อโศก-พร้อมพงษ์

จังหวะชีวิตแม่บ้านญี่ปุ่น กลางมหานคร "อโศก"

13 มีนาคม 2025
|
1218 อ่านข่าวนี้
|
0


แม่บ้านญี่ปุ่น: ภาพจำของย่านพร้อมพงษ์

หนึ่งในภาพจำของย่านพร้อมพงษ์ที่ไม่เหมือนย่านใดในกรุงเทพฯ ก็คือ แม่บ้านชาวญี่ปุ่นที่พบเห็นได้อย่างชินตาในย่านนี้ หญิงสาววัยกลางคนแต่งหน้าอ่อนๆ แต่งตัวด้วยกระโปรง เสื้อ กางเกง เดรสยาวสีเรียบ สะพายกระเป๋าผ้าใบโต มักมาพร้อมกับรถเข็นเด็ก หรือจูงมือเด็กประถมมาด้วย

การตั้งถิ่นฐานของชาวญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ชาวญี่ปุ่นอยู่อาศัยมากที่สุด เป็นอันดับที่ 5 ของโลก ลักษณะการเข้ามาทำงานของคนญี่ปุ่นจะเป็นการย้ายมาทั้งครอบครัว จึงส่งผลให้เกิดธุรกิจบริการที่รองรับการใช้ชีวิตของครอบครัวญี่ปุ่นในพื้นที่สุขุมวิท วิทยานิพนธ์เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรกายภาพของชุมชนชาวญี่ปุ่น: กรณีศึกษา สุขุมวิท 33/1 ได้เสนอข้อสรุปจากการเก็บข้อมูลวารสารที่จัดพิมพ์เพื่อชาวญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ช่วงปี พ.ศ. 2549-2550 ว่า แผนที่กรุงเทพฯ สำหรับชาวญี่ปุ่น จะมีขอบเขตของแผนที่ตรงกัน คือ ฝั่งตะวันตกจะสิ้นสุดที่สี่แยกปทุมวัน ฝั่งตะวันออกสิ้นสุดที่สามแยกเอกมัย ทิศเหนือจะสิ้นสุดที่ถนนเพชรบุรี และทิศใต้จะสิ้นสุดที่บริเวณถนนสีลมช่วงศาลาแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เพียงพอที่จะตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างที่ชาวญี่ปุ่นต้องการ 

โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์การค้า การเดินทาง สิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ชาวญี่ปุ่น

กองนโยบายและแผนงาน สวพ. กทม. ให้ข้อมูลไว้ว่า ย่านสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์และทองหล่อ นับเป็นย่านที่พักอาศัยที่ชาวญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะซอยสุขุมวิท 24 55 49 และ 26 เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งโรงเรียนที่มีคุณภาพ โรงพยาบาลโรงพยาบาลที่มีบุคลากรสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ ศูนย์การค้าที่ครบครันทันสมัย สวนสาธารณะ ร้านขนมปังญี่ปุ่นที่ทำโดยคนญี่ปุ่น ที่พักอาศัยที่สะอาด ปลอดภัย และสภาพแวดล้อมน่าอยู่  รวมถึงยังเดินทางเชื่อมต่อทางด่วนไปยังนิคมอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกได้อย่างสะดวกสบาย ข้อมูลจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ทำงานแบบมีสัญญาโดยเฉลี่ย 2 ปี แล้วจึงเปลี่ยนไปทำงานประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่จึงมักเช่าคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ เซอร์วิสอพาร์ทเมนต์

ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมญี่ปุ่นเมื่อใช้ชีวิตในไทย

ค่านิยมครอบครัวแบบดั้งเดิมซึ่งภรรยาต้องทำหน้าที่ดูแลลูกเป็นหลัก เป็นสิ่งที่ฝังลึกในวัฒนธรรมญี่ปุ่น แม้จะข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่ในประเทศไทยวิถีปฏิบัติเหล่านี้ก็ยังคงตั้งมั่นอย่างหนักแน่น งานวิจัยระบบครอบครัวแบบญี่ปุ่น กับชุมชนญี่ปุ่นในย่านถนนสุขุมวิท โดย บุญยง ชื่นสุวิมล สัมภาษณ์ครอบครัวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในย่านถนนสุขุมวิทจำนวน 27 ครัวเรือน ในช่วงปี พ.ศ. 2542 พบว่า ครอบครัวชาวญี่ปุ่นเหล่านี้มักเป็นครอบครัวเดี่ยวขนาดเล็ก มีลูกเพียง 1 หรือ 2 คน พ่อเป็นผู้หารายได้เป็นหลัก (Patrilineal descent) แม่บ้านเป็นผู้ดูแลบ้านและเลี้ยงดูบุตร แต่เมื่อมีเรื่องสำคัญสามีกับภรรยาจะตัดสินใจร่วมกัน ขณะเดียวกันการใช้ชีวิตในประเทศไทยก็ส่งผลให้ประเพณีที่เคยปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในประเทศญี่ปุ่นมีความผ่อนปรน คลี่คลายลง เช่น ความคิดที่จะให้บุตรชายสืบทอดกิจการคนเดียวตามระบบอิเอะ (IE System) ไม่ได้เข้มข้นเท่าเดิม รวมถึงการที่วัฒนธรรมประเพณีไทยเริ่มเข้ามามีส่วนในชีวิตของครอบครัวชาวญี่ปุ่นมากขึ้น

กิจวัตรประจำวันของแม่บ้านญี่ปุ่นในย่านพร้อมพงษ์

ในแต่ละวันเรามีโอกาสได้พบเห็นแม่บ้านญี่ปุ่นตามจุดต่างๆ ในย่านพร้อมพงษ์ตลอดทั้งวัน ในช่วงเช้าก่อนออกจากบ้านจะเตรียมอาหารให้สามีและลูก ก่อนที่สามีจะออกจากบ้านไปทำงาน ส่วนแม่บ้านญี่ปุ่นจะนั่งรถกระป๋อง หรือรถรับส่งของคอนโดมิเนียมไปต่อสถานีรถไฟฟ้าเพื่อส่งลูกที่โรงเรียน หากมีธุระสำคัญที่ต้องไปจัดการระหว่างวัน อาจใช้ตัวเลือกฝากลูกที่วัยยังไม่เข้าโรงเรียนอนุบาลไว้ที่ Yurikago Nursery 39 หลังจากนั้นก็เป็นเวลาที่แต่ละคนจะเลือกจัดสรรสำหรับตัวเอง บางคนแวะซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อเตรียมอาหาร บางคนแวะร้านหนังสือ Key Books ซึ่งเป็นร้านหนังสือภาษาญี่ปุ่นมือสอง วันอังคารกับวันพฤหัสบดี แม่บ้านญี่ปุ่นบางคนจะไปเลือกซื้ออาหารและสินค้าที่ตลาดนัด มศว ประสานมิตร ซึ่งอยู่ห่างจากย่านพร้อมพงษ์ไปเพียง 1 สถานีรถไฟฟ้า

สถานที่พบปะของแม่บ้านญี่ปุ่นในย่านนี้

ช่วงบ่ายระหว่างรอรับลูกที่โรงเรียน แม่บ้านญี่ปุ่นหลายคนเลือกที่จะแวะไปที่ Hakata Coffee Bangkok อันเปรียบได้กับพื้นที่ทางกายภาพที่สำคัญของคอมมูนิตี้แม่บ้านญี่ปุ่นในย่านนี้ เพราะมีผนังที่เรียกว่า Free Space ซึ่งเป็นพื้นที่ติดประกาศทุกเรื่องราวข่าวสารการประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตแม่บ้านญี่ปุ่นในย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นคลาสสอนออกกำลังกาย คลาสเรียนตีกลองไทโกะ แนวทางการเลี้ยงลูก ไปจนถึงประกาศตามหาบ้านให้แมวจร

ช่วงเย็นและเวลากับครอบครัว

ช่วงเย็นหลังโรงเรียนเลิก เราจะได้เห็นแม่บ้านญี่ปุ่นหอบหิ้วถุงช้อปปิ้ง พร้อมกับรถเข็นเด็ก หรือจูงมือลูกเดินตามตรอกซอกซอยสุขุมวิท หรือนั่งรถกระป๋องหลากสี มุ่งหน้าย้อนกลับเข้าที่พักอาศัย เพื่อประกอบอาหารเย็น ดูแลบ้านและพักผ่อนนอนหลับ ก่อนที่วงจรนี้จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในเช้าวันถัดไป เรียกได้ว่ากิจกรรมของแม่บ้านญี่ปุ่นจะปรับเปลี่ยนไปตามตารางเวลาของลูก ในช่วงปิดเทอมกิจกรรมระหว่างวันจะเป็นการทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกันกับลูกมากขึ้น 

ข้อจำกัดทางกฎหมายและบทบาทของวีซ่าผู้ติดตาม

เหตุที่แม่บ้านญี่ปุ่นใช้เวลาระหว่างวันในรูปแบบดังกล่าว เนื่องมาจากรูปแบบการถือวีซ่าผู้ติดตาม ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพ ทำงานเพื่อหาเงินได้ โดยครอบครัวญี่ปุ่นที่ถูกส่งตัวมาทำงานในประเทศไทยจะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ครอบคลุมเรื่องการเลี้ยงดูบุตรในต่างแดนด้วย


ความหลากหลายของชีวิตแม่บ้านญี่ปุ่น

แม่บ้านญี่ปุ่นในย่านพร้อมพงษ์ อาจดูมีรูปลักษณ์ การแต่งกายคล้ายคลึงกัน รูปแบบการใช้ชีวิตในแต่ละวันไม่ต่างกันมากนัก แต่ทุกคนล้วนมีรายละเอียดปลีกย่อยบนเส้นทางชีวิตที่ไม่เหมือนกัน และต้องพบเจอกับความท้าทายที่แตกต่างกันไปในการปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยร่วมกับครอบครัวอย่างปกติสุข




ข้อมูลอ้างอิง

http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59032  

https://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2014/TU_2014_5416030194_2251_1482.pdf  

https://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2014/TU_2014_5616033287_642_1252.pdf  

https://sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/id/e5224e24-7fbc-4def-a0eb-43db42f7a627/fulltext.pdf  

www.facebook.com/notes/341605613832909/  

ภาพ
www.facebook.com/yurikagonursery39
www.facebook.com/bkkmenu/
www.facebook.com/keybooks.th

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI