Notifications

You are here

แผนที่ความรู้

นกในพื้นที่รอบเมืองลำปาง

22 มีนาคม 2024 459 อ่านข่าวนี้ 1 เดือนก่อน 0
ย่าน : ลำปาง  
หมวดหมู่ : #ธรรมชาติ 

A :  โอ๊ย! นกมาขี้ใส่รถอีกแล้วเนี่ย พึ่งเอารถไปล้างมาแท้

B :  อ้าว! แล้วไปจอดรถแถวไหนมาละ ถึงได้โดนนกขี้ใส่รถเนี่ย 

A : ก็จอดแถว เส้นเสรีนี่แหละ เส้นนี้นี่โดนประจำ มีแต่นกพิราบเต็มไปหมด

B : รู้ได้ไงว่าเป็นนกพิราบ มันอาจจะเป็นนกตัวอื่นก็ได้นะ?


บทสนทนาข้างบน น่าจะเป็นสิ่งที่หลาย คนต้องพบเจอกันอยู่บ่อย วันนี้เราเลยอยากพาทุกคนมาคุยเรื่องนก กัน แล้วเราจะได้รู้ว่า ลำปางบ้านเรามันมีแต่นกพิราบจริงรึเปล่านะ


นกในประเทศไทย : เราสามารถแยกประเภทของนกตามการพบเห็นตามฤดูกาล (seasonal status) ได้ 4 แบบ คือ  

  1. นกประจำถิ่น (Resident) คือนกที่ อาศัยหากิน ผสมพันธุ์ วางไข่ และเลี้ยงลูกอยู่ในเมืองไทยตลอดทั้งปี
  2. นกอพยพย้ายถิ่นในฤดูหนาว (Winter visitor) คือนกที่อพยพช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบช่วงหน้าหนาว อพยพมาจากประเทศจีนและรัสเซีย
  3. นกอพยพย้ายถิ่นผ่าน (Winter visitor Passage Migrant) คือ นกที่อพยพจากจีน รัสเซีย ผ่านประเทศไทยไปยังแถบอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย บางชนิดก็จะอาศัยอยู่ในเมืองไทยในช่วงฤดูหนาว
  4. นกอพยพย้ายถิ่นเข้ามาสร้างรัง (Breeding visitor) คือ นกที่อพยพเพื่อผสมพันธุ์ และวางไข่ในประเทศไทยบางฤดู

แล้วในจังหวัดลำปางพวกเราไปสอดส่องพบเจอนกอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย


นกในพื้นที่รอบเวียงลำปาง :

  • นกกระจอกบ้าน : มาเริ่มกันที่นกที่ทุกคนน่าจะเคยได้ยินชื่อผ่านหูกันมาตั้งแต่เด็กจนโตอย่าง นกกระจอกบ้าน ซึ่งมีลักษณะลำตัวป้อมสั้น ปลายหางหยักเล็กน้อย  ขนสีน้ำตาล แก้มมีสีขาวและมีแต้มสีดำที่หู มีแถบสีดำพาดยาวจากคอจนถึงหน้าอก นกกระจอกบ้านเป็นนกที่สามารถปรับตัวเข้ากับคนได้ดีมาก จึงมักพบอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนและในชุมชน ชอบทำรังอยู่ตามชายคาบ้าน ซอกกำแพง หรือตามกิ่งไม้ อาหารของพวกมัน ได้แก่ แมลง และเมล็ดพืช แต่ก็สามารถปรับตัวมากินอาหารที่เหลือจากคนได้เช่นกัน
  • นกปรอดหัวโขน : นกปรอดหัวโขน หรือที่ทางภาคเหนือเราเรียกว่านกปิ๊ดจะลิวตามเสียงร้องของมัน เป็นนกที่มีลักษณะคอสั้น ปีกสั้น หางยาว ปีกและหางสีน้ำตาล คอและด้านล่างลำตัวสีขาว หัวสีดำและมีหงอนยาวสีดำแก้มสีขาวและมีจุดสีแดงที่ข้างตา มีแถบสีดำลากผ่านแก้มมาจนถึงข้างคอ โคนหางด้านล่างมีสีแดง ปลายหางด้านล่างมีสีขาว นกปรอดหัวโขนชอบอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ หรือต้นไม้เตี้ย มีนิสัยคล่องแคล่วในการกระโดดหากินไปมาตามต้นไม้ ไม่ค่อยตื่นกลัว ในบางพื้นที่สามารถปรับตัวเข้ากับคนได้เป็นอย่างดี โดยเข้ามาอาศัยหากินตามบ้านเรือนและชุมชน อาหารได้แก่ ผลไม้ และแมลง
  • นกกินปลีอกเหลือง : นกกินปลีอกเหลืองมีลำตัวขนาดเล็ก ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ปากเรียวยาวโค้งและมีลิ้นที่พับเป็นหลอดได้ มีปีกและขาสั้น ขนปกคลุมด้านบนลำตัวมีสีเหลืองไพล ส่วนด้านล่างลำตัวมีสีเหลืองสด คอของตัวผู้มีสีน้ำเงินอมดำเหลือบ ในช่วงหลังฤดูผสมพันธุ์ขนที่คอจะเปลี่ยนเป็นขีดยาวใหญ่สีดำ ตัวเมียมีสีจางกว่าตัวผู้ และไม่มีสีคล้ำที่คอ นกกินปลีอกเหลืองมักพบเป็นคู่ บินและกระโดดหากินไปตามต้นไม้อย่างคล่องแคล่ว บินและกระโดดหากินไปตามต้นไม้อย่างคล่องแคล่ว ชอบเกาะอยู่ตามดอกไม้เพื่อกินน้ำหวาน โดยใช้ปากยาวยื่นเข้าไป แล้วเอาลิ้นดูดน้ำหวานจากเกสรเป็นอาหาร และยังกินแมลงเล็ก  เป็นอาหารด้วย เรื่องน่าทึ่งของนกกินปลีอกเหลือง คือ เป็นนกที่ทำรังด้วยใยแมงมุม คือใช้ใยแมงมุมในการเย็บติดใบไม้ที่ใช้ทำรังเข้าด้วยกัน รังของนกกินปลีอกเลืองจะมีลักษณะรูปร่างคล้ายถุงขยะ ดูรุงรัง

         


  • นกเขาใหญ่ : นกเขาใหญ่มีขนาดยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ลำตัวป้อม หัวเล็ก คอ ปาก และขาสั้น ปีกแหลม หางยาว  ขนปกคลุมลำตัวสีน้ำตาล โดยด้านบนลำตัวจะมีสีเข้มกว่าด้านล่าง หัวมีสีเทา เวลาบินจะเห็นแถบสีขาวอยู่ตอนปลายของขนหางด้านนอก นกเขาใหญ่บินได้ตรงและแข็งแรง มักเกาะชันอยู่ตามต้นไม้หรือสายไฟ เวลาหากินจะลงมาเดินหากินอยู่ตามพื้นดิน เป็นนกที่กินเมล็ดพืช

         

  • นกกระแตแต้แว้ด : นกกระแตแต้แว้ด มีขนาดยาวประมาณ 33 เซนติเมตร หัวโต ขายาวสีเหลือง หัว คอ ท้ายทอย และอกด้านบนมีสีดำ หลังมีสีน้ำตาล ปลายหางดำ ท้องขาว และมีหนังสีแดงสดที่หน้า นกกระแตแต้แว้ด มักเดินหากินตามที่โล่งเป็นฝูงเล็ก เมื่อตกใจจะบินขึ้น มีลักษณะบินแบบบินวนเวียนพร้อมส่งเสียงดัง กินแมลงเป็นอาหาร ทำรังอยู่ตามพื้นดินเป็นแอ่ง
  • นกกระเต็นน้อยธรรมดา : นกกระเต็นน้อยธรรมดามีลักษณะปากยาวแหลมและแบนทางด้านข้าง หัวใหญ่ คอสั้น ขาและหางสั้น ขนมีสีสดใส ด้านบนลำตัวมีสีฟ้าอมเขียว หลังและสะโพกเป็นสีน้ำเงินเข้ม ขนคลุมหูมีสีน้ำตาลแดง ด้านล่างลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ปากสีดำและโคนปากด้านล่างสีส้ม ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน นกกระเต็นน้อยธรรมดาเป็นนกที่บินได้เร็ว และจะบินเรี่ยพื้นน้ำไปตรง  กินปลาตัวเล็ก  เป็นอาหาร จึงมักชอบเกาะอยู่นิ่ง  ตามเสาริมน้ำ กินปลาตัวเล็ก  เป็นอาหาร ส่วนใหญ่แล้วนกกระเต็นน้อยธรรมดาเป็นนกที่ย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาว แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นนกประจำถิ่นซึ่งพบได้ยากมาก

         

  • นกตีทอง : นกตีทองมีลักษณะลำตัวป้อม หัวโต คอและขาสั้น ปากใหญ่และมีขนแข็งอยู่เป็นจำนวนมากที่โคนปาก หน้าผากมีสีแดง คอและแก้มมีสีเหลือง หน้าอกมีแถบสีแดงใหญ่ ด้านบนลำตัวมีสีเขียวคล้ำ ด้านล่างลำตัวมีสีเหลืองจาง และมีขีดใหญ่สีคล้ำประอยู่ทั่วไป นกตีทองมักชอบส่งเสียงรองดัง ก๊ง ก๊ง หลังกินอาหารเสร็จ โดยนกตีทองกินผลไม้เป็นอาหาร และทำรังอยู่ตามโพรงไม้

         


โทษของนก : นอกจากเสียงนกยามเช้าที่อาจรบกวนในวันที่เราอยากนอนตื่นสาย กับมูลนกที่เป็นปัญหาให้เราต้องล้างทำความสะอาดรถยนต์อยู่บ่อยครั้งแล้วนั้น เรามาลองดูกันว่าหากประชากรนกมีมากเกินไปจนไม่สมดุล จะเกิดโทษอะไรบ้าง

  1. การทำลายพืชผล โดยจะมีนกบางชนิด เช่น นกกระจาบ นกกระจอก ชอบมากินส่วนของพืช เมล็ดและผลไม้ต่าง ที่มนุษย์ปลูกไว้ หรือบางชนิดก็จะมากินข้าวที่กำลังออกรวงในนาของเกษตรกร
  2. เป็นแหล่งโรค นกอาจเป็นตัวนำและแพร่กระจายเชื้อโรคบางชนิดที่ติดต่อมนุษย์ เช่น โรคไข้หวัดนก หรือในปัจจุบันที่ประชากรของนกพิราบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หากเกิดโรคระบาดก็จะทำให้แพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว และควบคุมยาก เนื่องจากนกมีจำนวนมาก
  3. การทำลายทรัพย์สิน นกบางชนิดขโมยอาหาร ทำลายสิ่งของเครื่องใช้ตามบ้านเรือน กัดกินเมล็ดธัญพืชต่าง ที่ลานตาก
  4. อุบัติเหตุ เช่น นกเข้าไปติดในใบพัดเครื่องบิน
  5. ความเชื่อต่อจิตใจทางด้านลบ เช่น เมื่อพบเห็นนกแสกหรืออีแร้ง ก็จะถือว่าต้องมีการตายเกิดขึ้น


ประโยชน์ของนก : แต่มากกว่าโทษ ก็คือประโยชน์ของนก ซึ่งนกถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่เอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์และธรรมชาติมหาศาล โดยนกช่วยให้ระบบนิเวศดำรงอยู่ได้อย่างสมดุล ดังนี้ 

  1. ช่วยผสมเกสร นกที่กินน้ำหวานดอกไม้ เช่น นกกินปลี มีส่วนช่วยในการผสมเกสรให้ดอกไม้ เนื่องจากเมื่อนกดูดน้ำหวานจากดอกไม้ดอกหนึ่ง ละอองเกสรตัวผู้จะติดไปกับจะงอยปาก และเมื่อนกไปดูดน้ำหวานดอกไม้ดอกอื่น ละอองเกสรตัวผู้ที่ติดมากับจะงอยปากก็จะผสมกับละอองเกสรตัวเมียของดอกไม้นั้น
  2. ช่วยแพร่กระจายพันธุ์พืช นกที่กินผลไม้เป็นอาหารจะกินผลไม้เข้าไปทั้งเมล็ด เมื่อถ่ายมูลออกมาก็จะมีเมล็ดติดออกมาด้วย เมื่อเมล็ดตกลงสู่พื้นดินก็จะงอกเป็นต้นใหม่
  3. ช่วยกำจัดศัตรูพืช มีนกหลายชนิดที่กินแมลงและสัตว์อื่นเป็นอาหาร เช่น นกปากห่างกินหอยเชอรีและปูในแปลงนาของเกษตรกร นกเค้ากินหนูในนาข้าว ซึ่งถือว่านกมีส่วนช่วยควบคุมประชากรของแมลงและหนูไม่ให้มากเกินไป

นอกจากนี้นกยังสามารถบอกสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ได้ เช่น นกกระเต็นมักอยู่ใกล้ริมแม่น้ำ ห้วย หรือบึง เนื่องจากกินปลาเป็นอาหาร หากพบนกกระเต็นอยู่ริมน้ำที่ใด ก็แสดงว่าพื้นที่นั้นมีปลาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของมัน แต่ถ้านกกระเต็นลดน้อยลง แสดงว่าปลาที่เป็นอาหารของมันก็ลดน้อยลง นั่นคือแหล่งน้ำในพื้นที่นั้นเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลง หรือเราสามารถดูความอุดมสมบูรณ์ของเหล่าผลหมากรากไม้ ได้จากจำพวกนกปรอดหัวโขนที่กินผลไม้เป็นอาหาร และหากเราพบนกที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น ก็จะสะท้อนได้ว่าพื้นที่ป่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ทำให้นกที่เคยอาศัยอยู่ ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้เหมือนเดิม


ประโยชน์ของการดูนก : การดูนกเป็นกิจกรรมสันทนาการอย่างหนึ่ง ซึ่งมีประโยชน์ในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยการดูนกช่วยให้ผู้คนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้คนในชนบทมีรายได้จากการขายอาหารหรือให้เช่าที่พักแก่นักดูนก รวมถึงการเดินดูนกถือเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ชูชาติ แสงอบ หรือลุงชู อดีตประธานชมรมคนรักนกและธรรมชาติ กฝผ.แม่เมาะ บอกกับเราว่า การดูนกนอกจะช่วยให้ให้เราใส่ใจกับการอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราสังเกตถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ หรือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ เช่น หากจะเกิดแผ่นดินไหวฝูงนกก็จะบินหนี หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป แต่ถ้าพื้นที่ไหนที่มีนก แสดงว่าอากาศ อาหาร หรือสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นปลอดภัย นอกจากนี้การดูนกยังช่วยพัฒนาจิตใจเราให้เราเป็นคนใจเย็น เพราะต้องรอคอย ต้องสังเกต และมีความอ่อนโยนต่อสัตว์อื่น มากขึ้น เพราะเราได้เห็นแล้วว่านกได้ช่วยสร้างสมดุลให้แก่ระบบนิเวศอย่างไร


เห็นกันแล้วใช่มั้ยว่านกในเมืองลำปางมีมากหมายหลายชนิด ที่ไม่ใช่แค่นกพิราบอย่างเดียว ใครที่กำลังหากิจกรรมยามว่างอยู่ การดูนกก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ อาจต้องใช้เวลาและความอดทนสักนิด แต่รับรองว่าประโยชน์ที่ได้คุ้มค่ากับการลงมือดูนกแน่นอน



อ้างอิง

  • ชูชาติ แสงอบ อดีตประธานชมรมคนรักนกและธรรมชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ .ลำปาง
  • เกษม สุขอังกูร สมาชิกชมรมคนรักนกและธรรมชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ .ลำปาง คลังข้อมูล 
  • หนังสือ A GUIDE TO THE BIRDS OF THAILAND. บุญส่ง เลขะกุล และฟิลิป เดวิด ราวน์ด
  • หนังสือ นกในมหาวิทยาลัยแม่โจ้. ประภากร ธาราฉาย http://www.as2.mju.ac.th/E-Book/
  • Wildlife Yearbook Vol.7 (2006) นกอพยพในประเทศไทย. วัลยา ชนิตตาวงศ์ และมงคล ไชยภักดี
URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ