ตลาดอาหารฮาลาล (Halal Food) หรือตลาดอาหารสำหรับมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลามกลายเป็นตลาดอาหารหลักที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้บริโภคทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมให้ความสนใจ มีการขยายตลาดที่มีศักยภาพอย่างรวดเร็วจึงเป็นที่จับตามองอย่างมากในปัจจุบัน
ทำไมตลาดอาหารฮาลาลถึงเติบโต
• ข้อมูลสถิติประชากรโลกของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) พบว่า ในปี พ.ศ. 2565 มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม 1.9 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23.54 ของประชากรโลก และคาดว่าชาวมุสลิมจะเพิ่มขึ้นถึง 2.2 พันล้านคนในปี 2573 และ 2.8 พันล้านคนในปี 2593 จนเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก
• ข้อมูลในเดือนกันยายน 2566 ประเทศไทยมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลมากกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ แสดงถึงการเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลที่นับวันมีแต่เพิ่มขึ้น
• ข้อมูลของ YCP Solidiance บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ พบว่า มูลค่าเศรษฐกิจฮาลาลโลกในปี 2568 จะสูงถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมการเงินอิสลาม) เพิ่มขึ้นจาก 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 ครอบคลุมสินค้าและบริการในหลายสาขา เช่น อาหาร แฟชั่น ยา เครื่องสำอาง การท่องเที่ยว เป็นต้น
• ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อิรัก UAE และซาอุดีอาระเบีย ขณะที่สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ น้ำตาลทราย ข้าว เนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง
เครื่องหมายฮาลาลการันตีมาตรฐาน
ตราฮาลาล คือ ตราสัญลักษณ์ที่ติดบนสลากผลิตภัณฑ์ฮาลาล ซึ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์สำหรับชาวมุสลิมในการใช้อุปโภคและบริโภค ซึ่งออกโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่างๆ ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการแสดงลงบนสลากผลิตภัณฑ์หรือกิจการใด
การรับรองมาตรฐานฮาลาล (حلال) เป็นการการันตีอาหารฮาลาลที่ชาวมุสลิมพิจารณาเป็นสิ่งแรกในการเลือกใช้สินค้าและอาหารทุกชนิด เพื่อความมั่นใจในกระบวนการผลิตที่ดำเนินการไปตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ยกเว้นสินค้าฮาลาลโดยธรรมชาติ (Natural Halal) ที่ไม่จำเป็นต้องขอรับรองมาตรฐานฮาลาล เช่น พืชผัก ผลไม้ เป็นต้น แต่หากนำไปแปรรูปก็ต้องขอรับรองมาตรฐานฮาลาล
สิ่งต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ฮาลาล
เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ในโลกของฮาลาลคือสิ่งต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ฮาลาล ได้แก่ หมู หมูป่า สุนัข สัตว์ที่กินเนื้อมีเขี้ยวและกรงเล็บ สัตว์มีพิษ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ลาและล่อที่เลี้ยงไว้ใช้งาน สัตว์น่ารังเกียจโดยทั่วไป เช่น เห็บ หมัด แมลงวัน หนอน และสัตว์ที่ห้ามฆ่าในศาสนาอิสลาม เช่น ผึ้ง มด นกหัวขวาน รวมถึงเนื้อของซากสัตว์ที่ตายเองหรือไม่ได้เชือดตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม สัตว์บกและสัตว์ปีกที่ไม่ได้เชือดอย่างถูกต้องตามกฎศาสนาอิสลาม และสัตว์ที่ถูกพลีให้แก่สิ่งอื่นจากอัลเลาะห์
ทิศทางพัฒนาอาหารฮาลาลของไทยสู่ตลาดโลก
การพัฒนาตลาดอาหารฮาลาลของไทยเพื่อขยายตลาดในระดับโลกต้องเตรียมความพร้อมและใช้กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย
• พัฒนาระบบนิเวศฮาลาล (Halal Ecosystem) ครบทุกมิติ ได้แก่
1) การผลิต ที่ครอบคลุม เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ
2) การบริการ เช่น ระบบโลจิสติกส์ฮาลาล บริการสาธารณสุขอิสลาม ประกันภัยอิสลาม ฯลฯ
3) การพัฒนาบุคลากร เช่น ทักษะแรงงาน ผู้ตรวจสอบฮาลาล หลักสูตรเกี่ยวกับฮาลาล ฯลฯ
4) การสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการวางมาตรฐาน การให้การรับรอง ระบบตรวจสอบย้อนกลับ
5) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น นิคมอุตสาหกรรม ห้องปฏิบัติการการวิจัยและพัฒนาฮาลาล ฯลฯ
• กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคมุสลิม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องขอการรับรองมาตรฐานฮาลาลพร้อมกับมาตรฐานอื่นๆ เช่น GMP HACCP และมาตรฐานที่ประเทศปลายทางกำหนดไว้ เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค
• ประชาสัมพันธ์ความจำเป็นในการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลให้ผู้ประกอบการอาหารไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกค้าเป้าหมายเป็นชาวมุสลิมทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมทุกช่องทางต่างๆ ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจและเห็นความสำคัญของมาตรฐานฮาลาล รักษามาตรฐานได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว
ธุรกิจอาหารฮาลาลในประเทศไทยเป็นตลาดที่ต่อยอดได้ในอนาคต ภาครัฐจึงควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารฮาลาลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคเพื่อการเติบโตในระดับสากล
แหล่งอ้างอิง :
- www.ditp.go.th/contents_attach/709499/709499.pdf
- www.posttoday.com/columnist/709595
- moneyandbanking.co.th/2024/108041/
- prt.parliament.go.th/server/api/core/bitstreams/d519553f-93af-49c0-95e9-4d7dd376e21a/content
- www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/596369
- smartinnovatives.com/2022/11/11/halal/
- www.salika.co/2024/07/16/halal-industrial-estates-in-thailand/
- trafs.net/th/6715-2/
URL อ้างอิง: