OKMD

"สุวรรณหงส์ทรงภู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์": เรียนรู้และชมความงามของเรือพระราชพิธีก่อนสัมผัสของจริง

13 สิงหาคม 2024
|
826 read this
|
12 share this

ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่าน ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับเรือพระราชพิธีและกระบวนพยุหยาตราชลมารคอยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนไม่น้อย เนื่องด้วยมีการเตรียมความพร้อมของกรมศิลปากรและกองทัพเรือ รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ในการบูรณะเรือพระราชพิธี การซักซ้อมฝีพายสำหรับเข้ากระบวน และการเตรียมจัดงานพระราชพิธี เนื่องจากในปี พ.ศ. 2567 นี้ เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารคอย่างโบราณราชประเพณี ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ที่กำลังจะถึงนี้

            กระบวนพยุหยาตราชลมารค คือ ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ ทั้งการส่วนพระองค์และการพระราชพิธี โดยมีวิวัฒนาการมาจากการจัดกระบวนทัพเรือในยามที่ว่างเว้นจากการศึก เพื่อเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพล โดยที่กองเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างสวยงาม มีการประโคมดนตรีไปในกระบวน เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานและให้พลพายเกิดความฮึกเหิม ทั้งยังจัดเป็นการแสดงพระบารมีขององค์พระมหากษัตริย์ด้วย โดยการพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคมักจัดขึ้นในการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐานในพระนคร ตลอดจนการต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ และการพระบรมศพ โดยในกระบวนจะประกอบไปด้วยเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธีจำนวนหลายสิบลำที่เข้ากระบวนจัดริ้วอย่างสวยงาม (ณัฎฐภัทร จันทวิช, 2539)

            การเสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระราชพิธีและการเข้ากระบวนอย่างโบราณราชประเพณีโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยก่อนที่เราจะได้เห็นและสัมผัสกับบรรยากาศของพระราชพิธีจริง ขอชวนมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธีแต่ละลำ การเข้ากระบวน ประวัติความเป็นมา และองค์ประกอบต่าง ๆ ของพระราชพิธีผ่านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี 

            พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช แต่เดิมเป็นอู่เรือเก่าหรือโรงเรือพระราชพิธี อยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวังและกองทัพเรือ โดยเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 อู่และเรือพระราชพิธีบางส่วนได้รับความเสียหายจากระเบิด สำนักพระราชวังและกองทัพเรือจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรทำการบูรณะในปี 2490 และด้วยความสำคัญของเรือพระราชพิธี กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนเรือพระที่นั่งต่าง ๆ เป็นสมบัติชาติ พร้อมปรับปรุงและยกสถานะอู่เรือขึ้นเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ในปี 2517 โดยจัดแสดงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พร้อมทั้งเรือที่มีโขนเรือ 4 ลำ คือ เรือเอกชัยเหินหาว เรือครุฑเหินเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร และเรืออสุรวายุภักษ์ รวมถึงเรือที่ประกอบในพระราชพิธีและนิทรรศการความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรือพระราชพิธีและกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (กรมศิลปากร, ม.ป.ป.)

            โดยในช่วงเตรียมการพระราชพิธีเช่นนี้ เรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธีต่างถูกเชิญไปเตรียมความพร้อมในพระราชพิธี จึงขอแนะนำให้ได้เรียนรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ผ่านโลกออนไลน์ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงที่สามารถเข้าชมและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา บนเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง - Virtual Museum ที่ http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/royalbarges/index.php/th/ หรือ Smart Museum ที่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/museum/พิพิธภัณฑแห่งชาติ-เรือพ/  

            บนพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงนี้ ท่านจะพบกับองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนพยุหยาทตราทางชลมารค เรือพระราชพิธีแต่ละลำ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญของพิพิธภัณฑ์ และข้อมูลนิทรรศการ ที่มีทั้งรูปแบบบทความ ภาพประกอบ และสื่อวิดีทัศน์ แต่ส่วนที่สำคัญคือนิทรรศการเสมือนจริงที่จะพาท่านเดินชมผ่านหน้าจอเสมือนเดินชมอยู่ ณ สถานที่จริง ซึ่งจะพบกับพื้นที่จัดแสดงเรือพระที่นั่งหรือบริเวณหลักของพิพิธภัณฑ์และอู่เรือเล็กซึ่งเก็บรักษาเรือพระราชพิธีจำนวนหนึ่งไว้


ภาพที่ 1 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี บนเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง - Virtual Museum

ภาพที่ 2 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี บนเว็บไซต์ Smart Museum


ภาพที่ 3 อู่เรือเล็ก บนเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง - Virtual Museum


            เมื่อได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรือพระราชพิธีและกระบวนพยุหยาทตราทางชลมารคกันแล้ว อย่าพลาดชมกับกระบวนจริงที่นานครั้งถึงจะเกิดขึ้น โดยสามารถชมการฝึกซ้อมฝีพาย การซ้อมย่อยเป็นรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และการซ้อมใหญ่ ได้ตลอดเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2567 และสามารถเข้าร่วมเฝ้ารับเสด็จในพระราชพิธีจริงในวันอาทิตย์ ที่ 27 ตุลาคม 2567 ตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 - วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี บนเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง - Virtual Museum: http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/royalbarges/index.php/th/      

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี บนเว็บไซต์ Smart Museum: https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/museum/พิพิธภัณฑแห่งชาติ-เรือพ/  


รายการอ้างอิง

กรมศิลปากร. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี. https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/museum/พิพิธภัณฑแห่งชาติ-เรือพ/  

ณัฎฐภัทร จันทวิช. (2539). กระบวนพยุหยาตรา ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 21. https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=21&chap=1&page=t21-1-infodetail01.html  

ภาพปก: คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (2562). เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์. http://phralan.in.th/Coronation/finalceremoniesdetail.php?id=939  



Ask OKMD AI