กาญจนบุรี

ธรรมชาติ เรียบง่าย สวยงาม ตามประสา"รำเหย่ย"

18 มีนาคม 2025
|
29 อ่านข่าวนี้
|
0




มาเถิดหนาแม่มา    มาเล่นพาดผ้ากันเอย
       พี่ตั้งวงไว้ท่า    อย่านิ่งรอช้าเลยเอย
       พี่ตั้งวงไว้คอย    อย่าให้วงกร่อยเลยเอย
ให้พี่ยื่นแขนขวา     เข้ามาพาดผ้าเถิดเอย
พาดเอยพาดลง    พาดที่องค์น้องเอย
มาเถิดพวกเรา    ปรำกับเขาหน่อยเอย

              บทเพลงรำเหย่ยคำร้องตามแบบแผนของการรำเหย่อยใช้ถ้อยคำพื้น ๆ ร้องโต้ตอบกันด้วยกลอนสด เป็นการร้องเกี้ยวกันระหว่างชายหญิงมุ่งความสนุกเป็นส่วนใหญ่ รำเหย่อยนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “พาดผ้า” มีเอกลักษณ์ที่สำคัญ คือ บทร้องลงท้ายด้วยคำว่า “เอย” ทุกวรรค การย่ำเท้าซ้ายนำเท้าขวาตลอดทั้งเพลงและการใช้ผ้าเป็นอุปกรณ์การแสดงรำเหย่ยมีรากฐานมาจากการละเล่นพื้นบ้านในอดีต ที่ชาวบ้านใช้เป็นกิจกรรมสันทนาการในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวหรือในงานบุญต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำแควของจังหวัดกาญจนบุรี คำว่า “เหย่ย” นั้นหมายถึงเสียงร้องที่คล้ายการเรียกขานกันในบทเพลงพื้นบ้าน และมีจังหวะดนตรีที่สนุกสนาน การแสดงนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การละเล่นเพื่อความบันเทิง แต่ยังเป็นช่องทางในการส่งต่อความรู้ คำสอน และคติธรรมต่าง ๆ ผ่านบทเพลงและท่ารำที่งดงามรำเหย่ยเกิดขึ้นในจังหวัดกาญจนบุรี จากหลักฐานที่พบ สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับการก่อตั้งตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วงและตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน ซึ่งมีการเล่นรำเหย่ยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อรำเหย่ยตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง เกิดซบเซาและได้รับความนิยมน้อยลง กรมศิลปากรจึงได้อนุรักษ์และนำไปสู่รำเหย่ยรูปแบบของกรมศิลปากร ผลการวิจัยพบว่าการละเล่นพื้นบ้านรำเหย่ย จังหวัดกาญจนบุรี พบใน 3 อำเภอ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รำเหย่ย รูปแบบดั้งเดิม เป็นการร้องรำเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง ผู้ร้องทำหน้าที่ พ่อเพลงแม่เพลง
              ส่วนผู้รำทำหน้าที่รำเท่านั้นนิยมเล่นเพื่อผ่อนคลายจากการทำไร่ทำนาโดยมีท่ารำอย่าง ท่านอนวัน ท่าต้อน และท่ารำอิสระตามวิถีชาวบ้าน ผู้เล่นปรบมือประกอบจังหวะ ต่อมาเริ่มมีการนำเครื่องดนตรีมาใช้ในการแสดงและพัฒนาเป็นวงกลองยาว การแต่งกายแต่งแบบพื้นบ้านภาคกลาง รำเหย่ย รูปแบบประยุกต์ เรียกว่า “รำคล้องผ้า” หรือ “รำพาดผ้า” มีรูปแบบมาจากรำเหย่ยแบบดั้งเดิมเพิ่มอุปกรณ์การแสดง คือ ผ้า ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการจับจองระหว่างชายหญิง รำเหย่ย กรมศิลปากร ปรับปรุงกระบวน ท่ารำจากรำเหย่ยรูปแบบประยุกต์ของตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง กระบวนท่ารำนำท่ารำแม่บทเป็นท่ารำเฉพาะ เช่น ท่าสอดสร้อย ท่าผาลา ท่านางนอน เป็นต้น ใช้ผ้าเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง 
              รำเหย่ยมีขั้นตอนการแสดงที่คล้ายคลึงกัน อาจแตกต่างกันบางขั้นตอนของแต่ละท้องถิ่น ขั้นตอนของการแสดง ได้แก่ 1.การประกอบพิธีไหว้ครู 2.การประโคมกลองยาว 3.การรำไหว้ครูกลองยาว 4.การแสดงของพ่อเพลง แม่เพลง และผู้รำ โดย พ่อเพลง แม่เพลงร้องโต้ตอบกัน การร้องเริ่มจากบทเกริ่น บทชมนาง บทลักหาพาหนี และบทลา ผู้รำฝ่ายชายและหญิง 1 คู่ รำเกี้ยวพาราสี ผู้รำมีอารมณ์สนุกสนาน เมื่อรำได้ระยะหนึ่งจึงเปลี่ยนคู่ต่อไป จนกระทั่งพ่อเพลง แม่เพลงร้องบทลาเป็นอันจบการแสดง 




คณะเพลงเหย่ย
อำเภอพนมทวน รำเหย่ยที่ยังคงสืบสาน

          วิธีการเล่นจะเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย ฝ่ายชายฝ่ายหญิงยืนล้อมวงกัน มีการร้องนำร้องแก้และลูกคู่ ร้องรับพร้อมปรบมือเป็นจังหวะ ขณะร้องแก้นั้นฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะออกมาร่ายรำทีละคู่เปลี่ยนกันไป มีกลองยาวหนึ่งวงเป็นการแสดงที่ ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่นยิ่งมากยิ่งสนุกสนาน โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายชายกับหญิงแต่ละฝ่ายจะมีผู้ร้อง  ซึ่งจะประกอบด้วยพ่อเพลง  แม่เพลงลูกคู่และผู้รำเริ่มจากการประโคมกลองอย่างกึกก้องเพื่อให้ผู้เล่น และผู้ดูเกิดความรู้สึก สนุกสนานจากนั้นจังหวะก็เริ่มช้าลง  เมื่อเริ่มเล่นฝ่ายชายก็จะออกมาร้อง และรำ แล้วเอาผ้าไปคล้องไหล่ให้ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงเมื่อถูกคล้องผ้าก็จะออกมารำรำเหย่ย พนมทวน เกิดขึ้นในชุมชนพนมทวน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการแสดงที่มีรากฐานจากการผสมผสานของวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเริ่มจากการเป็นการแสดงที่ใช้ในงานประเพณีท้องถิ่นและพิธีกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบัน การรำเหย่ย พนมทวนยังคงได้รับการอนุรักษ์และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีการนำไปแสดงในงานพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น งานประเพณีท้องถิ่น การฉลองเทศกาล รวมไปถึงการแสดงในงานวัฒนธรรมที่จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมพื้นบ้านของพนมทวนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น         คณะผู้เล่นที่มีชื่อเสียงอย่าง คณะเพลงเหย่ย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี จะนิยมเล่นในเทศกาลวันตรุษจีน สงกรานต์  งานนักขัตฤกษ์  งานมงคลและงานรื่นเริงของชาวบ้าน  โดยเฉพาะในเขตอำเภอพนมทวน เช่น บ้านทวน บ้านห้วยสะพาน บ้านทุ่งสมอ บ้านหนองปลิง บางครั้งก็จะเป็นการเล่นประกอบการเล่นพื้นเมืองอื่น ๆ การแสดงรำเหย่ย พนมทวน มีลักษณะการรำที่งดงามและอ่อนช้อย สื่อความหมายด้วยแต่ละท่าที่แสดงออก จากมือและเท้าในการเคลื่อนไหว ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงจะเป็นดนตรีพื้นบ้านที่มีความไพเราะและสะท้อนถึงอารมณ์ของการแสดง เสียงดังกังวานที่เสริมให้การแสดงมีความลึกซึ้ง สนุกและสวยงาม         ในฐานะผู้ชม นอกจากนอกจากความสนุกเพลินเพลินดจะได้ชมการแสดงพื้นถิ่นที่หาชมได้ยากแล้ว เรายังได้เห็นถึงพลังความรัก ความตั้งใจ ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงทางวัฒนธรรม แต่การรำเหย่ยยังเป็นการบ่งบอกถึงความผูกพันของชุมชนกับธรรมชาติและการแสดงความเคารพต่อองค์ประกอบต่าง ๆ ของโลก การรักษารำเหย่ยจึงเป็นการรักษาความเชื่อและมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวพนมทวน         การรำเหย่ยในชุมชนพนมทวนจึงไม่ได้เป็นแค่กิจกรรมบันเทิง แต่ยังมีบทบาทสำคัญในด้านสังคมและวัฒนธรรม การแสดงรำเหย่ยมักจะถูกใช้ในงานเทศกาลและงานบุญที่มีความหมายทางศาสนา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามัคคีและความเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกในชุมชน-การที่ชุมชนยังคงรักษาการแสดงรำเหย่ยไว้ได้จนถึงปัจจุบัน ได้สะท้อนถึงความยั่งยืนของวัฒนธรรมและการส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น การแสดงนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการเฉลิมฉลองประเพณีในท้องถิ่น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชุมชนพนมทวน ยังสามารถส่งเสริมได้ผ่านงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะการแสดงท้องถิ่น การเปิดโอกาสให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกได้สัมผัสกับความงดงามของรำเหย่ย พนมทวน จะช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปะนี้ให้คงอยู่ต่อไป






--------------------------------------------

อ้างอิง : รำเหย่ย : การละเล่นพื้นบ้านสู่นาฏศิลป์ กรมศิลปากร วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553 วรรณวิภา มัธยมนันท์

สัมภาษณ์ สมโภชน์ ดอกยอ ครูเพลงรำเหย่ย




0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI