Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

Medical Hub ความก้าวหน้าและการยกระดับการแพทย์ของไท...

19 สิงหาคม 2024 35 อ่านข่าวนี้ 3 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท อุตสาหกรรมและ บริการแห่งอนาคต  
หมวดหมู่ : #4.2อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร 


            13 กันยายน 2559 คือ วันที่คณะรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น มีมติเห็นชอบหลักการยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)


            ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ครอบคลุมตั้งแต่งานวิจัย การรักษา การฟื้นฟู การพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์

            เป้าหมายหลักที่ไทยตั้งเป้าจะเป็น Medical Hub ก็เพื่ออยากให้การแพทย์ของไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวประเทศ และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

            แบ่งเวลาจากการท่องเที่ยว มาดูแลสุขภาพของตัวเองที่ Medical Hub

            ประเทศไทยเริ่มพัฒนา Medical Hub มาตั้งแต่ปี 2547 โดยหวังให้เป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ ศูนย์บริการสุขภาพ ศูนย์วิจัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ 

            ซึ่งปัจจุบันตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย

            1) ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ที่เป็นการบริการอย่างครบวงจร

            2) ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ต่อยอดกับระบบสปา ระบบการทำงานเพื่อสร้างสุขภาพ รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยและเป็นจุดหนึ่งที่หลายประเทศเข้ามาใช้บริการ
            3) ศูนย์กลางการศึกษาวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) ที่เกี่ยวกับสุขภาพ
            4) ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)

            การจะไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ ตอนนี้รัฐบาลก็พยายามออกนโยบายและมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ เพื่อทำให้ศูนย์การแพทย์ทั้ง 4 ด้านนั้นเกิดขึ้นจริง
            ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการพัฒนาบริการรักษาพยาบาล จะมีการจัดตั้งศูนย์ล่าม เพื่อให้บริการด้านภาษาต่างประเทศในทุกภาษาแก่สถานพยาบาล โดยตั้งในจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำ เพิ่มขีดจำกัดความสามารถในการรักษาพยาบาลด้วยการกำหนดมาตรการในการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย


            ในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม เริ่มมีการใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัดที่มีความแม่นยำสูงขึ้น ลดความเสี่ยงและระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วย ใช้เทคโนโลยีฉายภาพสำหรับการวินิจฉัยโรค เช่น MRI, CT scan และ Ultrasound ที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว
            หากเราสามารถพัฒนาและร่วมกันผลักดันให้วงการแพทย์ไทยเป็นทางเลือกแรก ๆ ของต่างชาติได้ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติได้
            ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการลงทุน ไม่เพียงดึงดูดแค่นักท่องเที่ยวในประเทศ แต่ยังเป็นการซื้อใจนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาเป็นผู้ร่วมสร้างและเป็น Key Player สำคัญให้กับวงการแพทย์ไทย
            ข้อมูลจาก ‘ยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2560 - 2569)’ ระบุว่า ตลาดกลุ่มสินค้าและตลาดสุขภาพ ขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท สัดส่วนคนไทยและต่างชาติอยู่ที่ 75 ต่อ 25 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปิดตลาดอาเซียน 
            อีกทั้งประเทศไทยจะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถ ในการดูแลและรักษาผู้ป่วย และยังมีเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยวินิจฉัยโรค และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงมีการจัดการข้อมูลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ
            และที่สำคัญที่สุด ก็คือ เราจะได้สื่อสารถึงภาพลักษณ์ที่ประเทศไทยจะถูกจดจำในฐานะประเทศผู้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับโลก จากข้อมูลที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2560 - 2569) บอกว่ามีชาวต่างชาติมาใช้บริการสุขภาพของไทย 1.2 ล้านครั้งในปี 2557
            วงการแพทย์ในวันนี้ต่างไปจากอดีต และเราก็เชื่อว่าในอนาคต วงการแพทย์ไทยจะสู้ชาติอื่นได้ เริ่มจากการร่วมมือกันขับเคลื่อนให้ ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ตอบโจทย์ผู้ป่วยไทยและต่างประเทศ
เพราะสิ่งนี้จะเป็นการยกระดับคุณภาพบริการ พัฒนาบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ไทย แล้วจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างคน และทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นได้ในอนาคต




แหล่งอ้างอิง :
                        - กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ. (2564).ยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ.2560-2569). กระทรวงสาธารณสุข
                        - บุศรินทร์ เขียวไพรี, ไตรรัตน์ จารุทัศน์. (2564). โอกาสและข้อจำกัดของการพัฒนาศูนย์การแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) กรณีศึกษา เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา และโครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สาระศาสตร์. 1.
                        - www.thailandmedicalhub.net/policy
                        - http://203.157.7.5/hss/en/medical_hub.php
                        - https://thaimedhub.hss.moph.go.th/background-medicalhub/

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ