Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

เรื่องกินเรื่องใหญ่ "การพิมพ์อาหารสามมิติที่จะทำให...

22 สิงหาคม 2024 33 อ่านข่าวนี้ 3 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท อุตสาหกรรมและ บริการแห่งอนาคต  
หมวดหมู่ : #4.2อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร 


เพราะทุกคนมีรูปแบบการกินเป็นของตัวเอง เพื่อที่เราจะได้กินอาหารที่อยากกิน อาหารที่ทำขึ้นมาเพื่อเราโดยเฉพาะ จึงเกิดเทรนด์ ‘การพิมพ์อาหารสามมิติ’ ที่กำลังได้รับความนิยมในวงการอาหาร และเริ่มมีสัดส่วนทางการตลาดมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การพิมพ์อาหารสามมิติทำหน้าที่คล้ายเครื่องพิมพ์ โดยสร้างอาหารจากแบบจำลองดิจิทัลแบบชั้นต่อชั้น (Layer-by-Layer) แทนที่จะใช้หมึกหรือพลาสติก เครื่องพิมพ์อาหารแบบสามมิติจะใช้ส่วนผสมที่รับประทานได้ เช่น แป้ง ช็อกโกแลต หรือแม้แต่เนื้อบด

ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติของไทยกล่าวถึงรูปแบบการพิมพ์อาหารว่ามีทั้งหมด 3 วิธี ประกอบด้วย

  1. การพิมพ์แบบ Extrusion-Based หรือ Fused Deposition Method (FDM) - ไม่มีความซับซ้อน แต่เป็นวิธีที่แพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากคล้ายคลึงกับกระบวนการแปรรูปอาหารโดยการอัดรีดผ่านเกลียว (Food Extrusion) เช่น การทำพาสต้า หรือช็อกโกแลต
  2. การพิมพ์แบบ Powder Bed Fusion หรือ Selective Laser Scanning - หลอมอาหารชนิดผงโดยใช้ลำแสงเลเซอร์ยิงไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ทำซ้ำ ๆ จนกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะตามที่ออกแบบไว้ ใช้สำหรับออกแบบผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล
  3. การพิมพ์แบบ Binder Jetting - คล้ายกับ Powder Bed Fusion แต่ใช้การพ่นของเหลวที่เป็นน้ำหรือส่วนผสมวัตถุดิบอาหาร เพื่อประสานวัตถุดิบที่เป็นผงเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำซ้ำจนได้รูปร่างที่ต้องการ อีกทั้งถ้ามีอาหารส่วนเกินก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ใช้สำหรับการออกแบบอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ 


การพิมพ์อาหารสามมิติ นับเป็นหนึ่งในตัวช่วยในการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยสามารถควบคุมปริมาณและส่วนผสมของสารอาหารได้อย่างแม่นยำ เช่น โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และวิตามินต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน และยังสามารถสร้างสูตรอาหารที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ หรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักได้ ยกตัวอย่างเช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุจะเป็นอาหารที่มีเนื้อสัมผัสนุ่มในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์ ปลา หรือผักบด ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุสามารถรับประทานอาหารได้ง่ายขึ้น และยังออกแบบได้เฉพาะบุคคล

กรณีศึกษาที่ทำจริงเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Yamagata ได้พัฒนาเครื่องพิมพ์อาหารสามมิติ 3D ร่วมกับบริษัทท้องถิ่น เพื่อสร้างอาหารที่มีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ และสามารถสร้างอาหารได้ภายใน 5 นาที ขณะเดียวกันเทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่ช่วยผู้สูงอายุ แต่ยังช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในอนาคตได้ด้วย ในสวีเดนยังมีการใช้การพิมพ์อาหารสามมิติในการออกแบบโปรตีนบาร์ที่มีรสชาติ มีเนื้อสัมผัสที่ดี และมีคุณค่าทางโภชนาการตอบโจทย์นักกีฬา รวมถึงยังสามารถออกแบบอาหารสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดทางโภชนาการ เช่น ผู้ที่แพ้อาหารหรือโรคเบาหวานก็สามารถออกแบบอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพได้ มองในเชิงการตลาด ตลาดการพิมพ์อาหารสามมิติกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นจาก 336.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เป็น 13,818.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2031 โดยมีอัตราเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 59.25% ระหว่างปี 2024 ถึง 2031 ‘อเมริกาเหนือ’ เป็นภูมิภาคที่ได้รับความนิยมและเติบโตสูงสุด ครองส่วนแบ่งรายได้ 41% ในปี 2023 โดยมีการเติบโตที่แข็งแกร่งจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการให้ความสำคัญกับโภชนาการที่เฉพาะเจาะจง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพิมพ์อาหารสามมิติได้รับความนิยมขนาดนี้ มาจากความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเฉพาะตัว ความต้องการของร้านอาหารและคาเฟ่ที่อยากนำเสนอเมนูและประสบการณ์การรับประทานอาหารที่ไม่เหมือนใคร และเทรนด์ที่ผู้คนหันมาสนใจเรื่องความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น ถึงจะมีประโยชน์หลากหลาย แต่การพิมพ์อาหารสามมิติยังถูกใช้เฉพาะในงานวิจัยเท่านั้น ยังไม่ได้มีการนำมาขายหรือใช้ในเชิงการพาณิชย์มากนักแต่ในอนาคต หากเราสามารถซื้ออาหารพิมพ์สามมิติได้จริง หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ก็คงเป็นอีกหนึ่งมิติของการรับประทานอาหารที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เรื่องกินเรื่องใหญ่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันต่อไป




แหล่งอ้างอิง :

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ