กาญจนบุรี

มีคนไทยคนแรก ก็ต้องมีมิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกในไทย

10 มีนาคม 2025
|
567 อ่านข่าวนี้
|
0








โรงงานกระดาษ 

“มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย”



            ภาพแรกจากที่ก้าวเข้ามาในพื้นที่ตึกรูปทรงขนาดใหญ่ ปล่องไฟสูงโดดเด่น สถาปัตยกรรมขนาดมหึมาท่ามกลางโบราณสถาน แนวกำแพงเมืองเก่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ห่างจากถนนปากแพรกไปไม่ถึง 1 กิโลเมตร ที่นี่คือสถานที่ทางประวัติศาสตร์  “โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี”สัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงสังคมจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมของกาญจนบุรี ร่องรอยเรื่องราว ยังคงแทรกผ่านในทุกๆส่วนของพื้นที่ บนซุ้มประตูทางเข้าโรงงานกระดาษยังปรากฏหลักฐานการเป็นโรงงานกระดาษไทยในสังกัดกระทรวงกลาโหม คือตราสัญลักษณ์ของกระทรวงกลาโหมเราค่อยๆ ก้าวเท้าสำรวจพื้นที่นี้ อย่างตื่นตาตื่นใจ อดนึกไม่ได้ว่า ความยิ่งใหญ่เบื้องหน้า คงไม่อาจเทียบความยิ่งใหญ่ในยุคที่โรงงานกระดาษได้ถือกำเนิดขึ้น และได้เป็นบรรยากาศของภาคอุตสาหกรรมคงที่ความคึกคักท้าทายของผู้คนและชาวเมืองกาญจนบุรีเป็นแหล่งชุมชนที่มีเรื่องราวและอิทธิพลต่อสังคมในเมืองกาญจนบุรีในสมัยนั้น



โรงกระดาษไทย กาญจนบุรี เป็นสถาปัตยกรรมที่ผ่านช่วงประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานกระดาษเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2481 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2484 ตรงกับในรัชสมัยของรัชกาลที่ 8 เป็นอาคารทรงทันสมัยสร้างโดยวิศวกรและนายช่างจากประเทศเยอรมนี มีชื่อเมื่อแรกก่อตั้งว่า โรงงานทำกระดาษทหารกาญจนบุรี นับเป็นโรงงานกระดาษแห่งที่ 2 ในประเทศไทย และเป็นโรงงานแห่งแรกที่ผลิตธนบัตรไทยโดยใช้เยื่อไม้ไผ่ อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยกระทรวงกลาโหมโรงงานกระดาษแห่งแรกของประเทศไทยเปิดกิจการ เมื่อ ปี พ.ศ. 2466 ที่สามเสน กรุงเทพมหานคร  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 คณะราษฎรต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรม จึงสร้างโรงงานกระดาษนี้ขึ้นเป็นแห่งที่ 2 เพิ่มขึ้น แต่เป็นแห่งแรกที่มีการผลิตครบวงจร และใหญ่ที่สุดในเอเชีย สาเหตุที่รัฐบาลเลือกกาญจนบุรีเป็นสถานที่ตั้งโรงงาน เนื่องจากระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก และมีแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ทำกระดาษเป็นจำนวนมาก นั่นคือไม้ไผ่ สัญลักษณ์ในการเปลี่ยนแปลงสังคมจากเกษตรกรรม เป็นอุตสาหกรรมของจังหวัดกาญจนบุรีโรงงานแห่งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของคนเมืองกาญจนบุรี ที่เดิมมีวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา และค้าขาย มาเป็นภาพของหนุ่มสาวชาวโรงงาน ทำงานใส่ยูนิฟอร์ม เข้ากะ ทำงานเพราะเครื่องจักรทำงานตลอด 24 ชั่วโมง พื้นที่โดยรอบมีสาธารณูปโภคที่ทันสมัยในขณะนั้น เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า โรงพยาบาล โทรทัศน์เครื่องแรก และมีโรงเรียนกระดาษไทยอนุเคราะห์ ที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6









“มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย”

กับความงามของสถาปัตยกรรม



การวางผังกลุ่มอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กในโรงงานกระดาษกาญจนบุรี  เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบโมเดิร์น ยุคแรกของประเทศไทย  สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่อาคาร ประกอบด้วย อาคารโรงงาน อาคารกองทำเยื่อ โรงคลอรีน และอาคารประกอบ เช่น บ้านพักพนักงานและสโมสรสถาปัตยกรรมแบบยุโรปโบราณแห่งนี้ได้รับการขนานนามให้เป็น “มิวเซียมอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย" เป็นแหล่งชุมชนที่มีเรื่องราว และอิทธิพลต่อสังคมในเมืองกาญจนบุรี ณ สมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันสภาพทุกอย่างของโรงงานยังคงเหมือนเดิม ทั้งตัวโครงสร้าง ปล่องควันสูงที่เอาไว้ปล่อยแรงดันของความร้อนจากการต้มเยื่อไผ่ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องจักรผลิตกระดาษ ซึ่งเหลือเป็นชิ้นสุดท้ายของโลกที่ประเทศไทยจากอดีตสู่ปัจจุบันของโรงงานกระดาษ‘โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี’ ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางกำแพงเมือง บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กจ.194 ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีเนื้อที่ กว่า 60 ไร่ ทำหน้าที่ผลิตเยื่อและกระดาษให้กับคนไทยได้ใช้มาหลายทศวรรษ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง จึงเลิกกิจการไปในปี 2525 ต่อมาปี 2530 กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ บริษัท อุตสาหกรรมกระดาษศิริศักดิ์ จำกัด ผู้ชนะประมูลเช่าใช้พื้นที่โรงงานเป็นเวลา 30 ปี ระหว่าง ปี 2530 - 2560 ปัจจุบันหมดสัญญา

ในปี 2561 ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนรวมถึงจังหวัดกาญจนบุรีจึงได้ยื่นข้อเสนอให้ทบทวนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ โดยเสนอให้พัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเขตโบราณสถานเมืองเก่าที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของ จ.กาญจนบุรี พร้อมกับขอรับการสนับสนุนให้กรมธนารักษ์อนุญาตให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีใช้ประโยชน์เป็นสวนสาธารณะและแหล่งศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดร่วมกับหน่วยงานและภาคประชาชน

จึงมีมติให้ปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดกาญจนบุรี และให้ประชาชนใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกัน เช่น ภายนอกโรงงานเป็นสวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ส่วนภายในจะใช้เป็นแหล่งรวมประชาชน เช่น หอประชุม ห้องนิทรรศการ ศูนย์การเรียนรู้ในอนาคต  หากใครไปเยี่ยมเยือนในช่วงนี้จึงยังคงได้เห็น ได้สัมผัสเสน่ห์และบรรยากาศเก่าแก่แบบดั้งเดิมอยู่ และส่งต่อเพื่อส่วนรวม พิพิธภัณฑ์เพื่อประชาชนรวมถึงเป็นอาคารอนุรักษ์เพื่อสังคมของจังหวัดกาญจนบุรี









ก้าวต่อสู่ Landmark  ที่ทุกคนต้องมา Check- In


            ปัจจุบันสภาพทุกอย่างของโรงงานยังคงเหมือนเดิม ความงานทางสถาปัตยกรรมที่ยังทรงคุณค่า ที่ยังรอให้ทุกท่านเข้ามาเยี่ยมชม  ทั้งตัวโครงสร้าง ปล่องควัน เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องจักรผลิตกระดาษ ซึ่งเหลือเป็นชิ้นสุดท้ายของโลกที่ประเทศไทย แม้ประเทศต้นกำเนิดที่เยอรมนีก็ไม่มี โดยในปี 2566 กลุ่มบริษัทบีทีเอส และบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีส่งมอบ "โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี" ณ จังหวัดกาญจนบุรี  ด้วยกลุ่มบริษัทบีทีเอส ได้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรม จึงต้องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม อาคารโบราณสถานต่าง ๆ ไว้เพื่อสืบสาน และส่งต่อเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติไทยไปยังคนรุ่นหลังก้าวต่อไปของโรงงานกระดาษ:ส่งเสริมการท่องเที่ยวโรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรีให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรี 

ก้าวต่อไปในการพัฒนาโรงงานกระดาษไทยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปกรรมของจังหวัดกาญจนบุรีโดยการมีส่วนร่วมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น  เนื่องจากโรงงานกระดาษไทยเป็นโรงงานกระดาษ   แห่งแรกของประเทศไทย และบริเวณพื้นที่โรงงานกระดาษเป็นพื้นที่เป็นเขตโบราณสถานเมืองเก่าที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันโรงงานกระดาษไทยได้มีการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาญจนบุรี ทำให้โรงงานกระดาษแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรีตลอดจนช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่โรงงานกระดาษไทยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของจังหวัดกาญจนบุรี เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดกาญจนบุรี แบบมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อีกทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งภูมิบ้านภูมิเมืองกาญจน์บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรีต่อไป

โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรีนับเป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยความสำคัญทั้งในด้านอุตสาหกรรมและสถาปัตยกรรมที่สง่างาม แข็งแรง เป็นจุดสำคัญที่สะท้อนถึงความเจริญก้าวหน้าของชุมชนคนเมืองกาญจน์ในอดีต วันนี้ได้เริ่มต้นทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวให้แก่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ให้พวกเขาได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกเมืองกาญจน์ อย่างแท้จริง...


    






----------------------

อ้างอิง 

"โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี” เตรียมพัฒนาเป็นแลนมาร์กแห่งใหม่ อาคารอนุรักษ์เพื่อสังคม

https://mgronline.com/travel/detail/9660000043404

โสมชยา ธนังกุล. ภูมิเมืองกาญจน์ เรื่อง โรงงานกระดาษ. กาญจนบุรี: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม 

มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี, ๒๕๖๒.

โรงงานกระดาษ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจังหวัดกาญจนบุรี




0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI