำปางจะมีแหล่งหรือร้านประจำที่เฉพาะเจาะจง ธุรกิจบางประเภทก็รวมกันอยู่เป็นย่าน ธุรกิจใหม่มักจะมีช่วงอายุน้อยและที่จะประสบความสำเร็จได้ยิ่งมีน้อยเข้าไปอีก ลำปางมีธุรกิจหมุนเวียนเปิดใหม่แต่เป็นการเปิดใหม่แบบแทนที่ของเก่า บางครั้งขับรถผ่านพื้นที่ที่เคยเป็นธุรกิจบางอย่างมาก่อน วันหนึ่งผ่านไปอีกครั้งกลับไม่ใช่แล้ว 


ทำไมคนลำปางไม่กลับบ้าน?” หากเป็นคุณจะอยากกลับมาทำงานในจังหวัดที่ค่าแรงของลูกจ้างต่อเดือนส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 8,000-9,000 บาทหรือไม่? ลำปางไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ทั้งยังได้รับการนิยามว่าเป็นเมืองรองไม่ได้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดการจ้างงานหรือตำแหน่งงานใหม่ ทำให้ลำปางขาดตำแหน่งอาชีพที่หลากหลายพอจะรองรับทุกสายงานและแพสชันของคนบางกลุ่ม หากต้องการความมั่นคง ทางเลือกคือทำงานเป็นลูกจ้างรัฐบาล หากต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานก็ต้องประกอบธุรกิจส่วนตัวหรือรับจ้างทั่วไป ทว่าก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำธุรกิจหรือเปิดกิจการส่วนตัวได้เพียงแค่อยากทำ ความถนัดและประสบการณ์การทำงานของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป หากคุณจบการศึกษาทางด้านสื่อ คุณสามารถเป็นฟรีแลนซ์หรือทำงานที่เกี่ยวข้องในภาคเอกชนได้ แต่ลำปางไม่มี Production House ใหญ่ เหมือนในกรุงเทพที่จะสามารถส่งเสริมการเติบโตทางสายอาชีพโดยตรง หากคุณจบการศึกษาทางด้านภาษาต่างประเทศ ลำปางไม่มีนักท่องเที่ยวหรืองานแปลจำนวนมากให้คุณทำเป็นงานประจำได้ ส่วนใหญ่จึงมักจะกลับมาเปิดธุรกิจร้านอาหารเพราะเป็นสิ่งที่ปรับให้เข้ากับเทรนด์และความชอบส่วนตัว ทั้งยังเป็นทักษะที่ฝึกฝนได้ ทำให้มีโอกาสเติบโตมากกว่าการทำธุรกิจประเภทอื่น  กลายเป็นว่าเราต้องปรับทักษะของตัวเองให้กับความต้องการหรือสิ่งที่เมืองสามารถให้กับเราได้ ในกรณีของหลายคนที่กลับบ้านด้วยเหตุจำเป็น ต้องทำงานที่ไม่ได้ชอบ อาจมีความถนัดด้านหนึ่งแต่กลับต้องไปทำด้านอื่นแทนเพราะสิ่งที่ถนัดไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ในเมืองนี้ ดังนั้น หากมองในมุมของสังคมสมัยใหมที่ว่างานไม่ควรเป็นทุกอย่างของชีวิตและอย่างน้อยควรเป็นสิ่งที่เราชอบหรือทำแล้วมีความสุข ถ้าอย่างนั้นแล้วลำปางตอบโจทย์ตรงนี้หรือไม่ หากลำปางยังไม่มีพัฒนาการด้านตำแหน่งอาชีพ ค่าตอบแทน ยังไม่ได้ให้คุณค่ากับทุกสายงาน ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการเติบโตในอาชีพสำหรับทุกคน เราจะไม่สามารถดึงดูดคนลำปางให้กลับมาด้วยความเต็มใจได้ 


การเดินทาง ขนส่งสาธารณะ และเวลาที่หายไป

การอาศัยอยู่ในจังหวัดที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวหรือเป็นเมืองหลักหมายถึงการไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ การเดินทางในจังหวัดลำปางส่วนใหญ่ทุกบ้านต้องมีรถส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เพราะหากไม่มีรถส่วนตัว การเดินทางไปไหนมาไหนจะเป็นเรื่องที่ลำบากมาก เมื่อมองย้อนดูขนส่งสาธารณะของจังหวัดลำปาง รถสองแถวหรือสี่ล้อที่ไม่ได้ไปทุกที่และค่าบริการก็ไม่แน่นอน ช่วงหลังมีการเข้ามาของ Grab Transport ที่เพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้คนในอำเภอเมืองลำปางแต่ก็มาพร้อมกับค่าบริการที่สูง หรือรถม้าสัญลักษณ์ของจังหวัดก็ไม่สามารถพาเราไปถึงทุกจุดหมายที่ต้องการ เพียงแค่เดินทางข้ามอำเภอ หากอำเภอที่อยู่นั้นไม่มีรถตู้หรือรถสองแถวประจำทางก็เป็นเรื่องที่ลำบากแล้ว ทว่าการมีรถส่วนตัวนั้นก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่าย นอกจากค่ารถแล้วยังมีค่าน้ำมัน ค่าประกัน ... และภาษีรถยนต์ ค่าบำรุงรักษา และค่าใช้จ่ายแอบแฝงอื่น ต่างจากการอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีระบบขนส่งสาธารณะ เช่น ในกรุงเทพมีทางเลือกในการเดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT หรือรถเมล์ของทั้ง ขสมก. และเอกชนร่วมบริการ และในทางเดียวกัน ไม่ใช่เพียงการเดินทางภายในจังหวัดเท่านั้นที่มีค่าใช้จ่ายสูง หากถามว่าทำไมคนไม่กลับบ้าน ต้องถามกลับกันว่าทำไมคนถึงอยากไปอยู่ในเมืองใหญ่ เพราะโอกาสต่าง ที่มีมากกว่า สาธารณูปโภคที่ครอบคลุมกว่า จังหวัดลำปางห่างจากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงแผ่นดินสายพหลโยธินประมาณ 602 กิโลเมตร ตามทางรถไฟประมาณ 625 กิโลเมตร ทางเครื่องบินประมาณ 45 นาที ซึ่งการเดินทางที่เร็วที่สุดคือเครื่องบินซึ่งตกอยู่เที่ยวละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดลำปางที่กำหนดโดยกระทรวงแรงงานอยู่ที่ 332 บาท การเดินทางโดยรถส่วนตัว รถไฟ หรือรถทัวร์ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมง ในประเทศอย่างญี่ปุ่นที่มีรถไฟความเร็วสูงเดินทางด้วยความเร็วกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในจักรวาลคู่ขนาน คนลำปางก็คงสามารถเดินทางไปกรุงเทพได้ในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง  สิ่งที่เสียไปในการเดินทางไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่าย แต่ยังเป็นเวลาของชีวิต


พื้นที่สร้างสรรค์และความบันเทิง

นอกจากงานแล้ว ความบันเทิงก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในชีวิตมนุษย์ กิจกรรมสันทนาการช่วยในเรื่องของสุขภาพจิต เป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้แก่ชีวิต ร่างกายมนุษย์หลั่งสารเอ็นดอร์ฟินเมื่อทำกิจกรรมที่มีความสุขซึ่งช่วยบรรเทาความเครียดและอาการเจ็บปวด ความบันเทิงและพื้นที่สร้างสรรค์ยังสามารถนำไปสู่การสร้างสังคมและเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นได้ แหล่งบันเทิงในที่นี้หมายถึงพื้นที่ทั่วไปที่ผู้คนสามารถออกจากบ้านไปทำกิจกรรมตามความชอบเพื่อผ่อนคลายและสร้างความบันเทิงให้กับตนเองได้ ในเมืองลำปางหากจะกล่าวถึงแหล่งบันเทิงนั้นก็มีไม่มาก ส่วนใหญ่คนมักใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนเลิกงานหรือวันเสาร์อาทิตย์ที่ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารดี สักร้าน หรือแวะไปออกกำลังที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน แต่หากเมื่อใดคุณอยากฟังดนตรีสดจากศิลปินชื่อดังสักคน จะมีโอกาสเท่าไรที่ศิลปินคนโปรดของคุณจะมาทำการแสดงที่ลำปางหากไม่ได้เป็นงานใหญ่ระดับจังหวัดที่นานทีมีครั้ง หากคุณอยากลองร้านอาหารชื่อดังที่มีหลายสาขาทั่วไปประเทศ จะมีโอกาสเท่าไรที่ร้านเหล่านั้นจะมาเปิดสาขาที่ลำปาง หรือหากคุณอยากดูหนังนอกกระแสสักเรื่อง จะมีโอกาสเท่าไรที่หนังเรื่องนั้นจะเข้าฉายในโรงภาพยนต์ลำปาง


สิ่งที่ต้องยอมรับคือลำปางยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์หรือการร่วมกลุ่มของคนน้อยมากทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลน้อยตามไปด้วย ทำให้พบเจอผู้คนหรือเกิดคอมมิวนิตีใหม่ ได้ยาก ซึ่งต่างจากเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมต่าง ตลอดทั้งปี เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่เยอะและเต็มไปด้วยความหลากหลายทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนหรือร่วมทำกิจกรรมตามความสนใจของแต่ละคน สำหรับคนลำปางหากต้องการความบันเทิงที่ไม่มีในจังหวัด หนทางที่ใกล้ที่สุดก็คือการเดินทางไปเชียงใหม่ที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางความบันเทิงและสิ่งสร้างสรรค์ของภาคเหนือตอนบน กระแสดึงคนกลับบ้านส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลด้านการพัฒนาสังคม การคาดหวังให้คนกลับมาช่วยเป็นแรงงานเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของที่นั้น การกลับบ้านเป็นการบังคับให้พัฒนาชุมชนตัวเองด้วยในทางหนึ่ง ดังนั้น เราจะเห็นคนรุ่นใหม่ที่กลับมาแล้วพยายามสร้างเคลื่อนไหวในด้านต่าง เช่น การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ไม่ว่าจะด้านดนตรี ศิลปะ หรือแม้แต่อาหารการกิน


อย่างไรก็ตามยังมีคนลำปางจำนวนมากที่อยากกลับบ้าน โดยเฉพาะหลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตครั้งใหญ่ในช่วงโควิด-19 การกลับบ้านย่อมเป็นความสบายใจของคนส่วนใหญ่ บรรยากาศของเมืองเดิมที่เคยอาศัยอยู่  ความสงบ ไม่วุ่นวาย ค่าครองชีพที่ถูกกว่า ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และใช้ชีวิตแบบไม่ต้องเร่งรีบ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่หลายคนเสาะหา คนต่างจังหวัดยังมีบ้านให้กลับ แต่คนในเมืองใหญ่นั้นไม่สามารถหารูปแบบชีวิตนี้ได้ง่าย หากลำปางมีศักยภาพในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนหนุ่มสาววัยทำงานได้ก็จะดึงดูดคนลำปางให้กลับมาได้มาก สิ่งที่จะมาพร้อมกันคือประสบการณ์ใหม่ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทัศนคติที่เปิดกว้างและหลากหลาย ซึ่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมลำปางได้ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถกลับมาเปิดกิจการ สานต่อกิจการของครอบครัว หรือสร้างกิจการใหม่ได้ หลายคนที่กลับมาเนื่องจากมีความจำเป็นต้องดูแลผู้สูงวัยในบ้าน สำหรับคนที่กลับมาโดยสมัครใจและมีความพร้อมอาจมีทางเลือกมากกว่าคนที่กลับมาโดยมีภาวะจำเป็น ดังนั้น หากอยากให้คนลำปางกลับมาพัฒนาบ้านเกิด บ้านเกิดต้องพร้อมจะพัฒนาไปกับพวกเขาด้วยลำปาง เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา เราเพิ่งผ่านวิกฤตการณ์ระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่มาในช่วงไม่กี่ปีนี้ คุณค่าทางสังคมและค่านิยมต่าง ก็เปลี่ยนไปมากมาย ตอนนี้ถึงคราวที่เราจะหมุนไปตามกาลเวลาแล้วหรือยัง 


อ้างอิง

  • เทศบาลนครลำปาง. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (.. 2566-2570). http://www.lampangcity.go.th/mains/backend/public/upload/files/local_plan_66_70.pdf
  • สำนักงานแรงงานจังหวัดลำปาง. (2566). สถานการณ์แรงงานจังหวัดลำปาง ไตรมาสที่ 3/2566 (กรกฎาคมกันยายน 2566). 

องค์ความรู้ใกล้เคียง
ดูองค์ความรู้ทั้งหมด
Checklist สวนเขลางค์ฯ Challenge
26 กุมภาพันธ์ 2025
166 0
0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI