กาญจนบุรี

ตึกอาคารรูปทรงเก๋แห่งพิพิธภัณฑ์บ้านเก่า

13 มีนาคม 2025
|
274 อ่านข่าวนี้
|
0



เก่า เก๋า เก็บ 

พิพิธภัณฑ์บ้านเก่า กาญจนบุรี

            ตึกอาคารรูปทรงเก๋ สีแดงสด ตั้งเด่นตระหง่านชวนสะดุดตา เป็นความทันสมัยใหม่ในเรื่องเก่า ชวนให้เราอยากมาพบและรู้จักให้มากขึ้น ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นสถานที่ที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองและบริเวณใกล้เคียง โบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ยังบอกเล่าถึงการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนในอดีตการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ ทำให้เราได้สารจากอดีต ที่ส่งผ่านมายังปัจจุบัน ที่ยิ่งค้นพบ ยิ่งได้รู้เรื่องราวต่างๆ มากมายที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า เริ่มต้นจาก ดร.เอชอาร์ แวน เฮเกอเร็น (H.R.VanHeekerren) นักโบราณคดีชาวฮอลันดาซึ่งถูกจับเป็นเชลยศึกและถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พบเครื่องมือหินกะเทาะและขวานหินขัด ขณะทำงานอยู่บริเวณตำบลบ้านเก่า เมื่อสงครามสงบยุติ ได้นำเครื่องมือหินที่พบกลับไปศึกษาวิเคราะห์ที่สหรัฐอเมริกา จนนำไปสู่การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีโดยนักโบราณคดีไทยและต่างประเทศในพื้นที่บ้านเก่าเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2499 หลังจากนั้นระหว่าง พ.ศ.2503-2505 คณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์โครงการความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างไทย-เดนมาร์ก ได้ทำการศึกษาขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า บริเวณที่ดินของนายลือ-นายบาง เหลืองแดง บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก

        กรมศิลปากรจึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่าขึ้น บริเวณใกล้กับแหล่งขุดค้น ในปี พ.ศ. 2508 เพื่อเก็บรวบรวมรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีอื่นๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี ภายในพิพิธภัณฑ์มีห้องจัดแสดง จัดแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองกาญจนบุรี สภาพภูมิประเทศ ธรณีวิทยา ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ จัดแสดงแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และประวัติการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา โลงไม้ซึ่งขุดพบในถ้ำเพิงผา บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีในจังหวัดกาญจนบุรี จัดแสดงพัฒนาการชุมชนเมืองกาญจนบุรี จำลองภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมล่าสัตว์ สังคมเกษตรกรรมและภาพถ่ายโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ และเรื่องราวเกี่ยวกับปราสาทเมืองสิงห์

       และใน พ.ศ. 2560 กรมศิลปากรเริ่มสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ ใช้หลักฐานและการศึกษาค้นคว้าใหม่ๆ มาเป็นตัวกำหนดการออกแบบอาคาร การจัดแสดงนิทรรศการและการออกแบบภูมิทัศน์ ซึ่งรูปทรงของอาคารได้แรงบันดาลใจมาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ภูมิทัศน์รอบอาคารออกแบบให้เชื่อมโยงกับเรื่องการเลือกตั้งถิ่นฐานของผู้คนในอดีต และยังเชื่อมโยงไปยังหลุมขุดค้นทางโบราณคดี รวมถึงศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเก่าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อการดำเนินการปรับปรุงทั้งหมดแล้วเสร็จ จึงเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน




การค้นพบของไทย

 ได้รับความสนใจในแวดวงโบราณคดีทั่วโลก


            เมื่อสงครามโลงครั้งที่ 2 สงบ เรื่องราวการค้นพบเครื่องมือหินในประเทศไทยถูกเผยแพร่ จึงเป็นที่สนใจในแวดวงโบราณดคีทั่วโลก ภายหลังมีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเดนมาร์ก ทำการสำรวจและขุดค้นทางโบราณดีตามหลักวิชาสากลที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2503-2505 และทำให้เกิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งโบราณคดีแห่งแรกขึ้น ต่อมามีการปรับปรุงจัดสร้างอาคารและการจัดแสดงเพิ่มเติมมาเป็นลำดับไม่ว่าจะเป็น โลงศพไม้ ที่พบจากการสำรวจขุดค้นในถ้ำ เพิงผา และบริเวณริมแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ การจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบจากการขุดแต่งและบูรณะปราสาทเมืองสิงห์  
  •  โดยแบ่งหมวดเนื้อจัดแสดงเป็น 3 ชั้น เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจริ่มต้นเดินชม นิทรรศการจากชั้นที่ 1 จะได้พบเรื่องราวการค้นพบเครื่องมือหินอันเป็นจุดเริ่มต้นและบุกเบิกงานโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ประวัติการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า และเรื่องราวของชุมชนบ้านเก่าในปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคแรกบริเวณลุ่มน้ำแควน้อย-แควใหญ่
  •  สำหรับนิทรรศการชั้นที่ 2 จะนำเสนอความหมายของวัฒนธรรมบ้านเก่า การดำเนินงานทางโบราณคดีของแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า วิถีชีวิตและวัฒนธรรมผ่านโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือ เครื่องใช้และเครื่องประดับที่พบจากแห่งโบราณคดีบ้านเก่า นอกจากสะท้อนภาพของความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่บ้านเก่ายุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ยังเชื่อมโยงให้เห็นถึงผู้คนในพื้นที่อื่นๆ บนดินแดนประเทศไทยที่ร่วมสมัยเดียวกันอีกด้วย
  •  ชั้นสุดท้ายจัดแสดงเรื่องราวของผู้คนในช่วงที่มีการใช้เครื่องมือโลหะ ทั้งสำริดและเหล็กในภูมิภาคตะวันตก งานศิลปกรรมภาพเขียนสีบนผนังถ้ำของผู้คนในยุคนั้น และวัฒนธรรมโลงไม้อันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นพิธีกรรมการการฝังศพอีกแบบหนึ่งของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องราวในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี และในสมัยวัฒนธรรมเขมรโบราณในจังหวัดกาญจนบุรี ในส่วนของนิทรรศการชั้นที่ 3 พิพิธภัณฑ์บ้านเก่า กาญจนบุรี เป็นสถานที่ที่ควรค่าแก่การเยี่ยมชมสำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของประเทศไทย โบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ไม่เพียงแต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่ยังสะท้อนถึงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ในยุคโบราณ การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าจึงเป็นการเดินทางย้อนเวลาไปสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อสัมผัสถึงรากเหง้าของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเป็นสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี






----------------------------------------

อ้างอิงจาก : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า

https://ww2.kanchanaburi.go.th/travel/detail/29

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า

https://www.museumthailand.com/th/museum/Ban-Kao-National-Museum

‘พิพิธภัณฑ์บ้านเก่า’ ที่เที่ยวใหม่กาญจนบุรี

https://www.thaipost.net/tac/111942/







0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI