กระแสการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกต่างเล็งเห็นความสำคัญของการหันมาดูแลสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากการออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศว่าจะนำประเทศเข้าสู่ยุค Net Zero หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ไปจนถึงมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากโลกเดือดเต็มพิกัด สภาพภูมิอากาศแปรปรวน เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติให้เห็นไม่เว้นวัน เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภค และอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนอย่างเลี่ยงไม่ได้
ประเทศไทยมีแผนการขยายฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างชัดเจน เห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Automotive Hub of Asia) ในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก
เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวา รัฐบาลจึงมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้ 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 ผ่านโครงการ 30@30 รวมถึงการอุดหนุน (Subsidy) มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่น การอุดหนุนเงินให้กับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าและผลิตในประเทศ และการลดภาษีสรรพสามิต
นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2023 โดยปัจจุบันมีมากกว่า 2,600 สถานีทั่วประเทศ แม้จำนวนจะยังไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยกำลังปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานจากการผลิตแบบเส้นตรงไปสู่รูปแบบเครือข่ายวงกลม ที่ช่วยให้การผลิตมีความยืดหยุ่นและรวดเร็ว โดยการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายไม่น้อย เช่น สถานีชาร์จยังไม่เพียงพอ ต้นทุนการผลิตและราคาขายค่อนข้างสูง อีกทั้งยังเผชิญกับการแข่งขันจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนแบตเตอรี่รายใหญ่ และทักษะแรงงานที่อาจยังไม่ตรงตามความต้องการของตลาด นี่จึงเป็นความท้าทายสำคัญของไทยในการก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
แม้ว่าในปี 2022 ประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 1.9 ล้านคัน ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และอันดับที่ 10 ของโลกก็ตาม แต่ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) เมื่อเทรนด์การใช้รถยนต์เปลี่ยนไป รถยนต์สันดาปที่ไทยเคยทำได้ดีเริ่มลดความนิยมลงเรื่อยๆ ในที่สุดรถยนต์ไฟฟ้าก็ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ประจวบกับนโยบายของรัฐที่ให้การสนับสนุนผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าในช่วงปี 2020-2028 ยอดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 23.7%
แนวทางในการผลักดันประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างยั่งยืน เริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดเตรียมพื้นที่ให้เพียงพอสำหรับความต้องการของตลาดในอนาคต โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งปัจจุบันมีค่ายรถยนต์เข้ามาลงทุนแล้วจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor), SAIC Motor (Shanghai Automotive Industry Corporation), BYD, Changan Automobile และ Horizon Plus
นอกจากการจัดเตรียมพื้นที่ให้พร้อมแล้ว นโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญในการพาไทยบรรลุเป้าหมายเช่นกัน กล่าวโดยสรุป แผนการขยายฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยมีความก้าวหน้าและมีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งหากสามารถดำเนินการตามแผนได้สำเร็จ จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาคอาเซียนอย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง :
- elexaev. (18 April 2021). ทำไมประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในอีก 5 ปีข้างหน้า?, elexaev.com/2021/04/18/why-thailand-have-to-rapidly-change-ice-to-ev/
- krungthai. (May 2021). จับกระแสอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกับความท้าทายใหม่สู่ฐานผลิต EV ของภูมิภาค, krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_459EV_31_05_64.pdf
- Supawat Choksawatpaisan. (10 July 2024). แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2567-2569: อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า, www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/hi-tech-industries/electric-vehicle/io/electric-vehicle-2024
- ดร.เพ็ชร ชินบุตร. (5 January 2023). "ประเทศไทย" กับการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV สำคัญของโลก, www.thansettakij.com/business/552265
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน. (27 July 2024). อัพเดทสถานการณ์ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกและไทยในปี 2024, www.erc.or.th/th/energy-articles/3094
- สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน. (22 October 2021). แนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า, www.eppo.go.th/index.php/en/component/k2/item/17415-ev-charging-221064-04
URL อ้างอิง: