เมื่อประตูน้ำไม่ใช่แค่ประตูระบายน้ำ
เมื่อได้ยินคำว่า “ประตูน้ำ” ภาพในหัวของคนไทยจำนวนมากจะฉายร้านรวงขายเสื้อผ้าหลากหลายสีสันสารพัดรูปแบบ มากกว่าที่จะจินตนาการไปถึงประตูระบายน้ำอันเป็นต้นกำเนิดของชื่อย่านแห่งนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ชื่อย่านประตูน้ำนั้นมีที่มาเรียบง่ายไม่ซับซ้อนแต่อย่างใด ย้อนกลับไปเพียงร้อยกว่าปีก่อนเท่านั้น บทความในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม โดย ปดิวลดา บวรศักดิ์ เล่าไว้ว่า การก่อกำเนิดขึ้นของตลาดประตูน้ำนั้นมีที่มาจากแนวทางการจัดการน้ำในคลองเพื่อการเกษตรกรรมและการเดินทางสัญจรไปมาของประชาชน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีการสร้างประตูระบายน้ำ 3 แห่งในคลองแสนแสบ หนึ่งในนั้นคือ ประตูน้ำสระปทุม พ่อค้าแม่ค้าผู้จะนำสินค้าไปขายของที่สี่แยกมหานาคจะต้องสัญจรผ่านไปมาทุกวัน ขณะต้องรอประตูน้ำเปิดตามเวลาเป็นเวลาหลายชั่วโมง พ่อค้าแม่ค้าจึงใช้โอกาสนี้ขายของไปด้วย ประกอบกับในช่วงเวลานั้นมีการอพยพของผู้คนต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ความหลากหลายทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรม ทำให้ย่านใหม่แห่งนี้ค่อยๆ ก่อตัวเป็นย่านการค้าในรูปแบบของตลาดน้ำ มีเรือขนาดเล็กบรรทุกผลผลิตทางการเกษตร ผัก ผลไม้ อาหารเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ยังไม่ได้ขายเสื้อผ้าอย่างเช่นทุกวันนี้
ตลาดน้ำในวันวาน สู่แฟชั่นในวันนี้
วิทยานิพนธ์จากสาขาวิชาการวางผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยเรื่องพัฒนาการของย่านการค้าประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดย
อมรรัตน์ การะเวก
อธิบายว่าอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดประตูน้ำก็กลายเป็นตลาดสดที่สำคัญอีกแห่ง คือเมื่อ
พ.ศ. 2464 พระยาภักดีนรเศรษฐ์ (นายเลิศ)
ได้สร้างอาคารขนาดใหญ่เป็นตลาดริมน้ำนายเลิศ ริมคลองแสนแสบ
ออกแบบตลาดให้เป็นสัดส่วนสำหรับการขายอาหารสดและอาหารแห้ง
รวมถึงอาคารพาณิชย์ที่เหมาะสำหรับประกอบกิจการการค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งยังเป็นจุดศูนย์กลางของการขนถ่ายสินค้า จุดต่อรถ ต่อเรือของพื้นที่ย่านเนื่องจากมีถนนราชปรารภที่เพิ่งตัดใหม่ทำให้เชื่อมต่อกับพื้นที่ด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ
ได้สะดวกยิ่งขึ้น
ประตูระบายน้ำสู่แหล่งช้อปปิ้งตลอด 24 ชั่วโมง
ย่านประตูน้ำเริ่มคึกคักยิ่งขึ้น
เมื่อมีการสร้างสะพานเฉลิมโลก 55
ข้ามคลองแสนแสบเชื่อมถนนราชดำริเข้ากับถนนเพชรบุรี (ชื่อเดิม ถนนประแจจีน)
เหตุที่เลือกสร้างสะพานที่บริเวณนี้เนื่องจากความเป็นจุดที่มีการค้าขายหนาแน่นทั้งกลางวันและกลางคืน
ต่อมา พ.ศ. 2474 มีการสร้างตลาดเฉลิมโลกเพิ่มขึ้นอีกแห่ง
ทำให้ย่านประตูน้ำกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีการค้าขายตลอด 24
ชั่วโมง ไม่เพียงสินค้าสำหรับการบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว
แต่ยังมีสินค้าสำหรับการใช้สอยในชีวิตประจำวันขายตามอาคารพาณิชย์ริมถนนเพิ่มขึ้นด้วย
เส้นทางเศรษฐกิจ: เรือพายสู่ตึกสูง
ความคึกคักของย่านประตูน้ำบ่งบอกได้จากการเป็นจุดหมายปลายทางของขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นรถรางสายสีลม-ประตูน้ำ
รถเมล์ขาวนายเลิศที่เริ่มให้บริการสายแรกจากประตูน้ำไปยศเส
แล้วจึงตามมาด้วยสายประตูน้ำ-สีลม และประตูน้ำ-บางลำพู มีเรือเมล์ขาวนายเลิศรับส่งผู้โดยสารในคลองแสนแสบจากประตูน้ำไปทางตะวันออกของกรุงเทพฯ
ถึงอำเภอหนองจอก
นอกจากนี้ยังมีโรงงานรถไฟมักกะสันซึ่งสร้างขึ้นรองรับการเกิดขึ้นของทางรถไฟสายตะวันออกกรุงเทพฯ
- ฉะเชิงเทรา
ก็ยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ย่านประตูน้ำมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นอีก
สะพานเฉลิมโลก: จุดเปลี่ยนของประตูน้ำ
พ.ศ. 2503 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ส่งผลให้มีการรื้อถอนตลาดเฉลิมโลก ที่อยู่ริมคลองแสนแสบย้ายมาอยู่ริมถนนแทน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ซึ่งมาพร้อมคำติดปากว่า ‘น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ’ ส่งผลให้รูปแบบวิถีชีวิตและการเดินทางของผู้คนเปลี่ยนมาอยู่ริมถนนเป็นหลัก อีก 2 ปีถัดมามีการสร้างตลาดเฉลิมลาภขึ้นมาเพิ่ม แม้จะเป็นตลาดสดเช่นเดียวกัน แต่อาคารพาณิชย์ในตลาดแห่งนี้ มีการขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องสำอาง ซึ่งรับมาจากย่านพาหุรัดและโบ๊เบ๊อีกทอดหนึ่ง
ยุคทองของตลาดสด สู่จักรวาลเสื้อผ้า
การเกิดขึ้นของศูนย์การค้าอินทรา ในปี พ.ศ.2512 ก็นับเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของย่านประตูน้ำ โดยปริญญา ตรีน้อยใส
เล่าไว้ในเว็บไซต์มติชนว่า ศูนย์การค้าแห่งใหม่นี้รวมไว้ทั้งโรงแรม อาคารพาณิชย์
ร้านอาหาร และโรงภาพยนตร์เข้าด้วยกัน
ซึ่งประกอบกับการขยายตัวของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่ถึง 2 ทศวรรษ ทำให้ความต้องการในการซื้อสินค้าของผู้คนในย่านนี้เปลี่ยนแปลงไป
การเพิ่มขึ้นของสถานบันเทิงในย่านนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของย่านไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ผู้ค้าในย่านประตูน้ำจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนธุรกิจจากการขายอาหารสด มาเป็นการเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าตามความต้องการของลูกค้า
อ้างอิงจากคำให้สัมภาษณ์ของพันธ์เลิศ ใบหยก
ความยิ่งใหญ่ของตลาดเสื้อผ้าประตูน้ำที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
มาจากการรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าอย่างง่ายๆ ตามตรอกซอกซอย
เสื้อผ้าสำเร็จรูปมักเป็นแบบเหมาะโหลราคาถูก แต่เมื่อความนิยมเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีเพิ่มขึ้น
ก็ทำให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสิ่งทอมาจับจองแผงลอยขายสินค้าของตัวเองมากขึ้น
จนทำให้แผงขายอาหารค่อยๆ หายไป
กลายเป็นศูนย์การค้าที่รวมการพักผ่อนหย่อนใจและการจับจ่ายใช้สอยเข้าไว้ด้วยกัน
การเกิดขึ้นของอาคารใบหยก 1 ในปี พ.ศ. 2526 ที่ออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้เป็นทั้งโรงแรมและพื้นที่ร้านค้า
สำหรับขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยเฉพาะกว่า 300 ร้าน
นับเป็นโครงการแรกที่เป็นศูนย์กลางการขายส่ง
และขายปลีกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุด และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
ส่งผลให้เกิดศูนย์การค้าอื่นๆ ในย่านตามมาอีกมากมาย มาจนถึงปัจจุบัน
ความรุ่งเรืองและการเปลี่ยนผ่านของประตูน้ำ
หากใครอยากกลับไปชมจุดเริ่มต้นของที่มาชื่อย่านแห่งนี้
ก็คงต้องผิดหวัง เพราะประตูน้ำในคลองแสนแสบนั้นถูกรื้อถอนไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เนื่องจากมีการประเมินกันว่าเป็นอุปสรรคในการเดินทางของเรือโดยสาร
และขัดขวางการระบายน้ำ ส่วนตลาดเฉลิมลาภก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน
หลังจากการต่อสู้ของผู้ค้ามาหลายปี ในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา
ตลาดแห่งนี้ก็เพิ่งถูกรื้อถอนไปจนไม่เหลือร่องรอยอื่นใดนอกจากความทรงจำ
โอกาสใหม่ในดินแดนแห่งการค้า
ย่านประตูน้ำก็เช่นเดียวกับย่านอื่นๆ
ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม
และนโยบายพัฒนาเมืองในแต่ละยุคสมัย มีช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์และเงียบเหงา
มีความขัดแย้ง มีความรักใคร่กลมเกลียวสนับสนุนกัน
จากตลาดน้ำริมสองฝั่งคลองที่เกิดจากการรวมตัวกันของพ่อค้าแม่ค้าระหว่างรอประตูน้ำเปิด
ลงหลักปักฐานเป็นตลาดบก พัฒนาเป็นอาคารศูนย์การค้าสูงหลายสิบชั้น
หากเราลองเดินลัดเลาะไปตามซอกซอยร้านรวงเสื้อผ้าในย่านประตูน้ำ
ย่อมต้องได้พบปะกับผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งแม่ค้าขายส่งมืออาชีพ
ผู้ค้าหน้าใหม่ที่ใช้การไลฟ์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นเครื่องมือ
นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เข้ามาสังเกตการณ์ความน่าตื่นตาตื่นใจของบรรยากาศการค้าขาย
ประตูน้ำจึงเป็นย่านแห่งโอกาสของผู้คนที่มองเห็นความเป็นไปได้ในการค้า
นับตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง
- www.silpa-mag.com/history/article_139967
- www.matichonweekly.com/column/article_556196
- https://doi.nrct.go.th/ListDoi/listDetail?Resolve_DOI=10.14457/CU.the.2007.831

