โลกความมั่นคงทางอาหารกำลังขยับเข้ามาใกล้ขึ้นอีกขั้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถเพาะเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ มีรสชาติและเนื้อสัมผัสไม่ต่างจากเนื้อสำหรับบริโภค ช่วยลดพื้นที่ทำปศุสัตว์และการประมง กิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 31% สาเหตุหลักของปรากฏการณ์โลกเดือด ลดการใช้ทรัพยากรน้ำและที่ดินได้มากกว่า 95% ทำให้แนวคิดการเพาะเนื้อสัตว์ในห้องแล็บเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังถูกจับตาว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นอาหารทางเลือกแห่งอนาคต
ในปี 2024 เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากห้องแล็บได้ผ่านการตรวจสอบทางกฎหมายในหลายประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และเนเธอร์แลนด์ โดยเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกของโลกที่เริ่มเพาะเนื้อสัตว์นับตั้งแต่ปี 2013 นำทีมวิจัยโดย ดร.มาร์ก โพสต์ (Dr. Mark Post) จนสำเร็จออกมาเป็นเนื้อที่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติไม่ต่างจากเนื้อปกติ สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่อนุมัติการวางจำหน่ายเนื้อสัตว์จากห้องทดลองเมื่อปี 2020 โดยมีบริษัท Eat Just ของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้เปิดตลาด นำเนื้อไก่ในรูปแบบนักเก็ตมาวางจำหน่าย แม้ว่าช่วงแรกที่วางขายจะมีราคาสูง แต่ปัจจุบันต้นทุนการผลิตเนื้อสังเคราะห์ลดลงค่อนข้างมาก เชื่อว่าเนื้อจากห้องทดลองจะมีราคาไม่ต่างจากเนื้อไก่ธรรมชาติในไม่ช้า โดยผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ตามร้านอาหารทั่วไปในสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทย มีหลายหน่วยงานให้ความสนใจเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมวิจัยโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เจนภพ สว่างเมฆ จากศูนย์ Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) ร่วมกับ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลกเผยว่า ตั้งแต่ปี 2025 - 2030 มูลค่าตลาดเนื้อสัตว์จากห้องแล็บของโลก จะเติบโต 82% CARG หรือมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 35 พันล้านบาท) เป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 70 หมื่นล้านบาท) อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังคงคัดค้าน เนื่องจากมองว่าการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ในห้องทดลองนั้นอาจอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส ออสเตรีย และโรมาเนีย โดยออกกฎหมายห้ามผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง เพราะกังวลถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพ ปกป้องวัฒนธรรมการกิน และขจัดภัยคุกคามต่อวัฒนธรรมการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม
- Anay Mridul. (23 January 2024). Cultivated Meat Regulation: Where Are We? UK, Israel & Australia Forge Ahead, US & EU Fall Behind. เข้าถึงได้จาก https://www.greenqueen.com.hk/cultured-lab-grown-meat-regulation-uk-israel-australia-us-eu-approval/
- Chalathip. (1 August 2022). อาหารแห่งอนาคต มนุษย์อาจต้องกิน Lab-grown meat เนื้อเพาะเลี้ยงจากห้องแล็บ. เข้าถึงได้จาก https://workpointtoday.com/future-of-food-lab-grown-meat/
- Clara Rodríguez Fernández. (13 April 2022). Cultured Meat Is Coming Soon: Here’s What You Need to Know. เข้าถึงได้จาก https://www.labiotech.eu/in-depth/cultured-meat-industry/
- Elena Valeriote. (18 May 2023). Italy’s Ban on Cultured Meat Raises Questions About Innovation Versus Tradition. เข้าถึงได้จาก https://modernfarmer.com/2023/05/italys-ban-on-cultured-meat/
- Mitch. (28 February 2024). Lab-Grown Meat in 2024 and beyond: is it ready yet? เข้าถึงได้จาก https://labgrownmeat.com/lab-grown-meat-future/
- ขนิษฐา จันทร์เจริญ. (17 December 2021). “เนื้อหมูเพาะเลี้ยง” จากห้องแล็บสู่จาน นักวิจัยจุฬาฯ หวังสร้างความมั่นคงทางอาหารในอนาคต. เข้าถึงได้จาก https://www.chula.ac.th/highlight/57243/
- ทำความรู้จัก Cultured Meat แหล่งโปรตีนใหม่แห่งโลกอนาคต. (2 December 2022). เข้าถึงได้จาก https://krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_1875Research_Note_02_12_65.pdf