ประตูน้ำ

ประตูน้ำ: วิถีตลาด สู่ฮับแฟชั่นอาเซียน

03 มีนาคม 2025
|
1494 อ่านข่าวนี้
|
0


ต้นกำเนิดประตูน้ำ: จากตลาดน้ำสู่ศูนย์กลางการค้า

กว่าจะมาเป็นอาณาจักรแห่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปอย่างทุกวันนี้ ประตูน้ำผ่านอะไรมาบ้าง เริ่มต้นจากการเป็นตลาดน้ำที่พ่อค้าแม่ค้าขายของระหว่างรอประตูน้ำในคลองเปิดให้สัญจรผ่านไปมา ขยับขึ้นบกกลายเป็นตลาดสดที่จอแจทั้งกลางวันกลางคืน และค่อยๆ กลายเป็นอีกหนึ่งย่านศูนย์กลางการค้าขายของกรุงเทพฯ 

ยุคแรกของประตูน้ำ: จากตลาดผ้าเมตรสู่เสื้อผ้าสั่งตัด

จากวิทยานิพนธ์ว่าด้วยพัฒนาการของธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปย่านประตูน้ำ โดย วิสุทธา กฤตยาพิมลพร พบว่า จุดเริ่มต้นจากการเป็นตลาดจำหน่ายผ้าเมตร และร้านตัดเสื้อผ้าสำหรับลูกค้าเป็นรายบุคคล (Taylor’s Made) ซึ่งต้องมีกระบวนการวัดตัวเพื่อตัดเสื้อผ้าให้พอดีกับร่างกายของลูกค้าแต่ละคน ใช้แรงงานการตัดเย็บเป็นส่วนหนึ่งในการผลิต 

การเติบโตของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2509 ภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีนักลงทุนชาวฮ่องกง มาตั้งโรงงานเสื้อผ้าสําเร็จรูปของบริษัท ไทยเอ็กซ์พอร์ตการ์เมนท์ ซึ่งพอดีกับการเกิดขึ้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 และ 3 ซึ่งมุ่งเป้าสนับสนุนอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเสื้อผ้าสําเร็จรูปเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย 

ผลกระทบของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และการปรับตัวของผู้ประกอบการ

วิทยานิพนธ์พัฒนาการธุรกิจเสื้อผ้าสําเร็จรูป ทศวรรษที่ 2510-2530 โดย กวินวัฒน์ หิรัญบูรณะ ให้ข้อมูลว่า ภายในช่วงปี พ.ศ. 2510-2525 เกิดการลงทุนและการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยนโยบายจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และนโยบายช่วยเหลือทางด้านภาษี ประกอบกับการเข้าร่วมในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิ่งทอหรือข้อตกลงว่าด้วยการค้าสิ่งทอระหว่างประเทศ (Multi-fibre Arrangement) ผู้ประกอบการย่านประตูน้ำเองก็ปรับเปลี่ยนตัวเองสู่การเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป (Ready to wear) ตามไปด้วยเช่นกัน 

การปรับตัวของประตูน้ำ: จากการผลิตสู่การนำเข้าและการสร้างแบรนด์

ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2526-2537 เกิดข้อพิพาทระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาจากการส่งสินค้าเกินโควต้าที่กำหนด ทำให้ในปี พ.ศ. 2528 สหรัฐฯ ประกาศห้ามนําเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสําเร็จรูปจากไทย ผู้ประกอบการในช่วงเวลานั้นจึงต้องหาทางดิ้นรนแก้ไขปัญหาด้วยการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังประเทศอื่นมากขึ้น และให้ความสำคัญกับตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทยมากขึ้น ผ่านการนำเข้าลิขสิทธิ์แบรนด์เสื้อผ้าจากต่างประเทศ และการสร้างแบรนด์สินค้าของตนเองขึ้นมา ในยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการในย่านประตูน้ำส่วนใหญ่หันมานำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำ ผู้ประกอบการจึงแยกตนเองออกจากกระบวนการผลิตโดยสิ้นเชิง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับมาขายไปแต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการไม่น้อยที่เลือกออกแบบ พัฒนาเสื้อผ้าสำเร็จรูปในแบบของตัวเอง ดำเนินการผลิตทุกขั้นตอนในประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเสื้อผ้าที่สอดคล้องกับกระแสนิยมของลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยออกแบบ ตัดเย็บ และวางขายได้ภายในเวลาไม่กี่วัน เนื่องจากมีต้นทุนเป็นโรงงานดั้งเดิมของครอบครัวที่สืบทอดต่อกันมา 

การรวมพลังของผู้ประกอบการ: จากตลาดค้าส่งสู่แหล่งช้อปปิ้งระดับอาเซียน

ในปี พ.ศ. 2558 ผู้ประกอบการรายใหญ่ในย่านประตูน้ำ จับกลุ่มรวมตัวกันอย่างจริงจังเป็น “สมาคมผู้ประกอบการศูนย์ค้าส่งแฟชั่นย่านประตูน้ำ” ประกอบด้วย Platinum Fashion Mall, Grand Diamond Plaza, Shibuya Pratunam, ห้างกรุงทองพลาซ่า, อินทรา สแควร์, Watergate Pavilion และ The Palladium World Shopping เพื่อตอบรับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน มุ่งเป้าพัฒนาให้ย่านค้าส่งสินค้าแฟชั่นประตูน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งช็อปปิ้งระดับอาเซียน เนื่องจากในเวลานั้นมีเงินสะพัดในย่านไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี

ยุคแห่งดิจิทัล: ความท้าทายของแพลตฟอร์มออนไลน์และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค

เวลาผ่านไปกว่าทศวรรษหลังจากการรวมตัวครั้งนั้น การเข้ามาของแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง ต้นทุนค่าเช่าร้านที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ บวกกับความซบเซาของเศรษฐกิจ ทำให้ยอดขายซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด 19 แต่ร้านค้าในย่านประตูน้ำก็มีความพยายามปรับตัวมาโดยตลอด ทั้งในแง่คุณภาพสินค้า การบริการ และการปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ร้านจำนวนมากติดป้ายยินดีต้อนรับแม่ค้าออนไลน์ให้มาไลฟ์ขายของในร้านได้อย่างเต็มที่ เพราะมองว่าเป็นการช่วยโปรโมตร้าน ทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น 

แนวโน้มอุตสาหกรรมแฟชั่น: DE&I และการพัฒนาเสื้อผ้าพลัสไซซ์

นอกจากนี้ผู้ประกอบการในย่านประตูน้ำยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปรับตัวที่สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้กล่าวไว้ถึงการให้ความสำคัญกับ DE&I (Diversity, Equity and Inclusion) ซึ่งเป็นแนวทางการสนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการยอมรับความแตกต่างของรูปร่างของผู้คนที่ไม่จำเป็นต้องมีความงามในรูปแบบเดียว ตัวอย่างที่น่าสนใจได้แก่ ห้างกรุงทองพลาซา ปรับตัวจากการเป็นศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สู่การเป็นศูนย์กลางเสื้อผ้าพลัสไซซ์ของประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2567 ได้วางแผนเพิ่มกลุ่มสินค้าพลัสไซซ์ ที่มีขนาดหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตลาดกลุ่มลูกค้าจากฝั่งยุโรปมากขึ้น โดยมีร้านค้าเสื้อผ้าพลัสไซซ์ราว 70% และเสื้อผ้าขนาดทั่วไป 30% ของจำนวนร้านทั้งหมด 400 ร้านค้า โดยตั้งเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้าพลัสไซซ์ของภูมิภาคเอเชียภายในไม่เกินปี พ.ศ.2573 และ ร้าน Triple 3 ในศูนย์การค้าแพลทินัม แฟชั่น มอลล์ ชั้น 2 วางขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปสำหรับผู้ชาย โดยมีจุดเด่นที่เป็นเสื้อผ้าที่มีลูกเล่นในรายละเอียด ทำให้ได้รับความนิยมจากลูกค้าจากคอมมูนิตี้ LGBTQ เป็นหลัก รวมถึงลูกค้าชาวต่างชาติด้วย 

ความท้าทายอนาคต: ประตูน้ำกับแนวทางความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น

ประตูน้ำพิสูจน์ให้เห็นว่าการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอนั้นเป็นไปได้ ทว่าก็ยังมีความท้าทายใหม่ที่รออยู่ นั่นคือ ประตูน้ำจะปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น ในเมื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอจากทั่วโลก ยังคงผลิตเสื้อผ้าออกมาเรื่อย ๆ กว่า 1 หมื่นล้านชิ้นต่อปี จากการประเมินขององค์กร Good on you ซึ่งทำหน้าที่ประเมินดัชนีความยั่งยืนของแบรนด์สิ่งทอทั่วโลก นอกจากนั้น ยังทำให้เกิด ขยะเสื้อผ้ามากกว่า 10 ล้านตันต่อปี ที่ทั้งยากจะฝังกลบ เพราะเต็มไปด้วยสารเคมี และยากจะรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง 

หากเป้าหมายปลายทางของประตูน้ำคือ การเป็นศูนย์กลางเสื้อผ้าสำเร็จรูปของอาเซียน การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เป็นมิตรต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และโลกใบนี้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


ข้อมูลอ้างอิง

  • https://article.tcdc.or.th/uploads/media/2023/10/5/media_2.Presentation_FocusGroup_Fashion.pdf 
  • https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/41816 
  • https://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2015/TU_2015_5506030062_505_2942.pdf 
  • https://goodonyou.eco/clothing-production-volume-misinformation 
  • www.bangkokbiznews.com/business/business/1108887 
  • www.cea.or.th/en/single-research/Labour-in-fashion-industry 
  • www.posttoday.com/business/348511 
  • www.posttoday.com/business/425262 
  • www.textilessquare.org/web/trend-highlight/detail.php?detailid=198 
  • www.thaipbs.or.th/news/content/312236 


0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI