Notifications

You are here

ความรู้ออนไลน์

การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน: เรียนรู้ข้ามวิ...

แก้ไข 11 Jan 2024   |   1681   |  0 ความคิดเห็น   |   OKMD

การส่งเสริมการเรียนรู้เป็นสิ่งที่กระทำได้หลาหลายรูปแบบและมีการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ ความเหมาะสมของการเรียนรู้ และความเหมาะสมกับยุคสมัยที่มากขึ้น ในศตวรรษที่ 21 ยุคสมัยที่องค์ความรู้มีจำนวนมากและมีพัฒนาการไหลเวียนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ปรับเปลี่ยนการให้ความสำคัญจากการเน้นเนื้อหาความรู้สู่การเน้นสาระความรู้และทักษะการเรียนรู้ ตลอดจนการพัฒนาการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ที่มากยิ่งขึ้น อาทิ การเรียนรู้โดยใช้บริบทเป็นฐาน การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน เป็นต้น   

เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาการเรียนรู้แล้ว ประเทศฟินแลนด์มักเป็นประเทศต้น ๆ ที่คนจะนึกถึง เนื่องจากเป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องเรื่องระบบการศึกษาและการส่งเสริมการเรียนรู้ โดยประเทศฟินแลนด์เองก็มีการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้เชิงรุกที่น่าสนใจ อย่าง “การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน (Phenomenon-Based Learning)” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผ่านการพัฒนาและทดลองมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และถูกใช้ในหลักสูตรของโรงเรียนทั่วฟินแลนด์ในปี 2014 ด้วยเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่สามารถพัฒนาหลักสูตรและเหมาะสมกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21  

         การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน (Phenomenon-Based Learning) คือ การเรียนรู้โดยการใช้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริงมาเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในมุมมองที่หลากหลาย ผ่านการเรียนรู้ปรากฏการณ์ตามสภาพจริงแบบเป็นองค์รวมโดยการบูรณาการข้ามวิชาอย่างเป็นสหวิทยาการภายใต้บริบทที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้และทักษะของแต่ละศาสตร์วิชามาเรียนรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการจัดการเรียนรู้จะเริ่มต้นด้วยการให้ผู้เรียนสังเกตปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ตามด้วยการตั้งคำถาม และนำไปสู่การเรียนรู้ตามคำถามเพื่อทำความเข้าใจปราฏการณ์นั้น ซึ่งการเรียนรู้จะประกอบไปด้วย 5 มิติ ได้แก่  

1. ความเป็นองค์รวม (Holisticity) คือ การเรียนรู้โดยการบูรณาการข้ามวิชา ไม่แบ่งแยกเนื้อหาออกเป็นรายวิชาอย่างการเรียนรู้ทั่วไป มุ่งให้เกิดการใช้ความรู้จากวิชาต่าง ๆ กับประเด็นที่สนใจอย่างเป็นธรรมชาติ  

2. สภาพจริง (Authenticity) คือ การเรียนรู้จากสภาพของโลกแห่งความเป็นจริง โดยนำเอาปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นมาตั้งต้นการเรียนรู้ ซึ่งอาจเลือกปรากฏการณ์จากบริบทสังคม วัฒนธรรมท้องถิ่น สิ่งที่ได้รับความนิยมหรือกำลังเป็นที่สนใจ หรือแม้กระทั้งประสบการณ์ ภูมิหลัง และชีวิตประจำวันของผู้เรียน  

3. บริบท (Contextuality) คือ การเรียนรู้สภาพจริงตามบริบทที่เกิดขึ้น ซึ่งหมายรวมทั้งบริบทที่สร้างขึ้นและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ โดยการเรียนรู้จะต้องสามารถประยุกต์การแก้ปัญหาหรือสร้างประโยชน์ที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของผู้เรียนและชุมชน ทั้งนี้ ปรากฏการณ์อาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ ทำให้ในช่วงแรกของการเรียนรู้จึงอาจครุมเครือซึ่งจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อผู้เรียนได้สังเกตและทำความเข้าใจบริบท แต่หากปรากฏการณ์ที่ใช้สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ จะต้องมีประเด็นหรือข้อมูลที่ไม่ชัดเจนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สังเกต พิจารณา และวิเคราะห์ ผ่านการสืบเสาะหาความรู้ 

4. การเรียนรู้แบบสืบเสาะโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Inquiry Learning) คือ การเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนระบุปัญหาและตั้งคำถามของตนเองจากการเผชิญกับสถานการจริง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมาย นำไปสู่การแก้ปัญหา ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาร่วมกัน  

5. กระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) คือ การเรียนรู้ผ่านกระบวนการพัฒนาสมมติฐานสร้างทฤษฎี โดยผู้เรียนสามารถวางแผนกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนรู้ต้องเกี่ยวข้องกับบริบทของปัญหา เชื่อมโยงกับสถาการณ์หรือปรากฏการณ์จริง และสามารถปรับเปลี่ยนการหาคำตอบได้ตามสถานการณ์ 

การเรียนรู้จะประกอบไปด้วยมิติต่าง ๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้น โดยการจัดการเรียนรู้ผ่านการเลือกปรากฏการณ์ที่สนใจ วิเคราะห์คุณค่าของบทเรียนที่มีอยู่ วางลำดับกิจกรรมโดยเริ่มต้นจาการสังเกตปรากฏการณ์ร่วมกัน อภิปราย ทดลองแนวคิดหรือถามคำถามเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้จากปรากฏการณ์ แล้วจึงปิดท้ายด้วยการสรุป และวางแผนการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียน โดยใช้เทคนิคในการจัดการเรียนรู้ตามความถนัดของผู้เรียน ซึ่งเริ่มต้นจากปรากฏการณ์ไม่ใช้เนื้อหาวิชา ต่อยอดจากความสงสัยใคร่รู้ของผู้เรียน เลือกใช้ประเด็นท้องถิ่น และใช้สถานการณ์ปัจจุบัน 

เราสามารถประยุกต์ใช้การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานในชั้นเรียนได้โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการตั้งคำถาม โดยการใช้บทเรียนขนาดเล็ก (Mini-Lessons) ผ่านวิธีการเสริมต่อการเรียนรู้ (Scaffolding) และใช้การค้นคว้าข้อเท็จจริงอย่างมีแบบแผนและเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การนำเสนอผลการค้นคว้าสู้สาธารณะ และสะท้อนการเรียนรู้กลับ ให้ผู้เรียนทบทวนและสะท้อนการเรียนรู้ของตนเอง 

การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานเป็นการเรียนรู้ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจของตนเองและรู้จักใช้ความรู้ในหลากหลายวิชามาบูรณาการร่วมกันผ่านการศึกษาปรากฏการณ์ที่เลือกเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจในแนวคิดของเนื้อหาวิชาที่ใช้ ได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ และเข้าใจปรากฏการณ์ในชีวิตจริงรวมถึงเป็นการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกได้อีกเป็นจำนวนมาก 


อ้างอิง 

ตะวัน ไชยวรรณและกุลธิดา นุกูลธรรม. (2564). การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน: การเรียนรู้แบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมความรู้ของผู้เรียนในโลกแห่งความเป็นจริง. วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์, 15(2), 251-263. 

เรวณี ชัยเชาวรัตน์. (2563). PhenomenonBased Learning: การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน.  สืบค้นจาก https://thepotential.org/knowledge/phenomenon-based-learning/ 

ออมวจี พิบูลย์และกิตติชัย สุธาสิโนบาล. (2564). การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานเพื่อพัฒนาสมรรถนะข้ามพิสัย: กรณีศึกษาประเทศฟินแลนด์. วารสารศิลปศาสตร์ราชมงคลสุวรรณภูมิ, 3(3), 414-428. 

Mattila, P. & Silander, P. (Ed.). (2015). How to Create the School of the Future–Revolutionary thinking and design from Finland. Finland: Multprint.



เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ