ประตูน้ำ

จากช้อปปิ้งสู่ชิมอาหาร: เสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของประตูน้ำ

03 มีนาคม 2025
|
1521 อ่านข่าวนี้
|
0


ประตูน้ำ: มากกว่าศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้า 

เมื่อเดินอยู่ในย่านประตูน้ำ เราจะได้พบเจอกับผู้คนแทบทุกชาติ ทุกภาษาเท่าที่จะนึกออก ซึ่งผู้คนเหล่านี้มีทั้งนักท่องเที่ยวที่มาซื้อหาเสื้อผ้าแฟชั่นราคาย่อมเยา มาเดินชมความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเสื้อผ้าค้าส่งที่หนังสือนำเที่ยวทั้งหลายแนะนำให้มาเห็นกับตาตัวเองสักครั้ง และอาจจะเป็นได้ทั้งพ่อค้าแม่ค้า พนักงานร้านที่ทำมาหากินอยู่ในย่านนี้มายาวนานหลายสิบปี ทำให้เกิดการสร้างสังคมย่อย ๆ ของแต่ละชนชาติอย่างชัดเจนภายในพื้นที่การค้าที่คึกคักที่สุดตลอดกาลแห่งนี้ 

รสชาติแห่งโลกที่ซ่อนอยู่ในตรอกซอกซอย 

ประตูน้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอินเดียมาอย่างต่อเนื่อง ดังที่ปรากฏในบทความ นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ตลาดใหม่และใหญ่ของประเทศไทย บนเว็บไซต์แนวหน้า ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 แสดงภาพให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวหญิงชนชั้นกลางชาวอินเดีย สนใจเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย เพื่อเลือกซื้อสินค้าของใช้ เสื้อผ้า ในย่านประตูน้ำที่มีราคาและรูปแบบให้เลือกหลากหลาย แม้จะเป็นข้อมูลที่ผ่านมาหลายปี แต่เมื่อเทียบกับข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในปี พ.ศ.2567 มีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่เข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 จำนวนถึง 2,573,928 คน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อเดินผ่านซอยด้านข้างอินทรา สแควร์ เราจะได้พบแต่ร้านอาหารอินเดียเรียงรายอยู่ตลอดแนว ทั้งร้านที่เป็นเมนูมังสวิรัติล้วน ร้านอาหารอินเดียจากแต่ละภาคซึ่งมีเมนูและรสชาติที่แตกต่างกัน เป็นการสร้างแหล่งรวมกลุ่มอย่างชัดเจนสำหรับชาวอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มาทำงานในย่านนี้เป็นประจำ และนักท่องเที่ยวขาจรที่แวะเติมพลังระหว่างการช้อปปิ้งเสื้อผ้า 

dal fry with paratha or roti or nan and samosa, indian cuisine

ส่วนด้านหลังอินทรา สแควร์ มีร้านหิมาลายา ร้านอาหารเนปาลต้นตำรับ เปิดบริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งปัจจุบันมีเมนูอาหารอินเดียและภูฏานเพิ่มเติมด้วย ในตลาดประตูน้ำมีท่ารถตู้รับ-ส่ง นักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาที่นิยมมาท่องเที่ยวประเทศไทยพร้อมกับซื้อเสื้อผ้ากลับไปด้วย โดยมีโรงแรม DD House คอยรองรับ เนื่องจากใกล้จุดจอดรถตู้ รวมทั้งมีผู้ให้บริการที่พูดภาษากัมพูชาได้ สื่อสารกันได้อย่างสะดวกสบาย มีร้านอาหารที่เมนูภาษากัมพูชาชัดเจน สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ห่างออกไปอีกหน่อย ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า Airport Rail Link ราชปรารภ มีร้าน Kalyana Restaurant  ร้านอาหารพม่าที่คัดสรรวัตถุดิบมาอย่างดี ด้วยความตั้งใจที่จะเสิร์ฟความอร่อยของเมนูอาหารพม่าควบคู่ไปกับการสื่อสารถึงวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของประเทศพม่า ให้คนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาในย่านนี้ได้รับรู้ผ่านจานอาหาร 

Phenix: ประตูน้ำสู่ศูนย์กลางวัตถุดิบอาหารระดับโลก

ภายในย่านประตูน้ำยังมีร้านอาหารนานาชาติอีกหลายชาติซุกซ่อนตัวอยู่เงียบๆ แต่มีผู้คนเดินเข้าออกตลอดทั้งวัน เช่น ร้านอาหารศรีลังกา ร้านอาหารอินโดนีเซีย ร้านอาหารมาเลเซีย ร้านอาหารฟิลิปปินส์ ร้านอาหารปากีสถาน ฯลฯ ที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่ามองหาอาหารสัญชาติใดก็ตาม และล่าสุด ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ที่แปลงโฉมพื้นที่เดิมของ พันธุ์ทิพย์พลาซ่าประตูน้ำ ให้กลายเป็น ฟีนิกซ์ (Phenix) ศูนย์ค้าส่งวัตถุดิบอาหารคุณภาพจากทั่วโลกในราคาต้นทาง ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของโลก ร่วมมือกับสถานทูตและหอการค้าจากนานาประเทศ โดย วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ AWC ให้สัมภาษณ์ไว้ถึงเหตุผลที่เลือกลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาทไปกับโครงการนี้ว่าพื้นที่ยุทธศาสตร์ย่านประตูน้ำ เหมาะสมในการสร้างศูนย์กลางด้านอาหารระดับโลกให้กับประเทศไทยมากที่สุด”  




ema datshi with red rice, bhutanese cuisine

mohinga, myanmar cuisine

มากกว่าตลาด คือชุมชนหลากวัฒนธรรม

หนึ่งในบทบาทสำคัญของร้านอาหารนานาชาติในย่านประตูน้ำก็คือ การเป็นพื้นที่เชื่อมโยงผู้คนในแต่ละวัฒนธรรมผ่านอาหารซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต สำหรับคนทำงานที่ต้องจากบ้านมาไกล การได้กินอาหารรสชาติที่คุ้นเคยเป็นอีกหนึ่งวิธีปลอบประโลมใจ สำหรับคนต่างวัฒนธรรม การได้มาลองชิมเมนูใหม่ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายผ่านประสบการณ์ที่จับต้องได้และเข้าถึงได้ง่าย เพราะอาหารนั้นผูกเข้ากับมิติทางวัฒนธรรมอย่างแยกไม่ออก จากวิทยานิพนธ์ เรื่อง พัฒนาการของการรับประทานอาหารนอกบ้านในสังคมไทย โดย จิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ ได้อ้างอิงถึงหนังสือ The Practice of Everyday Life, vol. 2 ของ De Certeau ซึ่งกล่าวไว้ว่า อาหารล้วนแฝงไว้ด้วยรหัสเชิงวัฒนธรรม สิ่งที่เรารับเข้าไปในร่างกาย ไม่ได้เป็นการกระทำที่มาจากธรรมชาติของความหิวโหยแต่เพียงอย่างเดียว อาหารมีความหมายทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การปรุงอาหาร มารยาทบนโต๊ะอาหาร ข้อปฏิบัติหรือข้อห้ามเกี่ยวกับการกิน การกินอาหารแต่ละมื้อของเราจึงเป็นการบริโภคสัญญะทางวัฒนธรรมนั้นๆ เข้าไปด้วย 

authentic myanmar cuisine

ทั้งธุรกิจเครื่องแต่งกายและธุรกิจอาหาร ต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญที่นอกจากเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตแล้ว ยังได้ส่งผ่านวัฒนธรรมผ่านการบริโภคไปพร้อมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหน พูดภาษาใด ก็รู้สึกมีความสุข ภาคภูมิใจได้จากการเลือกซื้อ เลือกสวมเสื้อผ้าที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อถ่ายทอดตัวตนผ่านเครื่องแต่งกาย เช่นเดียวกับการที่นักท่องเที่ยวได้กินอาหารรสชาติที่คุ้นเคย ท่ามกลางบรรยากาศแปลกใหม่ หรือการที่คนไทยได้ลองเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ผ่านการชิมรสอาหารนานาชาติซึ่งต่างไปจากประสบการณ์เดิมในชีวิตประจำวัน 


และทุกอย่างนี้เกิดขึ้นได้ เพียงก้าวเข้ามาที่ย่านประตูน้ำ

 


ข้อมูลอ้างอิง

 



0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI