การพัฒนาศักยภาพคน ตลอดช่วงชีวิต

Agora School การศึกษาในศตวรรษที่ 21 กับการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง

06 กุมภาพันธ์ 2025
|
89 อ่านข่าวนี้
|
0


การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และเป็นเรื่องที่ผู้เรียนกำหนดได้เอง เพื่อที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งค้นพบว่าตัวเองอยากเป็นใครและอยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหน

แล้วทั้งหมดเริ่มต้นจากสถาบันการศึกษาที่ชื่อว่า ‘โรงเรียน’

ถึงประเทศไทย ปัญหาการศึกษายังคงมีการถกเถียงเพื่อค้นหาที่ตอบโจทย์ความสนใจของเด็กแต่ละคนที่สนใจเรื่องราวแตกต่างกัน แต่ในต่างประเทศก็มีรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้เด็กๆ เลือกวิชาที่เขาอยากเรียนด้วยตัวเอง

Agora รูปแบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการเล่น

‘Agora School’ ใช้หลักการ ‘Agora’ รูปแบบการศึกษาที่มีหัวใจสำคัญ คือ ให้ความสำคัญกับการเล่น เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ สำรวจ ทดลอง และเรียนรู้โลกใบใหญ่ด้วยตัวเขาเองอย่างเป็นธรรมชาติ

ถ้ามองให้ลึกลงไป การศึกษาแบบ Agora มาจากการผสมผสานจุดเด่นของปรัชญาการศึกษาที่ได้รับการยอมรับ อย่าง เรจจิโอ เอมีเลีย (Reggio Emilia) ปรัชญาการศึกษาที่เชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนา มีสิทธิที่จะเรียนรู้ในแบบของตนเอง และเติบโตผ่านความสัมพันธ์กับผู้อื่น วอลดอร์ฟ สไตเนอร์ (Waldorf Steiner) ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม ทั้งความรู้ ทักษะ และความสามารถ เพื่อสร้างฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมอนเตสซอรี่ (Montessori) ที่สอนให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการลงมือทำและการเล่นร่วมกัน โดยมีครูและกิจกรรมที่เหมาะสมช่วยเป็นแนวทางเพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กในยุคปัจจุบัน

อยากชวนดู Agora Schools ที่เปิดเรียนจริง และถือคอนเซปต์เดียวกัน คือ การให้เด็กๆ เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้


Agora Cyber Charter School เปิดโลกการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

Agora Cyber Charter School ก่อตั้งในปี 2005 เป็นรูปแบบการศึกษาที่เมืองเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ครอบครัวจึงไม่ต้องเสียค่าเรียนให้ลูกหลาน เพราะค่าเทอมของเด็กๆ ก็มาจากภาษีของประชาชนเมืองเพนซิลเวเนีย โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 12 มีทั้งหลักสูตรออนไลน์และออฟไลน์

เป้าหมายของโรงเรียน คือ การจัดเตรียมการศึกษาทางวิชาการที่มีนวัตกรรมและเข้มข้น เพื่อผลักดันให้เด็กๆ มีทักษะวิชาการโดยเฉพาะการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ชำนาญเรื่องการออกแบบ และเทคโนโลยีใหม่ๆ

อีกหนึ่งจุดเด่นของ Agora Cyber Charter School คือ การสร้างความร่วมมือระหว่างครูและผู้ปกครอง ผู้เรียนจะมีทั้งที่ปรึกษาอย่าง ‘Family Coach’ คนกลางระหว่างโรงเรียนและครอบครัว ทั้งยังเป็นคนที่ติดตามการเรียนรู้ของเด็กตลอดการศึกษา เพื่อมั่นใจว่าไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ระหว่างเรียน

อีกทั้งมี ‘School Counselors’ ที่จะดูแลนักเรียนและเป็นแหล่งข้อมูลคนสำคัญ สร้างกิจกรรมทำเวิร์กชอปออนไลน์ นัดเจอเพื่ออัปเดตการเรียนกลุ่มเล็กและใหญ่ในทุกระดับชั้น

นอกจากนี้ Agora Cyber Charter School ยังมีชมรมมากกว่า 60 ชมรม สำหรับนักเรียนระดับประถม ถึงมัธยมปลาย ทั้งชมรมหมากรุก ทำอาหาร สร้างอนิเมะ ถ่ายภาพ ขี่ม้า ศิลปะ งานฝีมือ เกม หนังสือพิมพ์ และยังร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นด้วย และมีศูนย์ปรึกษาด้านสุขภาพ เพื่อดูแลสุขภาพนักเรียนทุกมิติทั้งกายและใจ บางครั้งก็อาจจะมีออกไปดูงานนอกสถานที่บ้าง

กิจกรรมที่มากมายและหลากหลายก็เพื่อให้โรงเรียนบรรลุภารกิจในการเตรียมพร้อมนักเรียนให้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง ก้าวเท้าเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยได้ในฐานะบุคคลที่พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต

Agora School การเรียนรู้ที่นักเรียนออกแบบเอง

Agora Schools ที่เนเธอแลนด์ โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีชั้นเรียน ไม่มีห้องเรียน และไม่มีหลักสูตร ทุกอย่างเริ่มต้นจาก ‘นักเรียน’ ว่าเขาอยากเรียนอะไร สนใจอะไร และอยากจะเป็นอะไร

เพราะไม่ได้มีวิชาเรียน เด็กคนหนึ่งจึงใช้เวลาในการค้นคว้า สร้างสรรค์ และพัฒนาสิ่งที่ตัวเองสนใจได้เต็มที่ โดยมีโค้ชส่วนตัวคอยแนะนำและดูแลรูปแบบการเรียนรู้ที่พวกเขาเลือกเอง

ที่นี่ เด็กนักเรียนจะเริ่มเรียนตอน 9 โมงตรง ครึ่งชั่วโมงแรกจะเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองได้ไปเจอมากับเพื่อนๆ ในกลุ่มเดียวกัน หรือถกเถียงประเด็นที่น่าสนใจกับเพื่อนต่างเพศ หลากวัยไม่เกิน 17 คน หลังจากนั้นทุกคนจะมีตารางเวลาของตัวเอง อาจจะลองไปเป็นช่างไม้ เชื่อมเหล็ก เขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ ทำอาหาร หรือกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ เมื่อพักกลางวันเสร็จจะมี ‘Silence Hour’ ช่วงเวลาที่พวกเขาจะอ่านหนังสือ และเลิกเรียนตอน 15.00 น.

นอกจากนี้ เด็กแต่ละคนจะมีโปรเจกต์ของตัวเองที่เกิดขึ้นจากข้อสงสัย คำถาม หรือปัญหาที่พวกเขาอยากแก้ไข แล้วจะมาร่วมกำหนดเป้าหมายของโปรเจกต์นี้ร่วมกัน เจ้าของโปรเจกต์สามารถเลือกเองได้ว่าอยากทำงานกับใคร และใครจะที่จะช่วยให้งานของเขาบรรลุเป้าหมายได้

เด็กๆ จะต้องจดบันทึกสิ่งที่ตัวเองเจอ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่พบ ปัญหาที่เจอ วิธีแก้ไข สิ่งที่จะทำต่อไป เมื่อทำเสร็จก็จะต้องนำมาแสดงผลงานในรูปแบบวิดีโอ งานศิลปะ หรือรูปแบบที่เขาสนใจให้เพื่อนๆ โค้ช และครอบครัวดู

สุดท้ายเด็กและโค้ชจะร่วมกันการถอดบทเรียน ดูกระบวนการทำงาน สิ่งที่ได้เรียนรู้ ทักษะที่ได้รับ และแนวทางสำหรับการทำงานครั้งต่อไป

เพราะการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียน แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนหนึ่งอยากเรียนรู้และอยากเป็น เพราะทุกคนมีเส้นทางการเรียนรู้ที่แตกต่าง และการศึกษาที่ดีคือการเปิดโอกาสให้เราได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง และเติบโตไปในทิศทางที่เป็นตัวเรา



ข้อมูลอ้างอิง :

  • Agora Colearning. (n.d.). Agora Preschool Info Pack. Agora Colearning. Retrieved from agora-colearning.space/early-years
  • agora.org/about-agora/
  • agora.org/about-agora/#mission-vision
  • agora.org/student-clubs/
  • agora.org/student-life/family-coaches/
  • agora.org/student-life/school-counselors/
  • hundred.org/en/innovations/agora#978f5a6b
  • montessori-nw.org/about-montessori-education#:~:text=Montessori%20is%20a%20method%20of,activities%20to%20guide%20the%20process.
  • www.reggiochildren.it/en/reggio-emilia-approach/
  • www.waldorfeducation.org/what-is-waldorf-education/


0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI