Notifications

You are here

ความรู้ออนไลน์

เรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านประติมากรรม 8...

5 เดือนก่อน   |   940   |  0 ความคิดเห็น   |   OKMD

        วันที่ 24 มิถุนายน 2567 นี้ นับเป็นวาระครบรอบ 92 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ การอภิวัฒน์สยาม โดยตลอด 92 ปีที่ผ่านมาบนเส้นทางประชาธิปไตยและการเมืองไทยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องราวที่น่ายินดีและโศกนาฏกรรมของสังคม บนเส้นทาง 92 ปีที่ผ่านมานั้น หากจะต้องเรียนรู้ทั้งหมดคงใช้เวลาไม่น้อย จึงจะขอแนะนำเส้นทางการเรียนรู้สั้น ๆ ที่จะพาทุกท่านไปเรียนรู้และสัมผัสกับเหตุการณ์สำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านประติมากรรม 8 ชิ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สวนประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือ ลานประติมานุสรณ์ หรือ ลานประติมากรรมธรรมศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ ตรงบริเวณประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยฝั่งสนามหลวง เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่บอกเล่าเรื่องราวของธรรมศาสตร์และการเมืองไทยซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีความสัมพันธ์กันอย่างไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ โดยเล่าผ่านประติมากรรม จำนวน 8 ชิ้น และร้อยเรียงประติมากรรมตามช่วงเวลาผ่านเส้นทางเดินที่เชื่อมต่อประติมากรรมแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน

เริ่มต้นที่ประติมากรรมชิ้นแรก คือ “การอภิวัฒน์ 2475” มีลักษณะเป็นศาลาเปิดโล่ง มีเรือนยอดเป็นทรงโดม 6 เหลี่ยม เสา 6 ต้น และพื้นฐานศาลาเป็นทรง 6 เหลี่ยม ซึ่งสื่อความหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งนี้ภายในศาลามีการติดตั้งหมุดคณะราษฎรซึ่งจำลองมาจากหมุดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ซึ่งปัจจุบันได้นิราศหายไป) อันเป็นหมุดหมายสำคัญของการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 และประชาธิปไตยไทย รวมถึงเป็นหมุดหมายเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องราวของธรรมศาสตร์และการเมืองไทยในลานประติมากรรมแห่งนี้

ประติมากรรมชิ้นที่ 2 “การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เป็นประติมากรรมโลหะที่ประกอบไปด้วยรูปนักศึกษาชายหญิง ตึกโดม ตราธรรมจักร และสมุดบันทึกคำประกาศตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ประติมากรรมชิ้นนี้บอกเล่าเรื่องราวของการถือกำเนิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือกำเนิดตามหลักที่ 6 คือ หลักการศึกษา จากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477

ประติมากรรมชิ้นที่ 3 “ธรรมศาสตร์กับขบวนการเสรีไทย” เป็นประติมากรรมที่มีตึกโดมซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการเสรีไทยตั้งโด่ดเด่นอยู่กึ่งกลาง และแวดล้อมไปด้วยพลพรรคเสรีไทยและเหตุการณ์ในคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ประติมากรรมนี้บอกเล่าเรื่องราวของขบวนการเสรีไทย ซึ่งกำเนิดขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น ช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร และรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย ส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดสงครามในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ประเทศไทยไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม

ประติมากรรมชิ้นที่ 4 “ขบวนการนักศึกษาธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2494 - พ.ศ. 2500” เป็นประติมากรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์สำคัญในช่วงทศวรรษ 2490 ถึง 3 เหตุการณ์ โดยเริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ที่กองทัพบกเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ธรรมศาสตร์สามัคคีในการต่อสู้เรียกร้องขอมหาวิทยาลัยคืนจากการยึดครองของฝ่ายทหารจนสำเร็จในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นยึดมั่นในคำขวัญคุ้นหูที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” และเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อสันติภาพที่นักศึกษารวมตัวรณรงค์ไม่ให้ไทยเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี รวมถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นกองหน้าเปิดโปงการเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 

ประติมากรรมชิ้นที่ 5 “ยุคสายลมแสงแดด และยุคแสวงหา” ประติมากรรมชิ้นนี้บอกเล่าเรื่องราวที่สำคัญของธรรมศาสตร์ 2 เหตุการณ์ คือ ด้านหนึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของธรรมศาสตร์ในยุคสายลมแสงแดด ซึ่งก็คือยุคที่รัฐบาลทหารสั่งห้ามนักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยบอกเล่าผ่านภาพนักศึกษาชายหญิงที่รื่นรมย์อยู่กับงานรื่นเริงจนหลงลืมสังคมและการเมือง และอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องราวของยุคแสวงหาหรือยุคฉันจึงมาหาความหมาย ที่นักศึกษาทลายกรอบความคิดและประเพณีเดิมเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตที่ดีมีคุณค่าทั้งต่อตนและสังคมไทย โดยสื่อผ่านภาพนักศึกษาที่แหกกรงออกจากการถูกกักขังทางความคิด

ประติมากรรมชิ้นที่ 6 “ธรรมศาสตร์กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” เป็นประติมากรรมบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการทหาร จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์ ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและได้รับชัยในที่สุด โดยเรื่องราวเหล่านี้สื่อผ่านภาพของนักศึกษาและประชาชนที่รวมตัวกันจนเป็นพลังที่สามารถทำลายโซ่ตรวนและกำแพงของอำนาจเผด็จการได้สำเร็จ

ประติมากรรมชิ้นที่ 7 “ธรรมศาสตร์กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” เป็นประติมากรรมที่มีความโดดเด่นและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ซึ่งเป็นประติมากรรมที่บอกเล่าเรื่องราวความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตัวประติมากรรมทำด้วยหินแกรนิตสีแดงเป็นข้อความ “๖ตุลา๒๕๑๙” ที่มีพื้นผิวหยาบกร้านและตัวอักษรเป็นเส้นแข็ง และโย้เย้ไม่เรียบเสมอ สื่อถึงความหยาบกระด้างและความไม่หยุดนิ่งของเหตุการณ์ ระหว่างตัวอักษรจะมีประติมากรรมนูนสูงทำด้วยทองเหลืองรมดำเป็นภาพนักศึกษาและประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ โดยเป็นภาพความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการถูกแขวนคอ ถูกยิง  ตอกอก หรือนั่งยาง เพื่อเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมให้เห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์ครั้งนั้น และด้านหลังของประติมากรรมได้จารึกรายชื่อของผู้เสียชีวิตทั้งหมดไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือขวา

และปิดท้ายด้วยประติมากรรมชิ้นสุดท้าย “ธรรมศาสตร์กับเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535” เป็นภาพของเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2535 โดยเป็นภาพของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ด้านหน้ามีรั้วลวดหนามซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการทหาร และมีข้อความการรวมตัวของนักศึกษา “วันนี้พบกันที่ลานโพธิ์” และข้อความการเรียกร้องของยุคสมัย “นายกต้องมาจากการเลือกตั้ง”

ประติมากรรมทั้ง 8 ชิ้น ได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์และการเมืองไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองกับหลายเหตุการณ์สำคัญ ทำให้เห็นภาพการเส้นทางประชาธิปไตยไทยที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่ผ่านการต่อสู้มาในหลายยุคสมัย และเส้นทางนี้ก็ยังคงไม่ราบรื่นมาถึงปัจจุบัน แต่ทว่าในทุกช่วงของเส้นทางตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน ประชาคมธรรมศาสตร์ยังคงบทบาทสำคัญในทุกยุคสมัยมิเคยเสื่อมคลาย อันเป็นสิ่งที่ช่วยตอกย้ำว่า “ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ คือ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย”

และสุดท้ายนี้ หากลานประติมากรรมแห่งนี้ จะมีการสร้างประติมากรรมชิ้นที่ 9 ก็ได้แต่เพียงหวังว่าจะเป็นประติมากรรมที่บอกเล่าเรื่องราวถึงการได้มาและดำรงอยู่ของ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ในสังคมไทย มิใช่ประติมากรรมเรื่องราวการต่อสู้สูญเสียดังที่เกิดขึ้นกับประติมากรรมหลายชิ้นที่บอกเล่าประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมการเมืองไทย เพราะคงไม่มีใครปรารถนาความสูญเสียในการเรียกร้องทางการเมืองในสังคมให้เกิดขึ้นซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีกแล้ว


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ