Notifications

You are here

ความรู้ออนไลน์

สร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้

แก้ไข 08 Feb 2024   |   1279   |  0 ความคิดเห็น   |   OKMD

ผู้คนจะสามารถพัฒนาตนเองได้จำเป็นมีการแสวงหาความรู้ผ่านการเรียนรู้อยู่เสมอ ถ้าในสังคมมีแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งความรู้ รวมถึงมีการส่งเสริมการเรียนรู้ให้คนทุกเพศทุกวัยได้เรียนรู้อยู่ตลอดก็จะทำให้เกิดการพัฒนาของคนและความรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาของสังคมด้วย (มิ่งขวัญ คงเจริญ, 2564) ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในสังคมผ่านการสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society)

สังคมแห่งการเรียนรู้เป็นแนวคิดและกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน สังคม และประเทศชาติแบบองค์รวมเพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และมีความสุข (สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล, 2561) ซึ่งสังคมแห่งการเรียนรู้ คือ สังคมแห่งการศึกษา (Educated Society) หรือตลาดการเรียนรู้ (Learning Market) ที่คนในสังคมตระหนักว่าการเรียนรู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิต (Edward, 1997) ซึ่งผู้คนจะมีนิสัยรักการเรียนรู้ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการเรียนรู้ (สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล, 2561) โดยที่สังคมแห่งการเรียนรู้จะเป็นกระบวนการทางสังคมที่เกื้อหนุนและส่งเสริมให้บุคคลและสมาชิกในชุมชนและสังคมเกิดการเรียนรู้ผ่านสิ่งต่าง ๆ ส่งผลให้สามารถสร้างความรู้ ทักษะ ระบบการจัดการความรู้ และระบบการเรียนรู้ที่ดี มีการถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์และเกิดภูมิปัญญา รวมถึงตระหนักถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนและทุกส่วนของสังคม (ศุภรดา สุขประเสริฐ, มาโนช สุภาพันธ์วรกุล และอังคณา อ่อนธานี, 2561)

สังคมแห่งการเรียนรู้จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ (อวยพร เรืองตระ และคณะ, 2552; มิ่งขวัญ คงเจริญ, 2564) ได้แก่

1. บุคคลแห่งการเรียนรู้ คือ ผู้คนในสังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของความรู้ มีความใฝ่รู้ สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและสามารถใช้ความรู้ได้เหมาะสม ผ่านการมีทักษะและกระบวนการคิด วิเคราะห์ และการแก้ปัญหา โดยที่เขาต้องมีโอกาสและสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ตามช่วงอายุได้ตลอดชีวิต

2. แหล่งเรียนรู้ คือ การมีแหล่งของความรู้ที่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ มีระบบข้อมูล สารสนเทศ การจัดระบบเครือข่ายเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ และมีการพัฒนาทรัพยากรการเรียนรู้อยู่เสมอ โดยในสังคมจะต้องมีแหล่งเรียนรู้อย่างเพียงพอ หลากหลาย และทั่วถึง

3. องค์ความรู้ คือ องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นแหล่งความรู้ให้ผู้คนได้เรียนรู้ โดยจะต้อมมีระบบการจัดหาและรวบรวมความรู้ การพัฒนาสารสนเทศเพื่อการจัดเก็บและค้นคว้าองค์ความรู้อย่างรวดเร็ว การสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ และมีการสร้างองค์ความรู้หรือเนื้อหาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศักยภาพและความต้องการเรียนรู้ของบุคคล กลุ่มคน หรือชุมชน

4. กระบวนการจัดการความรู้ คือ การจัดการกับความรู้ในสังคม โดยการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย พัฒนาบุคคล องค์กร และผู้ดำเนินการในการจัดการความรู้ พัฒนากลไกและกระบวนการถ่ายทอดความรู้ รวมถึงการสร้างบรรยากาศเพื่อเอื้อเฟื้อต่อการเรียนรู้และการบูรณาการใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนนอกจากนี้

องค์ประกอบของสังคมแห่งการเรียนรู้อาจมีนอกเหนือ 4 มิติในข้างต้น ซึ่งจะเป็นไปตามข้อเสนอหรือแนวคิดต่าง ๆ เช่น สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล (2561) เสนอองค์ประกอบของสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ประกอบด้วย (1) องค์ประกอบหลัก ได้แก่ บุคคลแห่งการเรียนรู้หรือผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้จัดการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ องค์ความรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ บรรยากาศการเรียนรู้ เครือข่ายการเรียนรู้ การจัดการความรู้ และองค์กรแห่งการเรียนรู้ และ (2) องค์ประกอบเสริม ได้แก่ วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระบบความผูกพันใกล้ชิด เป้าหมายการพัฒนา ความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค การออกแบบชุมชน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการประกันสิทธิการเรียนรู้ และการสนับสนุนงบประมาณ เป็นต้น

การพัฒนาสังคมสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้จะต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้หลักการพัฒนาโดยการสร้างความร่วมมือแบบหุ้นส่วน (Partnership) สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation) และการสร้างความสามารถในการดำเนินการ (Performance) (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2553) โดยมีขั้นตอนในการพัฒนาที่เริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ในการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ กำหนดกลุ่มคนหรือองค์กรที่รับผิดชอบ แสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการและบริหารจัดการกิจกรรม และปิดท้ายด้วยการประเมินผลสำเร็จและเสนอแนวทางการปรับปรุงแก้ไข (สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล, 2551)

การสร้างสรรค์สังคมสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้จะทำให้ผู้คนในสังคมมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีการสนับสนุนผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ในสังคม อันถือได้ว่าเป็นทุนทางสังคมที่มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (ชนันภรณ์ อารีกุล, 2559) ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาของคนและองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมและประเทศชาติทั้งในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน


รายการอ้างอิง

ชนันภรณ์ อารีกุล. (2559). ทุนทางสังคมกับการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต. วารสาร มจร. สังคมศาสตร์ปริทรรศน์, 5(2), 249-261.

มิ่งขวัญ คงเจริญ. (2564). ชุดการเรียนรู้: สังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society). จาก https://anyflip.com/blbfg/twor/

ศุภรดา สุขประเสริฐ, มาโนช สุภาพันธ์วรกุล และอังคณา อ่อนธานี. (2561). สังคมแห่งการเรียนรู้: สิ่งสำคัญของการศึกษาในศตวรรษที่ 21. วารสารครุศาสตร์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, 3(5), 76-95.

สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล. (2551). สังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน. วารสารครุศาสตร์, 36(2), 40-58.

สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล. (2561). สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (A Lifelong Learning Society). จาก https://www.trueplookpanya.com/dhamma/content/66056

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2553). แนวทางการพัฒนานโยบายการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียนและการเรียนรู้ตามอัธยาศัยเพื่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาไทย. กรุงเทพฯ: ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

อวยพร เรืองตระ และคณะ. (2552). รายงานการพัฒนาตัวบ่งชี้และเครื่องมือวัดตัวบ่งชี้ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติมาตรฐานที่ 2 แนวทางการจัดการศึกษา และมาตรฐานที่ 3 แนวทางการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.

Edward, R. (1997). Changing Places?: Flexibility, Lifelong Learning and a Learning Society. Lincoln: Routledge Taylor & Francis Group.

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ