Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

ความตื่นตัวของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ Bio Tech

22 สิงหาคม 2024 123 อ่านข่าวนี้ 2 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท อุตสาหกรรมและ บริการแห่งอนาคต  
หมวดหมู่ : #4.1อุตสาหกรรมชีวภาพ 


Bio Tech หรือ Biotechnology คือ เทคโนโลยีชีวภาพที่นำความรู้สาขาวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิตหรือระบบชีวภาพเพื่อสร้างกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อาทิ ด้านการแพทย์ลดการติดเชื้อ ด้านเกษตรเพิ่มผลผลิตต้นทุนลดลง เป็นต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ Bio Tech กำลังได้รับความสนใจและก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับนวัตกรรมที่ทันสมัยอย่างรวดเร็ว

ประเภทของอุตสาหกรรม Bio Tech

  • เทคโนโลยีชีวภาพการแพทย์และสาธารณสุข (Medical Biotechnology) มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาโรคอุบัติใหม่ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและต้องใช้เวลาวิจัยเพื่อหาวิธีการรักษา และโรคอุบัติซ้ำ โรคติดเชื้อที่เคยระบาดในอดีตแล้วกลับมาระบาดซ้ำ 
  • เทคโนโลยีชีวภาพอาหารและด้านการเกษตรหรือเกษตรชีวภาพ (Food and Agricultural Biotechnology) ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ากับความรู้ด้านชีววิทยา เคมี และด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาจุลินทรีย์ที่ใช้ในการเกษตร ปรับปรุงพืชหรือสัตว์ ผลิตภัณฑ์สารเติมแต่งในอาหาร เป็นต้น
  • เทคโนโลยีชีวภาพด้านทรัพยากรชีวภาพ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม (Environmental  Biotechnology) ช่วยบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนแปรรูปพลังงานสะอาด ลดมลพิษ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
  • เทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม (Industrial Biotechnology) ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในกระบวนการอุตสาหกรรม สนับสนุนผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรชีวมวล (Biomass) สร้างความยั่งยืนให้กับความต้องการวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม
ประโยชน์ของ Bio Tech ในระดับอุตสาหกรรม
  • การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ
  • การผลิตปุ๋ยชีวภาพจากสารอินทรีย์
  • อุตสาหกรรมการผลิต อาหารและอาหารสัตว์
  • อุตสาหกรรมการแพทย์
  • การเกษตรและปศุสัตว์
  • อุตสาหกรรมการผลิตสารเคมีชีวภาพ



อุตสาหกรรม Bio Tech ที่กำลังมาแรง
  • การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ใช้เทคโนโลยีชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนสุขภาพเฉพาะบุคคลลึกถึงระดับพันธุกรรมและระดับเซลล์ ทำให้ดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้อง ลดโอกาสเกิดโรคในระยะยาว มีอายุยืนมากขึ้น
  • การเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) รูปแบบการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการจัดการข้อมูลมาเพิ่มศักยภาพการผลิต เพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต ลดต้นทุน ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพพืช เป็นต้น
  • การผลิตพลังงานชีวภาพ (Bioenergy Production) กระบวนการผลิตพลังงานจากทรัพยากรชีวภาพ เช่น พืช สัตว์ วัสดุอินทรีย์อื่น ๆ เพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ความร้อน หรือเชื้อเพลิงต่าง ๆ โดยการผลิตพลังงานชีวภาพช่วยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น LPG CNG ฯลฯ
  • การพัฒนาอวัยวะและเทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (Tissue Engineering and Regenerative Medicine) ใช้เทคโนโลยี 3D Bioprinting สร้างอวัยวะใหม่จากเซลล์เนื้อเยื่อหรือชิ้นส่วนชีวภาพของคนนั้น ๆ การวิจัยการใช้เซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) เพื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อเพื่อรักษาการบาดเจ็บ ซ่อมแซม และการทดแทนเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ 
  • การรักษาและฟื้นฟูเทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อม Environmental Biotechnology) ประยุกต์ใช้เทคนิคทางเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น บำบัดน้ำเสีย ลดมลพิษทางอากาศ จัดการขยะชีวภาพ ใช้จุลินทรีย์และพืชทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  • ความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) มาตรการป้องกันและตรวจสอบภัยคุกคามทางชีวภาพ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตราย อย่างเชื้อโรค จุลินทรีย์ ศัตรูพืช รวมถึงการพัฒนาวัคซีน ยารักษาโรค เพื่อป้องกันโรคระบาดและการใช้เชื้อโรคหรือสิ่งมีชีวิตที่อันตรายในทางที่ผิด
  • การใช้ AI และ Machine Learning ในเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นการนำเทคโนโลยี AI และการเรียนรู้ของเครื่อง Machine Learning มาวินิจฉัยโรคให้แม่นยำ วิเคราะห์ข้อมูลชีวภาพ วิจัยและพัฒนายาชีวภาพที่ใช้โปรตีน แอนติบอดี และเซลล์รักษาโรค พัฒนาวัคซีนตัวใหม่ ใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดแบบที่รับคำสั่งจากแพทย์หรือแบบที่เรียนรู้ได้เอง เป็นต้น

แนวทางส่งเสริม Bio Tech ในไทย
  • ระยะสั้น แก้ปัญหาหรือข้อจำกัด โดยส่งเสริมแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจ เน้นผู้ประกอบการขนาดเล็กและผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการเทคโนโลยีชีวภาพ
  • ระยะกลาง เน้นสร้างแรงจูงใจในการลงทุนจากต่างประเทศ วางรากฐานการศึกษา สร้างความเข้มแข็งของตลาดในประเทศ พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้ครอบคลุม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในระยะยาวต่อไป
  • ระยะยาว เน้นสร้างความแข็งแรงของเครือข่าย ผู้ประกอบการ และห่วงโซ่อุปทานในประเทศ ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีชีวภาพ วัตถุดิบการผลิต และสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศมากขึ้น พัฒนาผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
สิ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมพร้อมรับมือกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ Bio Tech ที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง คือการศึกษาหาความรู้ ฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง และสร้างเครือข่ายที่ทรงพลัง เพื่อให้มีความพร้อมในการใช้งานและต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในอนาคต



แหล่งอ้างอิง :

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ