อโศก-พร้อมพงษ์

Custard Nakamura เบเกอรี่สัญชาติญี่ปุ่นที่ปักหลักในไทยมากว่า 40 ปี

13 มีนาคม 2025
|
2025 อ่านข่าวนี้
|
0


ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในบริบทสังคมสมัยใหม่

ไม่ต้องเท้าความย้อนไกลไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอยุธยา ไม่ต้องอ้างอิงเอกสารการค้าอย่าง เรคิไดโฮอัน (Rekidai Hoan) ที่แจกแจงจำนวนครั้งที่เรือจากหมู่เกาะริวกิว (Ryukyu) หรือโอกินาวา (Okinawa) มาค้าขายที่สยาม เราต่างรู้ดีว่าไทยกับญี่ปุ่นมีความผูกพันแน่นแฟ้นกันมานาน สมาคมชาวญี่ปุ่นในเมืองสยาม ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2456 เป็นสมาคมที่ดำเนินการโดยเอกชนชาวญี่ปุ่นเพื่อ ดูแลความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นหลัก หลังสงครามโลกครั้งที่ สมาคมชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยก่อตั้งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2496  

พร้อมพงษ์-อโศก: ศูนย์กลางชุมชนญี่ปุ่นยุคใหม่

หากได้มีโอกาสผ่านไปในย่านพร้อมพงษ์-อโศก เรายังคงสามารถสัมผัสร่องรอยของชุมชนชาวญี่ปุ่นยุคใหม่ที่เข้ามาลงหลักปักฐานในประเทศไทยได้ นั่นคือ ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต UFM Fuji Super ที่ซอยสุขุมวิท 33/1 เปิดให้บริการเป็นสาขาแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2528 เพียงไม่กี่ก้าวจากซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ มีร้านเล็กๆ ขนาดเพียง คูหาแต่มีผู้คนพลุกพล่านที่สุด เป็นทั้งจุดแวะและจุดหมายปลายทางของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายช่วงวัย และความสนใจเดียวกันนั่นคือ ความหอมนุ่มหวานอร่อยของเบเกอรี่อบใหม่ในร้านคัสตาร์ด นากามูระ ซึ่งเปิดให้บริการที่นี่ในปีเดียวกัน และยังคงดำเนินการอบขนมปังหอมกรุ่นสดใหม่ทุกวันอยู่ที่เดิมมานานเกือบ ทศวรรษ 

คัสตาร์ด นากามูระ: เบเกอรี่ญี่ปุ่นกับรากฐานในไทย

เมื่อก้าวเข้าไปในร้านจะพบกับเบเกอรี่ละลานตากว่า 200 ชนิด เมนูของคาวส่วนใหญ่จะวางเรียงรายอยู่บนโต๊ะกลางร้าน ส่วนขนมปังอบ คุกกี้อบจะวางเรียงตามชั้นทั้งสองฝั่งของร้าน เค้กและพุดดิ้งวางอยู่ในตู้แช่เย็นด้านในสุดของร้านใกล้กับเคาน์เตอร์แคชเชียร์ แม้พื้นที่ในร้านจะค่อนข้างแคบแต่ทุกคนก็พยายามเบียดตัวเองเข้าไปเลือกสรรเมนูที่ชื่นชอบด้วยความเต็มใจ 

อภิญญา ทวีธนานันต์ ผู้จัดการร้าน ให้สัมภาษณ์กับ LINEMAN Wongnai ไว้ว่า เจ้าของร้านคือคุณคิโยจิ นากามูระ ตั้งชื่อร้านตามร้าน Custard  ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นร้านต้นตำรับที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อขยายสาขามาตั้งในประเทศไทย ก็ได้มีการเติมนามสกุลนากามูระเข้าไป เพื่อแสดงถึงกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นไว้ด้วย

หลักในการทำเบเกอรี่สไตล์ญี่ปุ่นของร้าน คัสตาร์ด นากามูระ คือการคงความเป็นโฮมเมด เลือกวัตถุดิบที่ดี สะอาด สดใหม่ทุกวัน ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้คนญี่ปุ่นกินแล้วคิดถึงบ้าน ทำให้คนไทยกินแล้วเหมือนได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นเมนูประจำร้านที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันก็คือ Menji Sando แซนวิชหมูสับกับหัวหอมใหญ่ เป็นเมนูขายดีตลอดกาลตั้งแต่แรกเปิดร้านจนถึงปัจจุบัน อีกเมนูซึ่งเป็นชื่อของร้านด้วยก็คือ คัสตาร์ดพุดดิ้ง คงความคลาสสิกด้วยแพ็กเกจที่คุ้นตาในกระปุกพลาสติกขนาดเท่ากำมือ คาดสติ๊กเกอร์โลโก้ของร้าน วางเรียงรายอยู่ในตู้แช่เย็น

เทศกาลและวัฒนธรรมญี่ปุ่นในร้านคัสตาร์ด นากามูระ

นอกจากนี้ยังมีเมนูที่เปลี่ยนไปตามเทศกาลตลอดทั้งปีอีกด้วย ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี ตรงกับเทศกาลทะนะบะตะ หน้าร้านจะมีกิ่งไผ่ขนาดใหญ่ตั้งไว้หน้าร้าน พร้อมกระดาษหลากสีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเจาะรูผูกเชือกพร้อมให้เขียนคำอธิษฐานของตัวเอง แล้วผูกติดไว้บนกิ่งไผ่ เป็นจุดถ่ายภาพประจำสำหรับทุกคนที่แวะเวียนมาย่านนี้ เรียกได้ว่า พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรหน้าร้านคัสตาร์ด นากามูระกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของญี่ปุ่น ที่คนไทยพร้อมเปิดรับได้อย่างไม่ขัดเขิน

พลวัตของ "ความเป็นญี่ปุ่น" ในสังคมไทย

บทความวิชาการของภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ว่าด้วย พลวัตของการกลายเป็นท้องถิ่นของ “ความเป็นญี่ปุ่น” ในประเทศไทย ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 ได้อย่างน่าสนใจว่า ความเป็นญี่ปุ่นนั้นถ่ายทอดเข้าสู่สังคมไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านการบริโภคสินค้าจากญี่ปุ่น ปลายทศวรรษ 2510-2520 คนไทยเริ่มรู้จักคุ้นเคย และเลือกซื้อหาสินค้าญี่ปุ่นมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยแบ่งผู้บริโภคออกเป็นกลุ่มชนชั้นแรงงาน และกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง สำหรับชนชั้นแรงงานในชนบท เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ไปจนถึง อุปกรณ์ทางการเกษตร ส่วนชนชั้นแรงงานในเมืองเป็นทั้งผู้บริโภคสินค้าดังกล่าว และเป็นผู้ผลิตในฐานะแรงงานในโรงงานสินค้าญี่ปุ่นที่ทยอยเข้ามาเปิดทำการในประเทศไทย ส่วนชนชั้นกลางในเมืองมองญี่ปุ่นเป็นตัวแทนความทันสมัย ผ่านการ์ตูนแอนิเมชันจากญี่ปุ่นซึ่งฉายทางโทรทัศน์ ทำให้ซึมซับค่านิยม วิถีชีวิตแบบชาวญี่ปุ่นโดยไม่รู้ตัว 

จากเบเกอรี่สู่มุมมองประวัติศาสตร์สังคมไทย-ญี่ปุ่น

หลังจากทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ร้านคัสตาร์ด นากามูระเข้ามาเปิดในประเทศไทย ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจที่เข้ามาพร้อมกับการลงทุนจากญี่ปุ่น ทำให้คนไทยเริ่มตื่นตัวกับการบริโภคสินค้าทางวัฒนธรรมจากญี่ปุ่นมากขึ้น และค่อยๆ ขยับเป็นการบริโภคภาพลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นอย่างกว้างขวางในช่วงต้นทศวรรษ 2540 เห็นได้จากสินค้าอุปโภค บริโภคในยุคดังกล่าวที่มีการเติมข้อความ ส่วนผสม ไปจนถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงเข้ากับความเป็นญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ 

เพียงขนมปังก้อนเล็กๆ ในร้านเบเกอรี่ย่านพร้อมพงษ์ ก็สามารถเชื่อมโยงให้เราเห็นมิติอันซับซ้อนมากมายของประวัติศาสตร์สังคมของไทยที่ผูกพันกับประเทศญี่ปุ่นอย่างยาวนาน เราหวังว่าครั้งต่อไปที่แวะร้านคัสตาร์ด นากามูระ จะทำให้คุณผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจที่จะมองหาเรื่องราวสนุกๆ จากความอร่อยใกล้ตัว ใคร่ครวญขบคิดไปด้วยกันได้ในทุกคำที่เดียว



อ้างอิง 
https://kiji.life/eats/restaurant/custard-nakamura/
https://youtu.be/neuxOnLkH_c?si=GytWAcKn7ZPG3VIe 
 

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI